พระเจ้าเพนดาแห่งเมอร์เซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าเพนดา
หน้าต่างกระจกสีภาพการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเพนดาที่สมรภูมิวินเว็ดในอาสนวิหารวูร์สเตอร์
กษัตริย์แห่งเมอร์เซีย
ครองราชย์ค.ศ. 626 – 655
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าเซออร์ลแห่งเมอร์เซีย
รัชกาลถัดไปพระเจ้าพีดา
ประสูติค.ศ. 606
สิ้นพระชนม์15 พฤศจิกายน ค.ศ. 655
พระมเหสีซายน์ไวส์
พระบุตรพระเจ้าพีดาแห่งเมอร์เซีย
พระเจ้าวูล์ฟเฮียร์แห่งเมอร์เซีย
พระเจ้าเอเธลเรดแห่งเมอร์เซีย
เมียร์วอล
ซายน์เบอร์
ซายน์สวิธ
ราชวงศ์อิคลิงกัส
พระบิดาพระเจ้าพีบบาแห่งเมอร์เซีย
ศาสนาเพแกน

เพนดา (อังกฤษ: Penda) สิ้นพระชนม์ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 655 ครองราชย์เป็นกษัตริย์แองโกลแซ็กซันแห่งเมอร์เซียตั้งแต่ปี ค.ศ. 632 ถึง ค.ศ. 655 ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทำให้ราชอาณาจักรเมอร์เซียกลายเป็นหนึ่งในราชอาณาจักรที่ทรงอำนาจที่สุดในอังกฤษ และชะลอความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรนอร์ธัมเบรียไว้ชั่วคราว

ในปี ค.ศ. 628 เพนดาปราบชาวแองโกลแซ็กซันที่รู้จักกันในชื่อชาวฮวิกเชที่สมรภูมิไซเรนเซสเตอร์ (ปัจจุบันอยู่ในกลอสเตอร์เชอร์) และผนวกอาณาเขตของชาวฮวิกเช พระองค์กับพระเจ้าคัดวัลลอนแห่งกวีเนดด์ (อยู่ในเวลส์ตอนเหนือ) บุกนอร์ธัมเบรียในปี ค.ศ. 623 ทั้งคู่ปราบและสังหารพระเจ้าเอ็ดวิน กษัตริย์ของนอร์ธัมเบรีย ชัยชนะครั้งนั้นทำให้เพนดาได้ครองตำแหน่งกษัตริย์แห่งเมอร์เซีย แต่ในปี ค.ศ. 633 พระองค์ถูกบีบบังคับให้ยอมรับนอร์ธัมเบียเป็นเจ้าเหนือหัว เอกราชของเพนดาไม่ได้รับการยอมรับจนกระทั่งปี ค.ศ. 641 เมื่อกองทัพของพระองค์ได้สังหารพระเจ้าออสวอลด์แห่งนอร์ธัมเบรีย จากนั้นทรงเดินหน้าขยายอำนาจเหนือพื้นที่ที่ตรงกับเชสเชอร์, ชรอปเชอร์, เฮริฟอร์ด และวูร์สเตอร์ในปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 653 พีดา พระโอรสของพระองค์ถูกแต่งตั้งเป็นอนุกษัตริย์แห่งมิดเดิลแองเกลีย ราชอาณาจักรอีสต์แองเกลียถูกพิชิต กษัตริย์เซนวอลถูกผลักดันออกไปจากราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์เป็นระยะเวลา 3 ปี (ค.ศ. 645 – 648) ในปี ค.ศ. 655 พระเจ้าเพนดาบุดนอร์ธัมเบรียด้วยกองกำลังที่ดึงมาจากหลายอาณาจักร แต่ถูกพระเจ้าออสวิน กษัตริย์ของนอร์ธัมเบรีย สังหารที่สมรภูมิวินเว็ด ใกล้กับลีดส์ (ปัจจุบันอยู่ในยอร์กเชอร์) แม้พระเจ้าเพนดาจะเป็นชาวเพแกน แต่ก็ทรงอนุญาตให้พีดานำศาสนาคริสต์เข้ามาในมิดเดิลแองเกลีย

ต้นชีวิต[แก้]

