ปีแยร์ รอซีเย
ปีแยร์ โฌแซ็ฟ รอซีเย (ฝรั่งเศส: Pierre Joseph Rossier; 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1829 – 22 ตุลาคม ค.ศ. 1886[1]) เป็นช่างภาพยุคบุกเบิกชาวสวิส ถ่ายภาพโดยวิธีแอลบูเมน รวมถึงการภาพถ่ายสามมิติ และภาพการ์ตเดอวีซิตที่เป็นภาพถ่ายบุคคล ภาพทิวทัศน์ของเมือง และภาพภูมิทัศน์ เขาได้รับว่าจ้างจากบริษัท เนเกรตตีและแซมบรา (Negretti and Zambra) ในกรุงลอนดอนให้เดินทางมาทวีปเอเชียเพื่อบันทึกภาพกองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศสในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง แม้ไม่ได้ร่วมคณะทหารไปด้วย แต่เขายังคงอยู่ในทวีปเอเชียหลายปี โดยผลิตผลงานเพื่อการค้าเป็นครั้งแรกให้กับประเทศจีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และสยาม เขาถือเป็นช่างภาพอาชีพคนแรกของประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นเขาได้สอนฟูรูกาวะ ชุมเป, คาวาโนะ เทโซ, อูเอโนะ ฮิโกมะ, มาเอดะ เก็นโซ, โฮริเอะ คูวาจิโร และช่างภาพรุ่นแรกคนอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงลดหลั่นไปของญี่ปุ่น ส่วนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาก่อตั้งสตูดิโอถ่ายภาพในเมืองฟรีบูร์และไอน์ซีเดิลน์ และยังคงผลิตภาพถ่ายในสถานที่อื่น ๆ ของประเทศ รอซีเยถือเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรกของการถ่ายภาพ ไม่เพียงเพราะผลงานภาพถ่ายของเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะการสอนของเขาได้ส่งผลกระทบสำคัญแก่วงการถ่ายภาพญี่ปุ่นในยุคบุกเบิกด้วย
อัตลักษณ์และกำเนิด
[แก้]ข้อมูลเกี่ยวกับรอซีเยเป็นที่ทราบกันน้อยมากจนเมื่อไม่นานมานี้ แม้ชื่อตัวของเขาก็ยังเคยเป็นปริศนา ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ บางครั้งเขาใช้ชื่อว่า เป. รอซีเย (P. Rossier) และในบางครั้งก็มีอีกชื่อคือ แอม. รอซีเย (M. Rossier) ในที่สุดเอกสารต่าง ๆ ที่พบที่เมืองฟรีบูร์ก็ทำให้พิสูจน์ได้ว่าเขามีชื่อตัวว่า ปีแยร์ และสามารถอนุมานได้ว่า อักษร M ใน M. Rossier นั้นย่อมาจาก "เมอซีเยอ" (Monsieur) ซึ่งเป็นคำนำหน้าชื่อบุคคลชายในภาษาฝรั่งเศส มีความเชื่อกันมานานว่าเขามาจากฝรั่งเศส และขณะที่เขาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เขายังถูกเรียกว่าเป็น "ชาวอังกฤษ" อีกด้วย[2] อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยในปัจจุบันเปิดเผยว่า รอซีเยเป็นชาวสวิส เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1829 ที่กร็องซีวาซ หมู่บ้านเล็ก ๆ ในรัฐฟรีบูร์ เขาเป็นบุตรคนที่ 4 จากพี่น้อง 10 คน ในครอบครัวเกษตรกรที่มีทรัพย์สินไม่มากนัก ในวัย 16 ปี เขาเป็นครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในหมู่บ้านข้างเคียง แต่เมื่อถึง ค.ศ. 1855 เขาได้หนังสือเดินทางสำหรับเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษในฐานะช่างภาพ[3]
