ระบบการออกเสียงภาษาบาลี
มีการเสนอให้ย้ายบทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังวิกิตำรา หากบทความนี้สามารถปรับแก้ให้เป็นเนื้อหาสารานุกรมได้ แทนที่จะเป็นเพียงสำเนาของเอกสารต้นฉบับ
คุณก็สามารถช่วยปรับแก้ได้ ด้วยการกดที่ปุ่ม "แก้ไข" และนำป้ายข้อความนี้ออกเมื่อปรับแก้เสร็จแล้ว
กรณีไม่อาจทำให้เป็นสารานุกรมได้ คุณอาจช่วยจัดรูปแบบหน้านี้ให้เหมาะกับวิกิตำรา แล้วย้ายไปที่นั่นก็ได้ |
ชื่อระบบการออกเสียงบาลีหรือฐานกรณ์เป็นการอธิบายการเกิดเสียงและการออกเสียงในภาษาบาลี โดยฐานกรณ์ คือ คำซึ่งใช้เรียกอวัยวะต่าง ๆ ในช่องปากที่ใช้ในการออกเสียง ฐานกรณ์ประกอบด้วย ฐานและกรณ์ ฐาน นั้นหมายถึง ตำแหน่งที่เกิดของเสียงซึ่งจะเป็นตำแหน่งในช่องปากที่ไม่เคลื่อนที่ในการออกเสียง ได้แก่ ริมฝีปากบน ฟันบน แนวปุ่มเหงือก หลังปุ่มเหงือก หน้าเพดานแข็ง เพดานแข็ง เพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอ ส่วนกรณ์ นั้นหมายถึงอวัยวะต่าง ๆ ในช่องทางเดินเสียง ซึ่งเคลื่อนไปประชิดหรือใกล้กับฐานในการออกเสียง ได้แก่ ริมฝีปากล่าง ปลายลิ้น ส่วนปลายลิ้น หน้าลิ้น หลังลิ้น กลางลิ้น และโคนลิ้น ในการออกเสียงต้องใช้อวัยวะที่เป็นฐานและกรณ์คู่กันเสมอ การใช้ฐานกรณ์ต่างกันเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดเสียงแตกต่างกันไป
ระบบการออกเสียงบาลี นำเสนอระบบเสียงที่สืบทอดมา ในคัมภีร์บริวารพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ สัททาวิเสส และสัทนีติสุตตมาลา โดยเปรียบเทียบ กับหลักการทางภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน ทั้งเสียงสระ พยัญชนะ และการออกเสียงพิเศษ
ระบบเสียงสระ
[แก้]สระเป็นเสียงพูดประเภทหนึ่งใน 2 ประเภทใหญ่ ซึ่งได้แก่ สระ และพยัญชนะ ในทางสัททศาสตร์ สระหมายถึง เสียงที่เปล่งออกมาโดยทางลมเปิด ลมต้องผ่านออกกลางลิ้นเสมอ และขณะออกเสียง เส้นเสียงจะสั่น เสียงสระจึงมักเป็นเสียงก้อง ส่วนในทางสัททวิทยาหรือระบบเสียง สระหมายถึงหน่วยทางภาษาหรือหน่วยเสียง (phoneme) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแกน (nucleus) ของพยางค์
ในการเปล่งเสียงสระ ตามปกติเพดานอ่อนยกสูงขึ้นติดผนังคอปิดกั้นมิให้ลมออกทางจมูก จึงเรียกสระเหล่านั้นว่าสระที่เปล่งเสียงในช่องปาก (oral sound) แต่ในบางครั้ง ขณะเปล่งเสียงสระเพดานอ่อนลดต่ำลง พร้อมกับการเปิดทางช่องปาก ลมจึงออกทั้งทางช่องปากและช่องจมูก จึงเรียกสระประเภทนี้ว่า สระลักษณะนาสิก (nasalised vowel)
ในการบรรยายวิธีการเปล่งเสียงสระ เราอาจจำแนกความแตกต่างได้ตามตำแหน่งลิ้นภายในช่องปากเป็นสำคัญ คือ สระที่เปล่งโดยลิ้นอยู่ในบริเวณส่วนหน้าของช่องปากเรียกว่า สระหน้า หากลิ้นอยู่ในบริเวณส่วนหลังของช่องปาก เรียกว่า สระหลัง ถ้าลิ้นอยู่ในบริเวณระหว่างส่วนหน้าและส่วนหลังของช่องปากเรียกว่า สระกลาง (central vowel) นอกจากนี้เราอาจจำแนกสระตามระดับของลิ้น คือ ลิ้นยกสูง ลิ้นลดต่ำ เป็นต้น ตลอดจนพิจารณาตามลักษณะของริมฝีปาก คือ ห่อหรือเหยียดมากน้อยเพียงใด
