ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าฮัมมูราบี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮัมมูราบี
𒄩𒄠𒈬𒊏𒁉
กษัตริย์แห่งบาบิโลน
ราชาแห่งสี่มุม
ฮัมมูราบี (คนที่ยืน) รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากชามัช (หรืออาจเป็นมาร์ดุก) ฮัมมูราบีเอาพระหัตถ์ปิดพระโอษฐ์เป็นสัญลักษณ์การขอพร[1] (จารึกส่วนบนของศิลาจารึกประมวลกฎหมายฮัมมูราบี)
กษัตริย์แห่งจักรวรรดิบาบิโลนเก่า
ครองราชย์42 พรรษา; ประมาณ 1792 – ประมาณ 1750 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ก่อนหน้าซิน-มูบัลลิต
ถัดไปซัมซู-อิลูนา
ประสูติประมาณ 1810 ปีก่อนคริสต์ศักราช
บาบิโลน
สวรรคตประมาณ 1750 ปีก่อนคริสต์ศักราช
บาบิโลน
พระราชบุตรซัมซู-อิลูนา

ฮัมมูราบี (อังกฤษ: Hammurabi; ป. 1810 –  1750 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กษัตริย์ชาวอามอไรท์องค์ที่ 6 และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งจักรวรรดิบาบิโลน รู้จักกันดีที่สุดในด้านกฎหมายในขณะเดียวกับความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้านการทหารที่ทำให้อาณาจักรบาบิโลนมีอำนาจมากที่สุดในแถบเมโสโปเตเมียโดยการเอาชนะพวกซูเมอร์และพวกอัคคาด

พระราชประวัติ

[แก้]

ฮัมมูราบีปกครองจักรวรรดิบาบิโลนตั้งแต่ปี 1792 ก่อนคริสตกาล ในช่วงต้นของการครองราชย์บ้านเมืองค่อนข้างมีความสงบสุข ทรงทำลายและขับไล่กองทัพผู้รุกรานได้แก่ พวกอีลาไมท์และกองทัพอื่น ๆ ออกไปจากอาณาจักรได้อย่างเด็ดขาด และได้ทรงผนวกอาณาจักรลาร์ซาและอาณาจักรยามัตบาล ไว้ในอำนาจเป็นราชอาณาจักรเดียวโดยมีบาบิโลนเป็นศูนย์กลาง ความเฟื่องฟูด้านอักษรศาสตร์ที่รุ่งเรืองตามความเจริญของอาณาจักรบาบิโลนทำให้กฎหมายต่าง ๆ ของกษัตริย์ได้รับการยอมรับไปตลอดชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน มีการค้นพบแผ่นจารึกดินเผาที่เป็นสนธิสัญญาจำนวนมากที่สอบอายุได้ว่าตรงกับสมัยของพระองค์และกษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อมา รวมทั้งจดหมายที่มีการลงนามด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นมีหนังสือคำสั่งให้เคลื่อนทหารจำนวน 240 นายจากอัสซีเรียและไซทัลลัม ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าพวกอัสซีเรียเคยตกอยู่ใต้การปกครองของบาบิโลน

ฮัมมูราบีแผ่อำนาจการปกครองของจักรวรรดิบาบิโลนครั้งแรกไปทางใต้ก่อนแล้วจึงขยายขอบเขตครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของเมโสโปเตเมีย ชัยชนะอย่างเด็ดขาดทางการทหารเกิดขึ้นค่อนข้างล่าช้าในรัชสมัยของพระองค์ และที่สำเร็จลงได้อาจเป็นเพราะการล่มสลายของอาณาจักรแชมชิ - เอดัด

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี

[แก้]
แผ่นจารึกประมวลกฎหมายฮัมมูราบี

ชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของกษัตริย์ฮัมมูราบีได้แก่การประกาศใช้กฎหมายที่เรียกกันว่า ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (Code of Hammurabi) ที่เขียนลงบนสเตลา และติดตั้งไว้ในที่สาธารณะให้คนทั่วไปได้อ่านแม้จะมีคนรู้หนังสือไม่มากก็ตาม แผ่นสเตลานี้ถูกรื้อถอนจากการปล้นสะดมไปไว้ที่เมืองหลวงซูซาของเอลาไมท์ และถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2444 ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ลูฟในกรุงปารีส

แม้บทลงโทษตามกฎหมายฮัมมูราบีจะดูว่าโหดเหี้ยมตามความคิดของคนสมัยใหม่ แต่การทำกฎหมายให้เป็นลายลักษณ์อักษรและพยายามใช้บังคับอย่างเป็นระบบกับทุกคน และการ “ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าผิด” ที่นับเป็นวิวัฒนาการทางอารยธรรมที่สำคัญของมนุษย์ ทฤษฎีใหม่บางทฤษฎีถือว่าการนับกฎหมายฮัมมูราบีให้มีสถานะเป็นประมวลกฎหมายอย่างปัจจุบันนั้นไม่ถูกต้องนัก เพราะความจริงน่าจะนับได้เพียงการเป็นอนุสรณ์ยกย่องว่ากษัตริย์ฮัมมูราบีเป็น “ตัวอย่างกษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม” เท่านั้นเพราะในชีวิตของคนย่อมมีความผิดอย่างอื่นที่ไม่ใช่การลักขโมย

นอกจากกฎหมายแล้ว ฮัมมูราบียังได้ทรงทำให้บาบิโลนเป็นสถานที่สวยงามขึ้นโดยการปรับปรุงระบบชลประทาน ต่อมาในภายหลังจักรวรรดิบาบิโลนล่มสลายลงโดยผู้ปกครองที่สืบต่ออำนาจจากกษัตริย์ฮัมมูราบีได้รับแรงกดดันทางอำนาจจากพวกฮิตไตท์ที่นำโดยกษัตริย์มิวซิลิสที่ 1 แต่โดยความเป็นจริงบาบิโลนถูกครอบครองโดยพวกแคสไซต์ที่นำโดยกษัตริย์อคุมคัครีน ซึ่งได้ปกครองบาบิโลนต่อมาอีก 400 ปีโดยที่ยังยอมรับและใช้ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีสืบต่อมา

อ้างอิง

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Roux, Georges (27 August 1992), "The Time of Confusion", Ancient Iraq, Penguin Books, p. 266, ISBN 978-0-14-193825-7, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 December 2019, สืบค้นเมื่อ 20 August 2019

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]