ช่วงหนึ่งหลังออกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์และก่อนเดินทางถึงประเทศอังกฤษ รอซีเยได้รับการว่าจ้างจากบริษัท เนเกรตตีและแซมบรา (Negretti and Zambra) ให้เดินทางไปประเทศจีนเพื่อบันทึกภาพในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง (ค.ศ. 1858–1860) เป็นไปได้ว่าทางบริษัทเล็งเห็นว่า สัญชาติสวิสของรอซีเยเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางดังกล่าว โดยสถานะเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์น่าจะเอื้อให้เขาเดินทางข้ามประเทศด้วยเรือของอังกฤษหรือเรือของฝรั่งเศสก็ได้ เมื่อพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่สูงและความไม่แน่นอนที่บริษัทก่อขึ้น รวมทั้งภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวรอซีเยเอง นี่จึงเป็นการว่าจ้างครั้งสำคัญ[4]
การถ่ายภาพในทวีปเอเชีย
[แก้]รอซีเยอยู่ที่ฮ่องกงในปี ค.ศ. 1858 และเริ่มถ่ายภาพในไม่ช้า ภาพส่วนใหญ่ถ่ายในกว่างโจวและรอบ ๆ กว่างโจว[5] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1859 เนเกรตตีและแซมบรา จัดพิมพ์ภาพของรอซีเย 50 ภาพ รวมถึงภาพสามมิติด้วย ซึ่งได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากสิ่งพิมพ์รายคาบด้านการถ่ายภาพในช่วงเวลานั้น ใน ค.ศ. 1858 หรือ 1859 รอซีเยเดินทางมาถึงฟิลิปปินส์ เขาเดินทางมาถ่ายภาพภูเขาไฟตาอัล รอซีเยถึงประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1859 ถ่ายภาพแรก ๆ ในนางาซากิ คานางาวะ โยโกฮามะ และเอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) เขาเป็นช่างภาพอาชีพคนแรกที่เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น[6] ภาพถ่ายของรอซีเยภาพหนึ่งในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1859 (ขณะที่เขาอยู่ในนางาซากิ) เป็นภาพลูกชายของฟิลลิพ ฟรันทซ์ ฟ็อน ซีบ็อลท์ ที่ชื่ออเล็คซันเดอร์ กับกลุ่มซามูไรจากกลุ่มนาเบชิมะ[7]
ปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1860 รอซีเยอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และเป็นไปได้ว่าเขาเดินทางมายังเมืองนี้เพื่อพยายามขออนุญาตติดตามกองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่เดินทัพไปถึงภาคเหนือของประเทศจีนแล้ว เพื่อจะบันทึกภาพสงครามฝิ่นครั้งที่สองตามที่ได้รับว่าจ้างมาให้ลุล่วง[8] หากเขาตั้งใจเช่นนั้นจริง เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกองทัพทั้งสองได้จ้างช่างภาพเพื่อบันทึกภารกิจไว้แล้ว กองทัพอังกฤษจ้างช่างภาพชื่อ ฟีลิกซ์ เบอาโต และจอห์น แพพิยอน ส่วนกองทัพฝรั่งเศสจ้างอ็องตวน โฟเชอรี, พันโท ดูว์ แป็ง และอาจรวมถึงหลุยส์ เลอกร็อง[9] แม้รอซีเยจะพลาดภารกิจที่เขาได้รับว่าจ้างมา แต่เขาก็ยังอยู่ในเอเชียตะวันออกเพื่อบันทึกภาพต่อไป