ในทางสัททวิทยา เมื่อบรรยายสระในภาษาต่าง ๆ อาจใช้คำว่าสระสูง (high vowel) หรือสระปิด (close vowel) เมื่อลิ้นยกสูง
ใช้คำว่าสระต่ำ (low vowel) หรือสระเปิด (open vowel) ในกรณีที่ลิ้นลดต่ำ และสระกลาง (mid vowel) หมายถึง สระลิ้นระดับกลาง
นอกจากนี้สระลักษณะนาสิก (nasalized vowel) อาจจัดกลุ่มเป็นสระนาสิก (nasal vowel) ได้ในลักษณะตรงข้ามกับสระที่เปล่งเสียงในช่องปาก (oral vowel)
เสียงสระในบาลี
[แก้]เสียงสระในบาลีจำแนกออกได้ตามตำแหน่งหน้า-หลังของลิ้น คือ สระหน้า สระกลาง หรือสระหลัง และตามระดับสูง-ต่ำของลิ้น คือ สระสูง สระกลาง หรือสระต่ำ ตลอดจนจำแนกออกตามลักษณะของริมฝีปาก คือ ห่อ หรือไม่ห่อ ได้ดังนี้
ตารางแสดงเสียงสระในบาลี
1. | สระ อะ | a | [a], aṃ [ã] | สระกลาง-ต่ำ | เสียงสั้น | ปากไม่ห่อ |
2. | สระ อา | ā | [aː] | สระกลาง-ต่ำ | เสียงยาว | ปากไม่ห่อ |
3. | สระ อิ | i | [i], iṃ [ĩ] | สระหน้า-สูง | เสียงสั้น | ปากไม่ห่อ |
4. | สระ อี | ī | [iː] | สระหน้า-สูง | เสียงยาว | ปากไม่ห่อ |
5. | สระ อุ | u | [u] | สระหลัง-สูง | เสียงสั้น | ปากห่อ |
6. | สระ อู | ū | [uː], uṃ [ũ] | สระหลัง-สูง | เสียงยาว | ปากไม่ห่อ |
7. | สระ เอ | e | [eː] หรือ [eˑ] | สระหน้า-กลาง | เสียงยาวหรือเสียงกึ่งยาว | ปากไม่ห่อ |
8. | สระ โอ | o | [oː] หรือ [oˑ] | สระหลัง-กลาง | เสียงยาวหรือเสียงกึ่งยาว | ปากห่อ |
ตารางแสดงเสียงสระในบาลี
หน่วยเสียงสระในบาลี
[แก้]หน่วยเสียงสระ หมายถึง เสียงที่ทำหน้าที่เป็นแกน (nucleus) ของพยางค์ เป็นเสียงที่มีความสำคัญ คือ แยกความหมายของคำได้ ดังในตัวอย่างคำคู่เทียบเสียง 4 คู่ ต่อไปนี้
ตารางแสดงหน่วยเสียงสระทั่วไป
ในระบบเสียงบาลีจะมีหน่วยเสียงสระอยู่รวม 11 หน่วยเสียง เป็นหน่วยเสียงสระนาสิก (nasal vowel) 3 หน่วยเสียง และหน่วยเสียงสระทั่วไปที่เปล่งเสียงในช่องปาก (oral vowel) 8 หน่วยเสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ซึ่งเขียนด้วยอักษรโรมันเป็น a ā i ī u ū e o โดยมีเครื่องหมาย (–) เหนือตัวอักษรแสดงว่าเป็นสระเสียงยาว ถือว่าเป็นคนละหน่วยเสียงกับสระเสียงสั้น ซึ่งมีอยู่เป็นคู่กันรวม 3 คู่ เป็น 6 หน่วยเสียง คือ a /a/ - ā /aː/, i /i/ - ī /iː/, u /u/ - ū /uː/