เพนดาเป็นพระโอรสของพระเจ้าพีบบาแห่งเมอร์เซีย พระองค์ยังเป็นเพียงทารกในตอนที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 606 เซออร์ลปกครองราชอาณาจักรเมอร์เซียต่อจากพระบิดาของเพนดา มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเพนดาได้เป็นวังหน้าในเมอร์เซีย อาจจะดูแลเมอร์เซียตะวันตก ซึ่งรวมไปถึงอาณาเขตของชาวฮวิกเช ต่อมาเมื่อครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งเมอร์เซีย พระเจ้าเพนดาได้กระชับความสัมพันธ์กับชาวฮวิกเช[1] ซึ่งเป็นกลุ่มของชาวบริตอน, ชาวแองเกิล และชาวเวลช์ ที่ยึดครองอาณาเขตซึ่งต่อมาจะเป็นพื้นที่เดียวกันกับวูร์สเตอร์เชอร์, วอริคเชอร์ และกลอสเตอร์เชอร์[2]

กษัตริย์แห่งเมอร์เซีย[แก้]

แผนที่แสดงที่ตั้งทั่วไปของชาวแองโกลแซ็กซันในช่วงปี ค.ศ. 600

ในปี ค.ศ. 626 ตามพงศาวดารแองโกลแซ็กซัน "ปีนี้เพนดาสืบทอดต่อราชอาณาจักร (เมอร์เซีย) และครองราชย์เป็นเวลา 30 ฤดูหนาว"[3] ชัยชนะครั้งแรกของพระเจ้าเพนดาในฐานะกษัตริย์แห่งเมอร์เซียเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 628 พงศาวดารแองโกลแซ็กซันของปี ค.ศ. 628 กล่าวว่า พระเจ้าซายน์กิล์สแห่งเวสเซ็กซ์กับฮวิกเชล์ม พระโอรส 'ต่อสู้กับพระเจ้าเพนดาที่ไซเรนเซสเตอร์และได้ทำข้อตกลงกันที่นั่น'[4] ดูเหมือนว่าตามข้อตกลงไซเรนเซสเตอร์จะตกเป็นของพระเจ้าเพนดา[5] และพระเจ้าเพนดาน่าจะได้อาณาเขตของชาวฮวิกเชมาในตอนนั้นเช่นกัน[1] ตามข้อตกลงหรือสนธิสัญญาน่าจะมีการแต่งงานเพื่อสานสัมพันธไมตรี พระเจ้าเพนดาอภิเษกสมรสกับซายน์ไวส์ ซึ่งอาจะเป็นพระเชษภคินี/พระขนิษฐาของพระเจ้าซายน์กิล์ส[6] ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าคัดวัลลอน อัป คัดฟันแห่งกวีเนดด์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าไม่เป็นมิตรอย่างยิ่งกับชาวนอร์ธัมเบรีย ในปี ค.ศ. 633 พระเจ้าเพนดาร่วมกับพระเจ้าคัดวัลลอนบุกราชอาณาจักรนอร์ธัมเบรีย กองทัพร่วมปราบและสังหารพระเจ้าเอ็ดวินแห่งนอร์ธัมเบรียได้ที่สมรภูมิฮัตฟิลด์เชส[6] พระเจ้าคัดวัลลอนยังคงอยู่ในนอร์ธัมเบรียต่อเป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อทำลายทุกอย่างให้ได้มากที่สุด พระเจ้าเพนดาทรงกลับไปเมอร์เซีย[6] พระองค์นำตัวอีดฟริธ พระโอรสของพระเจ้าเอ็ดวิน กลับไปกับพระองค์ด้วยในฐานะนักโทษที่อาจจะถูกตั้งให้เป็นผู้ปกครองหุ่นเชิดของพระเจ้าเพนดาในนอร์ธัมเบรีย แต่พระเจ้าเพนดาได้สังหารพระองค์ในอีกไม่กี่ปีต่อมา[6]

