ฝัน บ้า คาราโอเกะ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ฝัน บ้า คาราโอเกะ | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | เป็นเอก รัตนเรือง |
เขียนบท | เป็นเอก รัตนเรือง |
อำนวยการสร้าง | เจริญ เอี่ยมพึ่งพร ธีรนันท์ สุขวิบูลย์ |
นักแสดงนำ | เฟย์ อัศเวศน์ เรย์ แมคโดนัลด์ ณัฐณิชา ครองลาภยศ ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว แชมเปญ เอ็กซ์ พูนสวัสดิ์ ธีมากร วีรดิษ วิญญรัตน์ สุธีรัชต์ ชาญนุกูล วิทิตนันท์ โรจนพานิช ยงยุทธ ทองกองทุน |
กำกับภาพ | ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ |
ตัดต่อ | หม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล เอเดรียน เบรดี |
ดนตรีประกอบ | อมรพงศ์ เมธาคุณาวุฒิ ไพศาล จำนง |
ผู้จัดจำหน่าย | ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น |
วันฉาย | 27 สิงหาคม พ.ศ. 2540[1] |
ความยาว | 103 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
ฝัน บ้า คาราโอเกะ เป็นภาพยนตร์ไทยแนว ตลก อาชญากรรม ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2540 ผลงานกำกับเรื่องแรกของเป็นเอก รัตนเรือง ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรก รอบ World Premiere ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ประจำปี ค.ศ. 1997[2] ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Fun Bar Karaoke ซึ่งทับศัพท์เสียงภาษาไทย แต่ความหมายของชื่อ เป็นคนละความหมายกัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้วิธีการเล่าเรื่องที่แยบคาย มีสไตล์แปลกใหม่กว่าภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่น ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในประเทศไทย
เฟย์ อัศเวศน์ ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ประจำปี พ.ศ. 2540 นอกจากนั้นภาพยนตร์ยังได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว)
ในปี พ.ศ. 2552 มีการผลิตเป็นดีวีดีสำหรับจัดจำหน่ายในประเทศไทยในรูปแบบของ The Legend Collection ตำนานหนังกลางใจ ซึ่งเป็นการนำภาพยนตร์ไทยเก่า ๆ กลับมาผลิตเป็นดีวีดีสำหรับสะสม โดย ฝัน บ้า คาราโอเกะ อยู่ใน Vol. 4 เช่นเดียวกับ เรื่องตลก 69 ภาพยนตร์ลำดับถัดไปโดย เป็นเอก รัตนเรือง
เรื่องย่อ
[แก้]ปู (เฟย์ อัศเวศน์) ทีมงานสร้างภาพยนตร์โฆษณา เป็นหญิงสาวที่อาศัยอยู่กับพ่อ (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว) สองคน หลังจากแม่ตายไปตั้งแต่เธอยังเล็ก เธอมักจะฝันว่า แม่ (Rae Chow) กำลังสร้างบ้านโมเดลหลังเล็ก ๆ อยู่ และฝันว่าแม่เอาปืนยิงพ่อเสียชีวิต หลังจากพบว่าพ่อไปมีความสุขกับหญิงอื่น พ่อปั๋ม เพื่อนสนิทของปู (พูนสวัสดิ์ ธีมากร) ทำนายฝันว่า วันใดที่แม่เธอสร้างบ้านโมเดลเสร็จ วันนั้นเป็นวันที่พ่อเธอจะต้องตาย
พ่อเธอเป็นคนดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด และชอบร้องคาราโอเกะ ทั้งยังแอบไปมีความสัมพันธ์กับ หยก (แชมเปญ เอ็กซ์) เมียน้อยของเสี่ยโต้ง (วีรดิษ วิญญรัตน์) เจ้าของร้านคาราโอเกะ ซึ่งเมื่อรู้ความสัมพันธ์ลับนั้นก็ส่งมือปืนมาตามเก็บพ่อปู
น้อย (เรย์ แมคโดนัลด์) ชายหนุ่มขี้อายที่เป็นลูกค้าร้านสะดวกซื้อที่ ปั๋ม (ณัฐณิชา ครองลาภยศ) เพื่อนปูทำงานอยู่ เวลาน้อยมาซื้อของ มักจะเจอกับปู ที่มาขลุกอยู่ที่ร้านปั๋มอยู่เสมอ ทั้งคู่ต่างมีใจให้กัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าเบื้องหลังนั้น น้อยเป็นลูกน้องของเสี่ยโต้ง เป็นมือปืนที่มีหน้าที่เก็บกวาดคนที่มาเกาะแกะเมียน้อยของเจ้านาย น้อยมุ่งมั่นทำงานเก็บเงิน เพื่อเดินทางไปหาประสบการณ์ที่อเมริกา
ในฝันนั้น บ้านโมเดลใกล้จะเสร็จลงทุกวัน ปูพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยต่อชีวิตพ่อ ไม่ว่าจะบริจาคโลงศพ แก้เคล็ด ฯลฯ ในขณะที่น้อยกับปู ต่างก็ค่อย ๆ สานต่อความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกัน
นักแสดง
[แก้]- เฟย์ อัศเวศน์ - รับบท ปู
- เรย์ แมคโดนัลด์ - รับบท น้อย
- ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว - รับบท พ่อของปู
- แชมเปญ เอ็กซ์ - รับบท หยก
- ณัฐณิชา ครองลาภยศ - รับบท ปั๋ม
- วีรดิษ วิญญรัตน์ - รับบท เสี่ยโต้ง
เพลงประกอบภาพยนตร์
[แก้]- เพลง คิดถึง ขับร้อง ไพบูลย์ เกียรติเขียวแก้ว
- เพลง เย้ยฟ้า ท้าดิน , คำร้อง - ชาลี อินทรวิจิตร / ทำนอง - มงคล อมาตยกุล
- เพลง น้อยก็หนึ่ง , คำร้อง / ทำนอง / ขับร้อง - อารักษ์ อาภากาศ
- เพลง My Baby Just Cares For Me , ขับร้องโดย นินา ซิโมน
- เพลง พระจันทร์วันนี้ , ขับร้องโดย โยคีเพลย์บอย
- เพลง กัด , ขับร้องโดย โจอี้บอย
เกร็ดจากภาพยนตร์
[แก้]- พ่อปูในเรื่องมีชื่อว่าไพบูลย์ อมรวิวัฒน์
ข้อผิดพลาดในภาพยนตร์
[แก้]- มีบูมไมโครโฟนหลุดเข้ามาในกล้อง ในหลายฉาก เช่น ฉากในห้องส้วม ที่น้อยฆ่ามือปืนที่ศัตรูส่งมาเก็บเสี่ยโต้ง และฉากร้านคาราโอเกะ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ฝันบ้าคาราโอเกะ | FUN BAR KARAOKE
- ↑ "โปรแกรมฉาย ที่ Berlinale". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-08-26.