ยางพารา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยางพารา
Hevea brasiliensis
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Malpighiales
วงศ์: Euphorbiaceae
วงศ์ย่อย: Crotonoideae
เผ่า: Micrandreae
เผ่าย่อย: Heveinae
สกุล: Hevea
สปีชีส์: H.  brasiliensis
ชื่อทวินาม
Hevea brasiliensis
Müll.Arg.

ยางพารา เป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอน ประเทศบราซิลและประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองเรียกว่า "เกาชู" (cao tchu) แปลว่า ต้นไม้ร้องไห้ จนถึงปี พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) โจเซฟ พรีสต์ลีย์ พบว่ายางสามารถนำมาลบรอยดำของดินสอได้ จึงเรียกว่ายางลบหรือตัวลบ (rubber) ซึ่งเป็นศัพท์ใช้ในประเทศอังกฤษและประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ศูนย์กลางของการเพาะปลูกและซื้อขายยางในอเมริกาใต้แต่ดั้งเดิมอยู่ที่รัฐปารา (Pará) ของประเทศบราซิล ยางชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า ยางพารา[1]

การกรีดยาง[แก้]

การกรีดยางเพื่อให้สะดวกต่อการกรีด และยังคงรักษาความสะอาดของถ้วยรองรับน้ำยางนั้นควรคำนึงถึงระดับความเอียงของรอยกรีดและความคมของมีดที่ใช้กรีดซึ่งต้องคมอยู่เสมอ

  • เวลากรีดยาง : ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกรีดยางมากที่สุดคือ ช่วง 6.00-8.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สามารถมองเห็นต้นยางได้อย่างชัดเจนและได้ปริมาณน้ำยางใกล้เคียงกับการกรีดยางในตอนเช้ามืด แต่การกรีดยางในช่วงเวลา 1.00-4.00 น. จะให้ปริมาณยางมากกว่าการกรีดยางในตอนเช้าอยู่ร้อยละ 4-5 ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ปริมาณน้ำยางมากที่สุดด้วย แต่การกรีดยางในตอนเช้ามืดมีข้อเสีย คือ ง่ายต่อการกรีดบาดเยื่อเจริญส่งผลให้เกิดโรคหน้ายางทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองและไม่มีความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายหรือโจรผู้ร้าย
  • การหยุดพักกรีด : ในฤดูแล้ง ใบไม้ผลัดใบหรือฤดูที่มีการผลิใบใหม่ จะหยุดพักการกรีดยางเนื่องจากมีผลต่อการเจริญเติบโตของใบและต้นยาง การกรีดยางในขณะที่ต้นยางเปียก จะทำให้เกิดโรคเส้นดำหรือเปลือกเน่าได้
  • การเพิ่มจำนวนกรีด : สามารถเพิ่มจำนวนวันกรีดได้โดย
    • การเพิ่มวันกรีด : สามารถกรีดในช่วงผลัดใบแต่จะได้น้ำยางในปริมาณน้อย ไม่ควรเร่งน้ำยางโดยใช้สารเคมีควรกรีดเท่าที่จำเป็นและในช่วงฤดูผลิใบต้องไม่มีการกรีดอีก
    • การกรีดยางชดเชย : วันกรีดที่เสียไปในฤดูฝนสามารถกรีดทดแทนได้แต่ไม่ควรเกินกว่า 2 วันในรอยกรีดแปลงเดิม และสามารถกรีดสายในช่วงเวลา 6.00-8.00 น. หากเกิดฝนตกทั้งคืน
  • การกรีดสาย : เมื่อต้นยางเปียกหรือเกิดฝนตกสามารถกรีดหลังเวลาปกติโดยการกรีดสายซึ่งจะกรีดในช่วงเช้าหรือเย็นแต่ในช่วงอากาศร้อนจัดไม่ควรทำการกรีด

การใช้ประโยชน์และการแปรรูป[แก้]

ในขั้นต้นยางพาราที่กรีดได้มักจะถูกนำไปแปรรูปเบื้องต้นซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ยางแห้ง (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางเครพ ยางแผ่นผึ่งแห้ง และยางสกิม)
  2. ยางน้ำ (น้ำยางข้น หรือยางลาเท็กซ์) ก่อนจะนำไปแปรรูปในขั้นต่อไปซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ยางสำหรับประกอบยานพาหนะ ยางยืดและยางรัดของ ถุงมือยางทางการแพทย์ รองเท้าและอุปกรณ์กีฬา สายพานลำเลียง ผลิตภัณฑ์ฟองน้ำ เป็นต้น

โดยเมื่อพ.ศ. 2313 โจเซฟ พริลลี่ ค้นพบว่า ยางมีคุณสมบัติพิเศษ สามารถลบรอยดินสอออกได้โดยไม่ทำให้กระดาษเสียหาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2366 ชาล์ล แมกกินตอซ นำยางมาผลิตเสื้อกันฝนจำหน่ายในสก็อตแลนด์เป็นครั้งแรก และในปีพ.ศ. 2389 โทมัส แฮนค็อค ประดิษฐ์ยางตันสำหรับรถม้าทรงของพระนางเจ้าวิคตอเรีย และพัฒนาจนในปี พ.ศ. 2438 ประดิษฐ์เป็นล้อรถยนต์ได้สำเร็จ

ระเบียงภาพ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

  • ชุลีพร วิรุณหะ. น้ำตาล ข้าว ดีบุก ยางพารา: การค้าและการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2559.

อ้างอิง[แก้]

คลังข้อมูลสารสนเทศส่วนภูมิภาค(ภาคใต้) เก็บถาวร 2017-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

  1. "ประวัติยางพารา โดยองค์การสวนยาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-15. สืบค้นเมื่อ 2008-07-20.