ช่วงเวลาหนึ่งหลังปี ค.ศ. 633 พระเจ้าเพนดาได้สังหารกษัตริย์อีสต์แองเกลียสองคน คือ พระเจ้าซีเกเบิร์ตและพระเจ้าเอ็กริก ในสมรภูมิ พระองค์ตั้งกษัตริย์ซึ่งเป็นข้าราชบริวารของพระองค์ขึ้นมาในราชอาณาจักรอีสต์แองเกลีย ราวปี ค.ศ. 635 อีโอวา พระอนุชาของพระเจ้าเพนดา กลายเป็นกษัตริย์ในเมอร์เซียร่วมกับพระองค์ อาจทรงปกครองเมอร์เซียเหนือ ในขณะที่พระเจ้าเพนดาปกครอเมอร์เซียใต้[6] ในปี ค.ศ. 634 พระเจ้าคัดวัลลอน พันธมิตรของพระเจ้าเพนดา พ่ายแพ้ต่อพระเจ้าออสวอลด์แห่งนอร์ธัมเบรียและถูกสังหาร[7] กองทัพของพระเจ้าออสวอลด์กับพระเจ้าเพนดาเผชิญหน้ากันในปี ค.ศ. 641 ที่มาเซอร์เฟล์ธ (ต่อมาถูกเรียกว่าออสเวสทรี อยู่ในชรอปเชอร์) นำไปสู่การทำสมรภูมิที่ไม่ได้รับการบันทึกไว้[8] พระเจ้าเพนดาปราบและสังหารพระเจ้าออสวอลด์[8] ทำให้พระองค์กลายเป็นกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจที่สุดในอังกฤษ[9] ทว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าพระเจ้าเพนดาได้อ้างตนเป็นเจ้าเหนือหัว[9] ในปี ค.ศ. 643 พระเจ้าเซนวอลสืบทอดต่อจากพระเจ้าซายน์กิล์สเป็นกษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์[10] พระเจ้าเซนวอลอภิเษกสมรสกับพระขนิษฐาของพระเจ้าเพนดาแห่งเมอร์เซีย[10] แต่ในปี ค.ศ. 645 พระเจ้าเซนวอลได้ทอดทิ้งพระขนิษฐาของพระองค์ไปแต่งงานกับพระมเหสีคนใหม่ ทำให้พระเจ้าเพนดาได้บุกเวสเซ็กซ์[11] พระเจ้าเพนดาขับไล่พระเจ้าเซนวอลออกจากประเทศไปอยู่ที่อีสต์แองเกลีย[11] ระหว่างการขับไล่ออกจากประเทศ วูล์ฟเฮียร์ พระโอรสของพระเจ้าเพนดา รับมือกับอาณาเขตที่แยกตัวออกมาจากราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ได้เป็นอย่างดี[11] พระองค์มอบเกาะไวท์ให้พระเจ้าเอเธลวอล กษัตริย์แห่งซัสเซ็กซ์[11] พระเจ้าเซนวอลกลับมาราชอาณาจักรของพระองค์ในปี ค.ศ. 648[12] ในปี ค.ศ. 650 พระเจ้าเพนดาขับไล่พระเจ้าอันนาแห่งอีสต์แองเกลียออกจากราชอาณาจักรของตน[13] พระเจ้าเพนดาสังหารพระเจ้าอันนาในสมรภูมิในปี ค.ศ. 653[13]

หลังพระเจ้าออสวอลสิ้นพระชนม์ นอร์ธัมเบรียถูกแบ่งกลับไปเป็นสองราชอาณาจักรเหมือนเช่นในอดีต คือ ราชอาณาจักรเบนิเซียและราชอาณาจักรเดอิรา[9] ซึ่งต่างแห่งต่างก็มีกษัตริย์เป็นของตนเอง พระเจ้าออสวิวแห่งนอร์ธัมเบรียกลายเป็นกษัตริย์แห่งเบนิเซีย พระองค์เป็นพระอนุชาของพระเจ้าออสวอลด์และพระเจ้าเพนดาค่อยข้างดูแคลนพระองค์[9] ในปี ค.ศ. 653 เดอิราตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเมอร์เซีย ในปี ค.ศ. 654 ด้วยความหวังที่จะกำจัดพระเจ้าออสวิว พระเจ้าเพนดารวบรวมพันธมิตรทั้งหมดบุกเบนิเซีย[14] ในการทำสมรภูมิวินเว็ด พระองค์ยกทัพไปสู้รบกับออสวิวด้วย 'กองทหารสามสิบกอง'[14] ในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 655 กองทัพทั้งสองเผชิญหน้ากันในสมรภูมิใกล้กับลีดส์[13] แม้จะมีกองทัพที่ใหญ่กว่า แต่พระเจ้าเพนดาถูกสังหาร[14] ทำให้พระเจ้าออสวิวกลายเป็นกษัตริย์แห่งนอร์ธัมเบรียทั้งหมดและเป็นเจ้าเหนือหัวของอังกฤษทั้งหมดทางตอนใต้ของแม่น้ำฮัมเบอร์[14] ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระเจ้าเพนดาคือพระเจ้าพีดา พระโอรสของพระองค์[13]

