พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย
บทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน มีเนื้อหา รูปแบบ หรือลักษณะการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมสำหรับสารานุกรม |
การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีการก่อตั้งสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ โดย พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติเริ่มเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2505
ความจำเป็นและเหตุผลรองรับในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในประเทศ
[แก้]ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การบริโภคพลังงานของโลกเพิ่มขึ้นเพียง 4 เท่า ในช่วง พ.ศ. 2525 - 2533 ความต้องการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น 24% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 - 70% ใน พ.ศ. 2563 ถึงแม้จะมีความพยายามอย่างมากที่จะใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ
สำหรับประเทศไทยก็ตกอยู่ในภาวะเดียวกัน คือ การบริโภคพลังงานของประชาชนมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะเดียวกันทิศทางการพัฒนาประเทศกำลังมุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม พลังงานถือว่าเป็นปัจจัยที่จะเกื้อหนุน ผลักดันอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้ก้าวไกลไปได้ พลังงานจะต้องมีราคาถูก รวมทั้งมีใช้อย่างพอเพียง มิฉะนั้นจะทำให้การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก และนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งในประเทศ จะเลิกเชื่อถือรัฐบาลที่ไปเชิญชวนให้มาลงทุนแล้วไม่สร้างปัจจัยพื้นฐานไว้รองรับ จึงมาถึงคำถามที่ว่า ไทยมีพลังงานสำรองไว้ใช้ในอนาคตสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงพอหรือไม่ ในขณะที่ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทางเลือกที่จำเป็นที่จะต้องกระทำ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ในอนาคตไทยจะไม่ขาดแคลนพลังงาน ก็คือ การหาแหล่งพลังงานใหม่เข้ามาสำรองแหล่งพลังงานที่กำลังจะหมดไป สำหรับแหล่งพลังงานที่มองเห็นได้เด่นชัดซึ่งจะมีบทบาทอย่างมากที่จะเข้ามาเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ คือ พลังงานนิวเคลียร์ โดยจะนำมาใช้ในรูปของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เมื่อพิจารณาถึงทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการประกอบอุตสาหกรรมและอื่นๆ นั้น จะเห็นว่า การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนจะมีต้นทุนต่ำสุดแต่เมื่อครั้งใดที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างเขื่อนก็มักจะมีกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติออกมาต่อต้าน จนโครงการหลายแห่งต้องยืดเวลาออกมา หรือไม่ก็ล้มเลิกไป ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินหรือน้ำมัน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูง และเสี่ยงต่อความไร้เสถียรภาพด้านพลังงาน เนื่องจากทั้งถ่านหินและน้ำมันจะต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก แม้จะมีแหล่งถ่านหินอยู่จำนวนหนึ่งแต่ก็สามารถใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามแผนได้อีกในระยะเวลาเพียง 10 ปี เท่านั้น จึงคาดกันว่าในทศวรรษหน้าการผลิตพลังงานของประเทศต้องเผชิญทางเลือกสามทางที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ นำเข้าถ่านหิน, นำเข้าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หรือทั้งถ่านหินและเทคโนโลยีนิวเคลียร์
หลักการนำนิวเคลียร์มาใช้
[แก้]ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 - 2539) ได้มีการระบุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานฯว่า "…ให้มีการพิจารณาศึกษาความเหมาะสมในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งทางเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี และความปลอดภัย…" ดังนั้น จังมีการพิจารณาที่จะนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาใช้ในประเทศไทย โดยพิจารณาจากความจำเป็น 2 ประการ คือ
- ประการแรก
- เนื่องจากตามแผนการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบว่า หลังจากปีพุทธศักราช 2539 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มขาดแคลนแหล่งพลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินที่มีอยู่จะมีประมาณไม่เพียงพอที่จะมาป้อนโรงไฟฟ้าที่สร้างขึ้นใหม่ ไทยจะต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้าแหล่งกำเนิดพลังงานจากต่างประเทศ โดยจะเริ่มมีการนำเข้าถ่านหินมาใช้ เสถียรภาพการผลิตไฟฟ้าของประเทศย่อมไปผูกติดกับการนำเข้าถ่านหินมากขึ้น เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีความสามารถในการเก็บกักถ่านหินจากต่างประเทศไว้ได้เพียง 3 วันเท่านั้น หากเกิดเหตุอะไรขึ้นที่ทำให้นำเข้าถ่านหินไม่ได้วันนั้นประเทศไทยจะต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หากจะเปรียบเทียบกับพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งต้องสั่งนำเข้าเชื้อเพลิงเช่นกัน แต่ เชื้อเพลิงเหล่านี้เปลี่ยนปีละหนึ่งครั้ง ครั้งละ 25 ตัน ถือว่าเป็นจำนวนน้อยมากและไม่มีผลกระทบหากจะถูกตัดขาดการส่งเชื้อเพลิง ดังนั้น จึงมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชนิดเดียวเท่านั้นที่เป็นไปได้ที่จะมาช่วย แบ่งเบาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศได้ดีที่สุด
- ประการที่สอง
- หากมองในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว จะเห็นว่า การที่ปล่อยให้ใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น จะมีการปล่อยก๊าซพิษออกสู่บรรยากาศมากขึ้น โดยมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิด มลพิษ ที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมจากการเกิดฝนกรด หรือการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ที่จะมีผลต่อความผันผวนของฤดูกาล แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วจะไม่มีก๊าซต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น นอกจากนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเหลือขี้เถ้าตกค้างในปริมาณมาก โดยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะมีกากเชื้อเพลิงใช้แล้วในปริมาณที่น้อยกว่า และสามารถจัดเก็บไว้ในโรงไฟฟ้าได้นานถึง 30 ปี ตลอดชั่วชีวิตการใช้งานของโรงไฟฟ้า โดยไม่เกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น จากเหตุผลที่กล่าวมา ประกอบกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการล่วงหน้าเป็นเวลานานประมาณ 12 ปี จึงจะสามารถก่อสร้างเสร็จเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าให้ทันความต้องการได้ ในปัจจุบันจึงได้มีการพิจารณาที่จะนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาใช้ภายในประเทศเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และเพื่อให้เกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจยิ่งขึ้นว่า หากเลือกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาใช้ในการแก้ปัญหาด้านพลังงานของชาติจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง จึงควรที่จะได้พิจารณาถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมด้วย
เหตุผลรองรับด้านเศรษฐกิจ
[แก้]จากการศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตและราคาของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ของกองพลังปรมาณู ฝ่ายวิศวกรรมพลังความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยปรับตัวแปรต่างๆ ให้มีลักษณะเฉพาะเป็นของประเทศไทย โดยโรงไฟฟ้าต้นแบบทั้งถ่านหิน และนิวเคลียร์ มีขนาด 1,200 เมกกะวัตต์ พบว่า ต้นทุนการก่อสร้างของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะสูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในขั้นต้น แต่ต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงจะต่ำกว่ามากในช่วงของการผลิต ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่ำกว่าและเมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าชนิดอื่นแล้วจะพบว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีข้อได้เปรียบหลายประการ คือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูก ต้นทุนผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพสูง เสริมความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปริมาณที่มากกว่า
เหตุผลรองรับด้านความปลอดภัย
[แก้]ในด้านความปลอดภัยนั้น บรรดานักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็ตระหนักถึงภัยอันตรายจากรังสีเป็นอย่างดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประชาชน ฉะนั้น การจะนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ จำเป็นต้องพยายามหาทางป้องกันทุกวิถีทางที่จะมิให้เกิดอันตรายขึ้น การออกแบบระบบปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ระดมมาตรการความปลอดภัยไว้หลายขั้น คือ
- ระบบการทำงานของปฏิกรณ์นิวเคลียร์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับรังสีจะเป็นระบบปิดไม่สัมผัสสิ่งแวดล้อม
- การออกแบบ ก่อสร้าง และเดินเครื่องจะต้องดำเนินการภายใต้โปรแกรมประกันคุณภาพที่เข้มงวด
- ยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นจะมียูเรเนียม 235 ซึ่งเป็นตัวพลังงานหลัก อยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมากเพียงร้อยละ 3 แทนที่จะมากกว่าร้อยละ 90 อย่างกรณีของระเบิดนิวเคลียร์
- เมื่ออุณหภูมิหรือความร้อนในปฏิกรณ์นิวเคลียร์สูงขึ้น การแตกตัวของนิวเคลียสยูเรเนียมจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง นั่นก็คือ การควบคุมตัวเองมิให้เร่งปลดปล่อยพลังงานออกมาจนกลายเป็นลูกระเบิด
นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีสารกัมมันตรังสีหลุดออกมาจากยูเรเนียมซึ่งถูกอัดให้เป็นเม็ดได้บ้าง ก็จะถูกขังไว้ภายในแท่งเชื้อเพลิงซึ่งทำด้วยโลหะห่อหุ้มอยู่ และยังมีหม้อปฏิกรณ์ซึ่งทำด้วยเหล็กหนาประมาณ 6 นิ้ว หุ้มอยู่อีกชั้นหนึ่ง รวมทั้งยังมีอาคารคลุมปฏิกรณ์ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น และมีความแข็งแรงทนทานต่อแรงแผ่นดินไหวและขีปนาวุธชนได้อาคารชั้นนอกจะทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหนาประมาณ 1 เมตร ดังนั้น โอกาสที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปล่อยรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
ในด้านความปลอดภัย มีข้อมูลยืนยันจากการประชุมทางวิชาการที่ประเทศฟินแลนด์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2535 พบว่า การใช้เชื้อเพลิงทุกแบบมีอัตราการเสี่ยงสูงที่สุด
เหตุผลรองรับด้านสิ่งแวดล้อม
[แก้]สำหรับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ดังได้กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่ต้นว่า การใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ จะทำให้ปลอดภัยจากภาวะปฏิกิริยาเรือนกระจก ปลอดภัยจากภาวะฝนกรด ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในโลก ตลอดจนไม่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นมากเหมือนอย่างการใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่น นอกจากนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยกว่าและไม่ทำลายพื้นที่ป่าเขา เหมือนอย่างการสร้างเขื่อนสำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