เมื่อถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1860 รอซีเยก็ได้กลับไปยังนางาซากิ เขาถ่ายภาพท่าของเมืองในนามของจอร์จ เอส. มอร์ริสัน กงสุลบริเตนซึ่งจ่ายค่าจ้างให้เขาเป็นเงิน 70 เหรียญสหรัฐ[10] ถึงแม้ เนเกรตตีและแซมบรา โฆษณาภาพถ่ายของรอซีเยอย่างน้อย 2 ครั้งใน ค.ศ. 1860 แต่บริษัทก็ไม่ได้จัดพิมพ์ภาพเหล่านั้นจนเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ. 1861[11] มีการเผยแพร่ภาพถ่ายทิวทัศน์ญี่ปุ่น 5 ภาพของรอซีเยก่อนในหนังสือ เท็นวีกส์อินเจแปน ของจอร์จ สมิท ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1861 และในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ภาพถ่ายในญี่ปุ่นอีก 8 ภาพของเขาก็ปรากฏในรูปแบบภาพพิมพ์หินในหนังสือ Japan, the Amoor, and the Pacific ของเฮนรี อาร์เทอร์ ทิลลีย์[12] นิตยสาร Illustrated London News ฉบับหนึ่งในปี ค.ศ. 1861 ได้ตีพิมพ์ภาพพิมพ์ลายแกะหลายภาพร่วมกันในชื่อ Domestic Life in China โดยใช้ภาพสามมิติที่ถ่ายโดยรอซีเย[13] หนึ่งในภาพถ่ายที่ เนเกรตตีและแซมบรา ได้โฆษณาไว้ในปี ค.ศ. 1860 กลายเป็นภาพถ่ายทิวทัศน์ญี่ปุ่นเชิงพาณิชย์ภาพแรกที่มีการจัดพิมพ์ และเป็นภาพถ่ายญี่ปุ่นที่ลงสีด้วยมือที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบ[14]
จากเอกสารจำนวนมากในช่วงนั้น ทำให้สามารถยืนยันได้ว่ารอซีเยเป็นผู้ถ่ายภาพทิวทัศน์ในจีนและญี่ปุ่นของบริษัท เนเกรตตีและแซมบรา แต่คนทั้งหลายต่างเชื่อว่าผู้อื่นถ่ายภาพเหล่านี้เป็นเวลาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นวอลเทอร์ บี. วุดเบอรี ที่ได้รับการว่าจ้างจาก เนเกรตตีและแซมบรา เช่นกัน แต่เขาประจำการอยู่ในปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา) หรือเอเบิล กาวเวอร์ ช่างภาพสมัครเล่นในญี่ปุ่น สิ่งที่น่าสนใจคือ คลังสะสมภาพถ่ายของมหาวิทยาลัยไลเดินมีภาพถ่ายที่กล่าวกันว่าเป็นภาพของกาวเวอร์ แต่มีการเซ็นว่า "เป. รอซีเย" และในปี ค.ศ. 1859 ทั้งรอซีเยและกาวเวอร์ได้เดินทางไปด้วยกันในเรือหลวงแซมป์ซัน จากนางาซากิไปยังเอโดะ[15]
การสอนถ่ายภาพ
