ระบบตอนสมบูรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องทางสะดวกตอนสมบุรณ์ชนิดที่ใช้ในสหราชอาณาจักร

ระบบตอนสมบูรณ์ (อังกฤษ: absolute-block signalling) หมายถึง ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟซึ่งอนุญาตให้ขบวนรถเพียงหนึ่งขบวนเข้าสู่ตอนระหว่างสถานีทางสะดวกสองแห่ง ในที่นี้คือ สถานีต้นตอน และสถานีปลายตอน เมื่อขบวนรถจะออกจากสถานีต้นตอน จะต้องได้รับตราทางสะดวก ซึ่งอาจเป็นตั๋ว ลูกตรา แผ่นตรา หรือสัญญาณออกแสดงท่าอนุญาตก็ได้ แล้วจึงทำขบวนออกไป ระหว่างนี้ สถานีต้นตอนจะไม่สามารถอนุญาตให้ขบวนรถที่ตามมาผ่านเข้าไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งจากสถานีปลายตอนว่า ขบวนรถถึงแล้ว และสถานีปลายตอนจะไม่สามารถอนุญาตให้ขบวนรถสวนทาง (กรณีทางเดี่ยวหรือทางคู่ด้านหนึ่งปิดซ่อม) ผ่านออกมาได้[1] หากขบวนรถสวนทางไม่ได้รับตราทางสะดวกและฝ่าออกไปชนขบวนรถที่ได้ตราทางสะดวกถูกต้อง ถือว่าขบวนรถที่ไม่มีตรานั้นลักหลีก[2][3]

ก่อนหน้าที่จะมีระบบตอนสมบูรณ์นั้น ขบวนรถไฟใช้ระบบประกาศเดินระบุเวลาคั่นระหว่างกัน แต่ไม่ปลอดภัยหากขบวนรถตามหลังเร็วจนชนท้ายขบวนรถที่ช้ากว่าข้างหน้า เมื่อมีระบบโทรเลขไฟฟ้าขึ้น จึงมีการคิดประดิษฐ์เครื่องโทรเลขสำหรับใช้ส่งสัญญาณระฆังและปลดล็อกเครื่องตราทางสะดวกระหว่างกัน[4] เครื่องทางสะดวกรุ่นที่ใช้ในประเทศอินเดียและไทยนั้น นิยมใช้เครื่องทางสะดวกชนิด ขบวนรถออกแล้ว-ทางปิด-ขบวนรถจะถึง สถานีปลายตอนต้องบิดลูกบิดไปที่ตำแหน่งขบวนรถจะถึง สถานีต้นตอนจึงจะถอนตรา โดยการบิดลูกบิดไปที่ตำแหน่งขบวนรถออกแล้วได้ เครื่องทางสะดวกบางชนิดใช้สลักห้ามสัญญาณออกเปลี่ยนท่า เมื่อทางสะดวกจึงจะปลดล็อกนั้นเสีย [5] ส่วนเครื่องทางสะดวกแบบที่ใช้ในสหราชอาณาจักรนั้น จะใช้ชนิด ทางสะดวกแล้ว-ทางปกติ-ทางไม่สะดวก โดยหนึ่งเครื่องจะมีหน้าปัดสองหน้า หน้าหนึ่งสำหรับขบวนรถที่จะไปสู่สถานีปลายตอน ส่วนอีกหน้าสำหรับขบวนรถที่จะเข้ามา ลูกบิดปกติจะอยู่ในตำแหน่ง ทางปกติ หากสถานีต้นตอน เคาะสัญญาณขอทางสะดวกมา สถานีปลายตอนหากเห็นว่าสมควรให้ทางสะดวก ก็จะเคาะตอบรับ แล้วบิดลูกบิดไปในท่า "ทางสะดวกแล้ว" เมื่อขบวนรถผ่านเข้าสู่ตอนแล้ว สถานีต้นตอนจะต้องแจ้งอีกครั้งให้สถานีปลายตอนบิดลูกบิดไปยังตำแหน่ง "ทางไม่สะดวก" ระหว่างนี้สัญญาณออกอันนอกชนิดหางปลาที่ลดลงแล้ว จะไม่สามารถยกขึ้นได้อีก ครั้นขบวนรถมาถึงสถานีปลายตอนแล้ว สถานีปลายตอนจะแจ้งต้นตอน แล้วบิดลูกบิดกลับคืนตำแหน่งทางปกติ ทั้งนี้ หากมีขบวนรถล่องสวนไปในอีกเส้นทาง หน้าปัดที่เหลือนั้นจะใช้ในการขอทางสะดวกสำหรับขบวนดังกล่าวได้

อ้างอิง[แก้]

  1. ฝ่ายการเดินรถ (31 ธันวาคม 2550). "ข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2549". การรถไฟแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help) (หมวด 3)
  2. "ลัก" ใน "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
  3. Ellis, Iain (2006). Ellis' British Railway Engineering Encyclopaedia. Lulu.com. p. 6. ISBN 978-1-84728-643-7.
  4. Faith, Nicholas (2000). "4". Derail: Why Trains Crash. Channel 4 Books. ISBN 0-7522-7165-2.
  5. Shajan Varghese. Neale's Ball Token Instrument.