ส่วนตัวอักษร e o แทนหน่วยเสียงสระยาวรวม 2 หน่วยเสียง /e/, /o/ แต่ละหน่วยเสียงจะมีรูปย่อยหน่วยเสียงเป็นเสียงสระยาว [eː], [oː] หรือเสียงสระกึ่งยาว [eˑ], [oˑ] ก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะพยางค์และเสียงแวดล้อมในพยางค์ เอ e ในพยางค์เปิด คือ พยางค์ที่ลงท้ายด้วยสระ จะเป็นเสียงสระยาว เอ [eː] เช่นในคำ เม /me/ = [meː] ส่วนในพยางค์ปิด คือ พยางค์ที่ลงท้ายด้วยพยัญชนะ จะเป็นเสียงสระกึ่งยาว เอ [eˑ] เช่นพยางค์ /met-/ = [meˑt̪] ในคำ เมตตา /mettā/ = [meˑt̪t̪aː] ในทำนองเดียวกัน โอ o ในพยางค์เปิด คือพยางค์ที่ลงท้ายด้วยสระ จะเป็นเสียงสระยาว โอ [oː] เช่นในคำ โส /so/ = [soː] ส่วนในพยางค์ปิด จะเป็นเสียงสระกึ่งยาว โอ [oˑ] เช่น พยางค์ /oˑṭ/ = [oˑʈ] ในคำ โอฏฺ (โอฏฺฐ)/oṭṭha/ = [oˑʈʈʰa]
ในประเทศศรีลังกาและประเทศไทยส่วนใหญ่จะออกเสียงนิคคหิตนี้เป็นเสียงนาสิกฐานเพดานอ่อน คือ ṅ [ŋ] ตัวอย่าง 3 คำนี้จะออกเสียงเป็น กิง - กัง - กุง /kiṅ - kaṅ - kuṅ/ [kiŋ - kaŋ - kuŋ]
หน่วยเสียงสระนาสิก ซึ่งเขียนด้วยอักษรโรมันเป็น ṃ แทน นิคคหิต (˚) (=[ ̃]) ในบาลี โดยจะเขียนไว้ข้างหลังสระ ซึ่งเป็นสระเสียงสั้น 3 เสียง คือ iṃ [ĩ], aṃ [ã] และ uṃ [ũ] จัดเป็น 3 หน่วยเสียง เนื่องจากสามารถแยกความหมายของคำชุดเทียบเสียงซึ่งประกอบด้วยคำ 3 คำในตัวอย่างต่อไปนี้ได้ คือ
กิ˚ - ก˚ - กุ˚ /kiṃ – kaṃ– kuṃ/ [kĩ – kã – kũ]
การออกเสียงสระ เอ /e/, โอ /o/ ในบาลี หน่วยเสียงยาว ในที่นี้ได้อธิบายลักษณะพิเศษของหน่วยเสียง สระยาว เอ /e/, โอ /o/ ในบาลีว่าเป็น 2 หน่วยเสียง แต่ละหน่วยเสียงจะมีรูปย่อยหน่วยเสียง 2 รูป คือ เป็นเสียงสระยาว หรืออาจจะเป็นเสียงสระกึ่งยาว (half-long) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะพยางค์และเสียงแวดล้อมในพยางค์ ดังนี้
รูปย่อยที่เป็นเสียงสระยาว [eː], [oː] จะเกิดในพยางค์เปิด คือ พยางค์ที่ไม่มีพยัญชนะท้ายหลังสระ ดังในตัวอย่าง เช่น
ตารางแสดง การออกเสียงสระ เอ, โอ ในบาลี
รูปย่อยที่เป็นเสียงสระกึ่งยาว [eˑ] และ [oˑ] จะเกิดในพยางค์ปิด หมายถึง พยางค์ที่มีพยัญชนะท้ายหลังสระ พยางค์ปิดในพระพุทธพจน์บาลี จะมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นพยางค์ที่ลงท้ายด้วยพยัญชนะซ้อน คือ พยัญชนะซ้อนกัน 2 เสียง โดยเสียงแรกทำหน้าที่เป็นพยัญชนะท้าย (พยัญชนะสะกด) ของพยางค์แรก ส่วนพยัญชนะที่ตามมาจะทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ถัดไป
สระ e o ในบาลี เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะซ้อน จึงมีรูปย่อยที่เป็นเสียงสระกึ่งยาว (half-long) [eˑ], [oˑ]
ตารางแสดง เสียงสระกึ่งยาว
สระ เอ /e/, โอ /o/ เป็นสระเดี่ยว
ในที่นี้จะอธิบายว่า สระ เอ /e/, โอ /o/ เป็นสระเดี่ยว ซึ่งเป็นเสียงที่อยู่ในตำแหน่งระหว่างสระ 2 เสียง ซึ่งมีฐานต่างกัน
สระ เอ /e/ เกิดในตำแหน่งระหว่างสระ อะ [a] กับ อิ [i]
สระ โอ /o/ เกิดในตำแหน่งระหว่างสระ อะ [a] กับ อุ [u]
ทั้งนี้พิจารณาตามเสียงที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นหลักฐานสำคัญ ในที่นี้ถือว่าไม่ใช่สระประสมเพราะหากเป็นสระประสมจะเป็นสระเลื่อนเริ่มด้วยการออกเสียงที่สระหนึ่งและเลื่อนไปจบที่อีกสระหนึ่ง