ครอบครัว[แก้]

พระเจ้าเพนดาอภิเษกสมรสกับซายน์ไวส์ ซึ่งเท่าที่รู้คือพระนางเป็นพระมเหสีเพียงคนเดียวของพระองค์ พระโอรสธิดาทุกคนของทั้งคู่กลายเป็นคริสตศาสนิกชน พระเจ้าเพนดาเป็นพระบิดาของ

  • พระเจ้าพีดา ผู้สืบทอดต่อจากพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งเมอร์เซีย[15]
  • พระเจ้าวูล์ฟเฮียร์ กลายเป็นกษัตริย์แห่งเมอร์เซีย[15]
  • พระเจ้าเอเธลเรด กลายเป็นกษัตริย์แห่งเมอร์เซีย[15]
  • ซายน์เบอร์ แต่งงานกับอัลฟริธ พระโอรสของพระเจ้าออสวิวแห่งนอร์ธัมเบรีย[13]
  • วิลเบอร์ อภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟรุตโวลด์ กษัตริย์แห่งเซอร์รีย์[13]
  • นักบุญอีดจิธแห่งอายล์สบรี[16]
  • นักบุญอีดเบอร์แห่งอัดเดอร์บรี[16]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Mike Ashley, The Mammoth Book of British Kings and Queens (New York: Carroll & Graf, 1999), p. 250
  2. Eric John, Reassessing Anglo-Saxon England(Manchester: Manchester University Press, 1996), p. 14
  3. John Marsden, Northanhymbre Saga; The History of the Anglo-Saxon Kings of Northumbria(London: Kyle Cathie Limited, 1992), p. 99
  4. Benjamin Thorpe, The Anglo-Saxon Chronicle according to the Several Original Authorities: Translation (London: Her Majesty's Stationery Office, 1861), p. 21
  5. Frank Stenton, Anglo-Saxon England (Oxford University Press, 1971), p. 45
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Mike Ashley, The Mammoth Book of British Kings and Queens (New York: Carroll & Graf, 1999), p. 251
  7. Peter Hunter Blair, Roman Britain and Early England; 55 B.C.–A.D. 871 (New York; London: W. W. Norton & Company, 1966), p. 194
  8. 8.0 8.1 Frank Stenton, Anglo-Saxon England (Oxford University Press, 1971), p. 82
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Frank Stenton, Anglo-Saxon England (Oxford University Press, 1971), p. 83
  10. 10.0 10.1 Peter Hunter Blair, Roman Britain and Early England; 55 B.C.–A.D. 871 (New York; London: W. W. Norton & Company, 1966), p. 207
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Frank Stenton, Anglo-Saxon England (Oxford University Press, 1971), p. 67
  12. Mike Ashley, The Mammoth Book of British Kings and Queens (New York: Carroll & Graf, 1999), p. 304
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 Mike Ashley, The Mammoth Book of British Kings and Queens (New York: Carroll & Graf, 1999), p. 252
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 Peter Hunter Blair, Roman Britain and Early England; 55 B.C.–A.D. 871 (New York; London: W. W. Norton & Company, 1966), p. 196
  15. 15.0 15.1 15.2 Mike Ashley, The Mammoth Book of British Kings and Queens (New York: Carroll & Graf, 1999), p. 248
  16. 16.0 16.1 Ann Williams; Alfred P. Smyth; D. P. Kirby, A Biographical Dictionary of Dark Age Britain: England, Scotland, and Wales, c.500–c.1050 (London: B A Seaby Ltd, 1991), p. 199