มีร์ จาฟาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มีร์ จาฟาร์
มีร์ จาฟาร์ (คนซ้าย) กับ มีร์ มีรัน บุตรคนโต (คนขวา)
เจ้าพระยาเบงกอล พระยาพิหาร
ระหว่าง2 มิถุนายน 1757 – 20 ตุลาคม 1760
ก่อนหน้าศรีรัช อุดดอลา
ถัดไปมีร์ คาซิม
เจ้าพระยาเบงกอล พระยาพิหาร
ระหว่าง25 กรกฎาคม 1763 – 17 มกราคม 1765
ก่อนหน้ามีร์ คาซิม
ถัดไปนาจิมอุดดีน อาลี คาน
ประสูติค.ศ. 1691
สิ้นพระชนม์17 มกราคม ค.ศ. 1765 (อายุ 74)
พระนามเต็ม
มีร์ มุฮัมหมัด จาฟาร์ อาลี คาน บาฮาดูร์
ราชวงศ์นาจาฟี
ศาสนาอิสลาม

มีร์ จาฟาร์ อาลี คาน บาฮาดูร์ (Mir Jafar Ali Khan Bahadur) เป็นขุนนางผู้ครองเบงกอลคนแรกภายใต้การสนับสนุนของบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตน เดิมทีเขาเป็นผู้บัญชาการทหารของแคว้นเบงกอล เขาได้แสร้งทำเป็นจงรักภักดีต่อ นาวับศรีรัช อุดดอลา ว่าจะนำทัพ 50,000 นายออกรบกับอังกฤษ แต่ลับหลังเขากลับแอบติดต่อกับพันเอกรอเบิร์ต ไคลฟ์ แห่งบริษัทอินเดียตะวันออก โดยพันเอกไคลฟ์รับปากว่า ถ้าเขานำทัพเข้าร่วมกับฝ่ายอังกฤษในยุทธการที่ปลาศีแล้ว อังกฤษจะตั้งเขาเป็นเจ้าพระยาเบงกอลคนใหม่[1] ท้ายที่สุด อังกฤษก็ได้รับชัยชนะในยุทธการที่ปลาศี และแต่งตั้งมีร์ จาฟาร์ เป็นเจ้าพระยาคนใหม่

เมื่อจาฟาร์ได้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเบงกอล (นาวับแห่งเบงกอล) เขาก็เอื้อประโยชน์แก่อังกฤษมากมาย ทั้งยอมจ่ายเงินจำนวน 17.7 ล้านรูปีแก่อังกฤษเป็นค่าปฏิกรรมการโจมตีป้อมกัลกัตตา และยังให้สินบนตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ช่วยให้เขาได้เป็นเจ้าพระยา โดยพันเอกไคลฟ์ได้รับเงินกว่าสองล้านรูปี, วิลเลียม วัตต์ หัวหน้าโรงงานบริษัทฯ ได้รับกว่าหนึ่งล้าน[2] การกระทำของจาฟาร์นี้สร้างความขุ่นเคืองให้แก่จักรพรรดิแห่งโมกุลอย่างมาก โดยมองว่าจาฟาร์เป็นคนขายชาติ เมื่อเวลาผ่านไปซักระยะหนึ่ง จาฟาร์ก็ตระหนักว่าบริษัทฯไม่มีวันเลิกตอดเล็กตอดน้อยเอาผลประโยชน์จากเขาแน่ และเขาก็ไม่อยากเป็นเบี้ยล่างของอังกฤษอีกต่อไป จาฟาร์พยายามดึงพวกบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์เข้ามาในเกมการเมืองนี้ อย่างไรก็ตาม แผนของจาฟาร์เป็นอันล่มไปเมื่ออังกฤษมีชัยเหนือเนเธอร์แลนด์ในยุทธการที่จินสุราเมื่อพฤศจิกายน ค.ศ. 1759 ในปีต่อมา อังกฤษได้บีบให้จาฟาร์สละตำแหน่งแก่มีร์ คาซิม ผู้เป็นลูกเขย

อย่างไรก็ตาม มีร์ คาซิม ผู้เป็นลูกเขย กลับพยายามนำเบงกอลเป็นอิสระและขัดขวางอิทธิพลของบริษัทฯในเบงกอล ความไม่ลงรอยกับอังกฤษนี้ ทำให้ในปี 1763 คาซิมได้นำกำลังบุกเมืองปัฏนา และสังหารชาวยุโรปมากมาย อังกฤษได้ปลดคาซิมและคืนตำแหน่งให้แก่จาฟาร์ ส่วนคาซิมก็ไปร่วมมือกับแคว้นอวัธและราชสำนักโมกุลในการทำสงครามกับบริษัทฯในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1764 แม้ฝ่ายเบงกอลจะมีกำลังมากถึง 40,000 นาย แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับกองทหารของบริษัทที่มีกำลัง 7,000 คน

อ้างอิง[แก้]

  1. Mohammad Shah (2012), "Mir Jafar Ali Khan", ใน Sirajul Islam and Ahmed A. Jamal (บ.ก.), Banglapedia: National Encyclopedia of Bangladesh (Second ed.), Asiatic Society of Bangladesh
  2. Modern India by Dr. Bipin Chendra, a publication of National council of Educational Research and Training