ระบบเสียงพยัญชนะ
[แก้]ในทางสัทศาสตร์ เสียงพยัญชนะหมายถึงเสียงที่เปล่งออกมาโดยมีอวัยวะในการเปล่งเสียงหรือฐานกรณ์ (articulators) ดัดแปลงลมในช่องทางเดินเสียงในลักษณะต่าง ๆ เช่น ปิดสนิทกักลมไว้ ปล่อยให้ลมผ่านออกมาได้ ทั้งนี้ลมอาจผ่านออกกลางลิ้นหรือข้างลิ้นในลักษณะเสียงเสียดแทรกหรือเสียงเปิด ลมที่ผ่านออกมา อาจเป็นเสียงก้องหรือไม่ก้องก็ได้
ในทางสัททวิทยา พยัญชนะ หมายถึง หน่วยทางภาษาซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของพยางค์ปรากฏหน้าหรือหลังสระซึ่งเป็นแกนของพยางค์
จากเกณฑ์การพิจารณาพยัญชนะดังกล่าวข้างบนนี้ในทางสัทศาสตร์ เสียงบางเสียงเช่น [j] มีคุณสมบัติทางสัทศาสตร์เช่นเดียวกับเสียงสระ ได้แก่ [i] แต่ในทางสัทวิทยา เสียงนี้หากปรากฏในตำแหน่งขอบพยางค์คือ ในตำแหน่งต้นหรือท้ายพยางค์ เสียงประเภทนี้จะทำหน้าที่เป็นพยัญชนะและมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น เสียงกึ่งสระ (semi-vowel) เสียงเปิด (approximant) เป็นต้น
การจำแนกเสียงพยัญชนะ
[แก้]การจำแนกเสียงพยัญชนะตามแนววิชาสัทศาสตร์ (phonetics) จะใช้ลักษณะ 3 ประการต่อไปนี้เป็นเกณฑ์คือ การจำแนกเสียงพยัญชนะโดยพิจารณาตามฐานที่เกิดของเสียง การจำแนกพยัญชนะตามสภาพของเส้นเสียง และการจำแนกเสียงพยัญชนะตามลักษณะของการเปล่งเสียง
การจำแนกเสียงพยัญชนะโดยพิจารณาฐานที่เกิดของเสียง
[แก้]เสียงพยัญชนะในบาลีจำแนกตามฐานที่เกิดเสียงได้เป็น 8 ประเภท คือ
- ฐานช่องเส้นเสียง (glottal กัณฐชะ) หมายถึง พยัญชนะที่มีฐานกรณ์อยู่ที่ช่องเส้นเสียง ได้แก่ h [ɦ]
- ฐานเพดานอ่อน (velar กัณฐชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยมีฐานเพดานอ่อน และกรณ์ คือ ลิ้นส่วนหลัง ได้แก่ k [k], kh [kʰ], g [g], gh [gʱ], ṅ [ŋ]
- ฐานเพดานแข็ง (palatal ตาลุชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้กรณ์ คือ ลิ้นส่วนหน้ากับฐานเพดานแข็ง ได้แก่ c [c], ch [cʰ], j [ɟ], jh [ɟʱ], ñ [ɲ], y [j]
- ฐานปลายลิ้นม้วน (retroflex มุทธชะ) มีฐานอยู่ที่ส่วนหลังของปุ่มเหงือกหรือส่วนหน้าของเพดานแข็ง หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้ปลายลิ้นเป็นกรณ์ม้วนขึ้นไปแตะหรือใกล้ฐานหลังปุ่มเหงือกหรือหน้าเพดานแข็ง ได้แก่ ṭ [ʈ], ṭh [ʈʰ], ḍ [ɖ], ḍh [ɖʱ], ṇ [ɳ], r [ɻ], ḷ [ɭ]
- ฐานฟัน (dental ทันตชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้กรณ์คือ ปลายลิ้นกับฐาน คือ ฟันบน ได้แก่ t [t̪], th [t̪ʰ], d [d̪], dh [d̪ʱ], n [n̪], s [s̪], l [l̪]
- ฐานริมฝีปาก (bilabial โอฏฐชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้ริมฝีปากทั้งคู่ เป็นฐานและกรณ์ ได้แก่ p [p], ph [pʰ], b [b], bh [bʱ], m [m]
- ฐานริมฝีปากกับฟัน (labio-dental ทันโตฏฐชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้ริมฝีปากล่างกับฐาน คือ ฟันบน ได้แก่ v [ʋ]
- ฐานช่องจมูก (nasal cavity นาสิกา) หมายถึง เสียงนิคคหิต (ํ) = ṃ [ ̃ ] ช่องจมูกที่เป็นทางเดินลมของสระสั้น 3 เสียง ซึ่งเป็นเสียงลักษณะนาสิก ได้แก่ /iṃ/ [ĩ], /aṃ/ [ã] และ /uṃ/ [ũ]
ในการออกเสียงพยัญชนะตามฐานที่เกิดเสียงทั้งหมดนี้ จะต้องมีการปรับสภาพของเส้นเสียงด้วย
การจำแนกเสียงพยัญชนะตามสภาพของเส้นเสียง
[แก้]เสียงพยัญชนะในบาลีอาจจำแนกออกได้ตามลักษณะการทำงานของเส้นเสียงในสภาพที่แตกต่างกันเป็น 2 ชนิด คือ เสียงไม่ก้องหรืออโฆษะ (voiceless sound) และเสียงก้องหรือโฆษะ (voiced sound) ดังนี้
เส้นเสียงสามารถทำงานในลักษณะคล้ายริมฝีปากคืออาจจะอยู่ห่างจากกัน หรือที่เรียกว่าเส้นเสียงเปิด ลมที่ผ่านเส้นเสียงในลักษณะนี้มีลักษณะเป็นลมหายใจ (breath) เส้นเสียงจะไม่สั่นจึงเรียกว่าเสียงไม่ก้องหรือเสียงอโฆษะ ตรงข้ามกับกรณีที่เส้นเสียงเข้ามาประชิดกัน และมีความตึงพอเหมาะ เมื่อมีลมผ่านก็จะดันให้เส้นเสียงเปิดออก ในขณะเดียวกันความตึงของเส้นเสียงก็จะดึงให้เส้นเสียงเข้ามาประชิดกันอีกจนทำให้มีการเปิดและปิดเป็นจังหวะที่เรียกว่า เส้นเสียงสั่น หรือเสียงก้อง หรือเสียงโฆษะ
ตัวอย่างพยัญชนะเสียงอโฆษะ เช่น p [p], ph [pʰ], t [t̪], th [t̪ʰ], s [s̪] ตัวอย่างพยัญชนะเสียงโฆษะ เช่น b [b], bh [bʱ], d [d], m [m], n [n̪], l [l̪]
การจำแนกเสียงพยัญชนะตามลักษณะการออกเสียง
[แก้]เสียงพยัญชนะในบาลีจำแนกตามลักษณะการเปล่งเสียง กล่าวคือ การดัดแปลงลมในช่องทางเดินเสียงขณะที่ออกเสียงพูด ทำให้เกิดเสียงลักษณะต่าง ๆ ได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้
- เสียงกัก (stop) เสียงที่เกิดจากการออกเสียงโดยมีการกักลมในช่วงที่กรณ์เข้าประชิดฐานอย่างสนิท (complete closure) ในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อกรณ์แยกออกจากฐาน คือช่วงการเปิดช่องทางเดินเสียง ถ้าเป็นเสียงระเบิด (plosive) ลมก็จะระเบิดออกมา เช่น p [p], t [t̪], b [b] เสียงระเบิดมีลักษณะที่แตกต่างจากเสียงกัก คือ ในช่วงหลังการกักลม เสียงกักบางประเภท อวัยวะในการเปล่งเสียง เพียงแต่แยกออกจากกัน แต่ไม่มีเสียงระเบิดตามมา แต่บางเสียงมีกระแสลมตามออกมาหลังการระเบิด จึงเรียกว่า เสียงกักที่มีกลุ่มลมหรือเสียงธนิต (aspirated stop) เช่น เสียง ph [pʰ], th [t̪ʰ], bh [bʱ] เป็นต้น ส่วนเสียงกักที่ไม่มีกลุ่มลมตามมาเรียกว่า เสียงกักไม่มีลม หรือ เสียงสิถิล (unaspirated stop) เช่น เสียง p [p], t [t̪], b [b] เป็นต้น
- เสียงเสียดแทรก (fricative) คือเสียงที่เกิดจากการออกเสียงโดยฐานและกรณ์ประชิดกันก่อให้เกิดช่องทางเดินเสียงที่แคบ กระแสลมผ่านออกมาจะเป็นเสียงซ่า หรือเสียงเสียดแทรกในบาลีมี 2 เสียง ได้แก่ s [s̪], h [ɦ]
- เสียงนาสิก (nasal) เสียงที่เกิดจากการกักลมให้สนิทในปาก เพดานอ่อนลดต่ำลงทำให้ลมผ่านขึ้นไปทางช่องจมูกได้ เช่น m [m], n [n̪], ṅ [ŋ] เป็นต้น และในกรณีที่เป็นเสียงสระ หากเปิดช่องจมูกพร้อมกันไปกับการออกเสียงสระก็จะได้เสียงสระลักษณะนาสิกที่แทนด้วยนิคคหิต (˚) = ṃ [ ̃] เช่นในคำ กึ /kiṃ/ [kĩ] เสียงลักษณะนาสิกนี้เกิดขึ้นได้กับสระเสียงสั้น 3 เสียง คือ อ [a], อิ [i], อุ [u] เป็น [ĩ], [ã], [ũ]เสียงลักษณะนาสิกที่เกิดกับสระนี้ในภาษาไทยไม่มี คนไทยจึงออกเสียงลักษณะนาสิกนี้เป็นเสียงสระกับพยัญชนะนาสิกฐานเพดานอ่อน ง [ŋ] สะกด เช่น เอตํ /etaṃ/ [etã] แต่คนไทยมักจะออกเสียงว่า เอตัง [etaŋ]
- เสียงเปิด หรือ เสียงกึ่งสระ (approximant / semi-vowel) เสียงเปิดทำหน้าที่เป็นพยัญชนะ คือเสียงที่เกิดจากการออกเสียงในลักษณะที่ฐานกรณ์อยู่ใกล้กันไม่มากนัก ทำให้กระแสลมผ่านช่องปากออกไปโดยสะดวก เช่นเดียวกับการเปล่งเสียงสระ ถ้าเสียงนี้ทำหน้าที่เป็นเสียงขอบพยางค์ (marginal sound) หรือเป็นพยัญชนะ เราจะเรียกว่า เสียงเปิด (approximant) หรือ เสียงกึ่งสระ (semi-vowel) คือมีคุณลักษณะเป็นเสียงสระ แต่ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะ เช่น เสียง [j] ใน yo [joː] และเสียง [ʋ] ใน vo [ʋoː] คำ yo [joː] และ vo [ʋoː] เริ่มออกเสียงในช่วงสั้น ๆ ในลักษณะช่องทางเดินเสียงเปิดเช่นเดียวกับสระ i [i] แล้วจึงเลื่อนไปยังเสียงสระ o [oː] ที่เป็นแกนพยางค์ ทำให้เกิดเสียง y [j] ซึ่งมีกรณ์คือ ลิ้นส่วนหน้ายกขึ้นสูงไปยังฐานเพดานแข็ง ริมฝีปากเหยียดเส้นเสียงสั่น [j] เป็นเสียงพยัญชนะของอักษร y ในบาลี ส่วนคำ vo [ʋoː] เริ่มออกเสียงในช่วงสั้น ๆ ในลักษณะช่องทางเดินเสียงเปิดเช่นเดียวกับสระ u [u] แล้วจึงเลื่อนไปยังสระ o [oː] ที่เป็นแกนพยางค์ทำให้เกิดเสียง v [ʋ] ซึ่งมีกรณ์คือลิ้นส่วนหลังยกขึ้นสูงไปยังฐานเพดานอ่อน ริมฝีปากห่อเส้นเสียงสั่น [ʋ] เป็นเสียงพยัญชนะของอักษร v ในบาลี สรุปว่าเสียง “กึ่งสระ” หรือ “อัฒสระ” คือเสียงที่มีลักษณะการออกเสียงเช่นเดียวกับเสียงสระ แต่มีหน้าที่พยัญชนะ หรือเป็นเสียงขอบพยางค์ คือเกิดในช่วงสั้น ๆ ของพยางค์ ซึ่งในไวยากรณ์บาลี เรียกว่า อัฑฒสระพยัญชนะ ได้แก่ y [j], v [ʋ], r [ɻ], l [l̪] , ḷ [ɭ] เป็นต้น
- เสียงเปิดข้างลิ้น (lateral approximant) คือเสียงที่เกิดจากการออกเสียงในลักษณะที่ลมออกข้างลิ้น คือกรณ์เข้าประชิดฐานโดยสนิท แต่ส่วนข้างของลิ้นจะอยู่ห่างจากฐานในลักษณะเปิดให้กระแสลมออกมาได้สะดวก จากคำจำกัดความนี้ ในบาลีมีอยู่ 2 เสียง คือ l [l̪] ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดจากปลายลิ้นยกขึ้นไปแตะฟันบนและข้างลิ้นลดลง และเสียงลิ้นม้วน ḷ [ɭ] ซึ่งปลายลิ้นม้วนขึ้นไปแตะหลังปุ่มเหงือกหรือหน้าเพดานแข็ง และข้างลิ้นเปิด
- เสียงเปิดลิ้นม้วน (retroflex approximant) คือเสียงที่เกิดจากการม้วนลิ้นขึ้นไปใกล้ฐานส่วนหลังของปุ่มเหงือกหรือส่วนหน้าของเพดานแข็งในลักษณะเปิดให้กระแสลมออกมาได้สะดวก ได้แก่ r [ɻ]
ตารางแสดงเสียงสระในบาลี เมื่อประกอบกับเสียงพยัญชนะ
cittam | |||
devī | |||
atha | |||
devā | |||
pubbe | |||
bahū | |||
etaṃ | |||
bodhi | |||
kiṃ | |||
kaṃ | |||
kuṃ |
การออกเสียงพิเศษของบาลี : การออกเสียงพยัญชนะอัฒฑสระควบกล้ำของบาลี
[แก้]การออกเสียงพยัญชนะควบกล้ำของบาลี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพยัญชนะอัฒสระและพยัญชนะอื่น ๆ บางเสียง เมื่อเป็นส่วนประกอบของเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ซึ่งหมายถึงพยัญชนะ 2 เสียงที่เรียงติดต่อกันโดยไม่มีเสียงสระคั่นกลาง ในพระไตรปิฎกบาลีอักษรสยามใช้เครื่องหมาย “ยามักการ คือ๎ ” (แสดงเสียงคู่หรือเสียงควบ) และในบางกรณ่ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดในพยางค์ที่นำหน้าในคำเดียวกันด้วย ซึ่งในฉบับอักษรสยามใช้เครื่องหมาย “ไม้หันอากาศ” (แสดงเสียงสระอะ เมื่อมีตัวสะกด) ในพยางค์ที่นำหน้าในคำเดียวกันเพื่อแสดงการพิมพ์พยัญชนะเสียงควบกล้ำที่ทำหน้าที่เป็นเสียงสะกดพร้อมกันไปด้วย พยัญชนะควบกล้ำบาลีแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ พยัญชนะควบกล้ำที่เป็นพยัญชนะต้นคำและพยัญชนะควบกล้ำที่เกิดกลางคำระหว่างสระ เป็นพยัญชนะสะกดควบกล้ำ
ในการเรียงพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรโรมัน ได้ดำเนินตามการสืบทอดเสียงบาลีในฉบับอักษรสยาม โดยได้พิมพ์สัททอักษรสากลบาลีเทียบไว้ด้วยเพื่อช่วยให้ผู้อ่านพระไตรปิฎกบาลีอักษรโรมันได้ออกเสียงถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่สำคัญ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังกล่าวคือ
พยัญชนะควบกล้ำที่เป็นพยัญชนะต้นคำ
[แก้]พยัญชนะควบกล้ำบาลีซึ่งเกิดต้นคำเป็นพยัญชนะต้น อาจประกอบด้วยพยัญชนะอัฒสระหรือพยัญชนะเปิด ได้แก่ ย ร ว ล ฬ [ j ɻ v l̪ ɭ ] โดยพยัญชนะเหล่านี้ จะเกิดร่วมกับพยัญชนะเสียงกัก เช่น ก ต ท ป พ [ k t̪ d p b ] เป็นเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ดังในตัวอย่างต่อไปนี้
ตารางแสดง พยัญชนะเสียงควบกล้ำต้นคำ
พยัญชนะสะกดควบกล้ำ
[แก้]พยัญชนะควบกล้ำบาลีที่เกิดกลางคำระหว่างสระจะออกเสียงเป็นพยัญชนะสะกดต่อเนื่องไป เป็นเสียงควบกล้ำ กล่าวคือนอกจากเป็นเสียงพยัญชนะสะกดของพยางค์แรกแล้วยังทำหน้าที่ร่วมเป็นเสียงพยัญชนะต้นควบกล้ำของพยางค์ถัดไปด้วย ซึ่งเรียกว่า “พยัญชนะสะกดควบกล้ำ” พยัญชนะสะกดควบกล้ำประเภทนี้ อาจประกอบด้วยพยัญชนะอวรรค ทั้ง 7 เสียง ซึ่งรวมพยัญชนะอัฒสระหรือพยัญชนะเปิด คือ ย ร ว ล ฬ [ j ɻ v l̪ ɭ ] และพยัญชนะเสียงเสียดแทรก ส ห [ s̪ ɦ ]
เมื่อพยัญชนะควบกล้ำบาลีเกิดในตำแหน่งระหว่างสระ ส่วนที่เริ่มออกเสียงเป็นพยัญชนะควบกล้ำจะทำหน้าที่เป็นเสียงสะกดท้ายพยางค์แรกด้วย ดังนั้น เสียงนี้จึงทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ เป็นเสียงสะกดของพยางค์แรกและต่อเนื่องไปเป็นเสียงเริ่มต้นพยัญชนะควบกล้ำในพยางค์ถัดไป
ตารางแสดง พยัญชนะสะกดควบกล้ำ
ตัวอย่างในภาพที่ 27 ไม่ใส่เครื่องหมายเชื่อมเสียง [‿] ในช่องสัททอักษรสากล ซึ่งอาจทำให้ผู้ไม่คุ้นเคยกับบาลีไม่ออกเสียงตัวสะกดของพยางค์แรก ดังนั้นเพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถออกเสียงได้ถูกต้องตามหน้าที่ทั้งสองของเสียงพยัญชนะที่เริ่มเสียงควบกล้ำ คือ เป็นเสียงสะกดข้างหลังอยู่ท้ายพยางค์แรก และต่อเนื่องไปเป็นเสียงที่เริ่มต้นพยัญชนะต้นควบกล้ำในพยางค์ถัดไป ตลอดจนเชื่อมกับเสียงควบกล้ำด้วย โดยการเพิ่มเครื่องหมายเชื่อมเสียง
ตารางแสดง พยัญชนะสะกดควบกล้ำ พร้อมทั้งเสนอเพิ่มเครื่องหมายเชื่อมเสียง
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอื่น ๆ เช่น เมื่อ ห [ɦ] มาประกอบกับพยัญชนะสะกดควบกล้ำที่เป็นพยัญชนะเปิดดังกล่าวข้างต้น และกับพยัญชนะนาสิก เช่น ณ ม [ ɲ ɳ m ]
ตารางแสดง ตัวอย่างเมื่อ ห มาประกอบเป็นพยัญชนะสะกดควบกล้ำ
ตัวอย่างในภาพที่ 29 ไม่ใส่เครื่องหมายเชื่อมเสียง [‿] ในช่องสัทอักษรสากล ส่วนในภาพที่ 30 ขอเสนอการเพิ่มเครื่องหมายเชื่อมเสียง ซึ่งเริ่มจากเสียงสระซึ่งเป็นเสียงต่อเนื่องกับเสียงส่วนแรกของพยัญชนะควบกล้ำในพยางค์ถัดไป ทำนองเดียวกับในภาพที่ 28 ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตารางแสดง ตัวอย่างเมื่อ ห มาประกอบเป็นพยัญชนะสะกดควบกล้ำ พร้อมทั้งเสนอเพิ่มเครื่องหมายเชื่อมเสียง
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
[แก้]- สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.9 และวิจินตน์ ภาณุพงศ์, "พระไตรปิฎกปาฬิจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. 112 อักษรสยาม" ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล, กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ 2551.
- Siri Petchai and Vichin Phanupong, "Chulachomklao of Siam Pāḷi Tipiṭaka, 1893", Digital Preservation Edition, Dhamma Society Fund 2009.
- ร.ต.ฉลาด บุญลอย, ประวัติวรรณคดีบาลี, 2527
- ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์, ประวัติภาษาบาลี : ความเป็นมาและที่สัมพันธ์กับภาษาปรากฤตและสันสกฤต, 2535.
- ปราณี ฬาพานิช, ภาษาสันสกฤต: คุณค่าในการพัฒนาความเข้าใจภาษาบาลี,2536, หน้า 113-145.
- Wilhem Geiger, Pali Literatur und Sprache,1892
- Charles Duroiselle, A Practical Grammar of the Pāli Language 3rd Edition, 1997