[แก้]รอซีเยเดินทางมาถึงประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1859 อันเป็นช่วงเวลาที่การทดลองการถ่ายภาพสมัยแรก ๆ กำลังเริ่มต้นในเกาะคีวชู โดยเฉพาะที่นางาซากิ เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของรังงากุ (องค์ความรู้ที่ต่อยอดจากวิทยาการตะวันตก) และเป็นเมืองที่แพทย์ 2 คน ได้แก่ ยัน กาเริล ฟัน แด็นบรุก และเย. แอ็ล. เซ. โปมเปอ ฟัน เมร์เดอร์โฟร์ต เป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษาชาวญี่ปุ่น ไม่เฉพาะวิชาการแพทย์ แต่ยังรวมถึงวิชาเคมีและวิชาการถ่ายภาพอีกด้วย[16] แต่ทั้งฟัน แด็นบรุก และโปมเปอ ฟัน เมร์เดอร์โฟร์ต ต่างก็ไม่ใช่ช่างภาพผู้มีประสบการณ์ ความพยายามถ่ายภาพส่วนมากก็ล้มเหลว[17] ถึงกระนั้น พวกเขาก็ได้สอนการถ่ายภาพด้วยกระบวนการกระจกเปียกให้แก่เคไซ โยชิโอะ,[18] ฟูรูกาวะ ชุมเป, คาวาโนะ เทโซ, มาเอดะ เก็นโซ, อูเอโนะ ฮิโกมะ, โฮริเอะ คูวาจิโร เป็นต้น[19]
เมื่อรอซีเยมาถึงประเทศญี่ปุ่น คาดว่าเขาคงแนะนำตัวเองว่าเป็นช่างภาพที่บริษัท เนเกรตตีและแซมบรา ส่งมาทำงานในญี่ปุ่น นี่อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน กล่าวคือ ระหว่างที่อยู่ญี่ปุ่น เขาถูกเรียกว่าช่างภาพชาวอังกฤษอยู่บ่อยครั้ง ในนางาซากิ รอซีเยมีผู้ช่วยคือมาเอดะ เก็นโซ ซึ่งได้รับคำสั่งให้ติดตาม "คนอังกฤษ" และเรียนรู้การถ่ายภาพเพิ่มเติม[20] ทั้งมาเอดะและนักเรียนคนอื่น ๆ ติดตามเขาระหว่างอยู่ในเมือง รอซีเยได้ถ่ายภาพนักบวช ขอทาน ผู้ชมการแข่งขันซูโม่ นิคมชาวต่างชาติ และถ่ายภาพอเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ซีบ็อลท์ กับกลุ่มซามูไร รอซีเยเชื่อว่าความล้มเหลวในการถ่ายภาพของโปมเปอ ฟัน เมร์เดอร์โฟร์ต มีสาเหตุมาจากการขาดแคลนสารเคมีที่จำเป็น ดังนั้นเขาจึงเขียนจดหมายรับรองให้มาเอดะเพื่อให้ได้มาซึ่งอุปกรณ์และสารเคมีสำหรับการถ่ายภาพจากแหล่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ ทั้งมาเอดะและฟูรูกาวะได้ซื้อเลนส์ สารเคมี และกระดาษแอมบูเมนผ่านทางรอซีเย[21]
ในช่วงเวลานั้น รอซีเยยังได้สอนถ่ายภาพให้กับอูเอโนะ ฮิโกมะ และโฮริเอะ คูวาจิโรอีกด้วย ชัดเจนว่าในช่วงแรก อูเอโนะมีเจตนาเรียนรู้ไม่เพียงแต่การถ่ายภาพแต่อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการผลิตกล้องด้วย ดูเหมือนว่าการพบกับรอซีเยจะทำให้อูเอโนะเกิดความมุ่งมั่นไล่ตามฝันเป็นช่างภาพมืออาชีพ แต่เขาก็จำนนต่อเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพจนเลิกล้มความคิดผลิตกล้องของตัวเองอย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่เดือน เขาและโฮริเอะซื้อกล้องถ่ายรูปและสารเคมีต่าง ๆ จากฝรั่งเศส ก่อนยึดอาชีพเป็นช่างภาพอิสระ[22]
แม้ว่ารอซีเยใช้เวลาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และมรดกการถ่ายรูปจากยุคสมัยของเขาจะเหลือเพียงน้อยนิด แต่เขาก็มีอิทธิพลต่อวงการถ่ายภาพของญี่ปุ่นอยู่ช้านาน[6]
บั้นปลายชีวิตและมรดกตกทอด
[แก้]ค.ศ. 1861 รอซีเยอยู่สยาม เขาทำงานร่วมกับมารี ฟีร์แม็ง บอกูร์ นักสัตววิทยาชาวฝรั่งเศส ช่วยถ่ายภาพทางชาติพันธุ์วรรณนาให้คณะสำรวจด้านวิทยาศาสตร์ของบอกูร์ระหว่าง ค.ศ. 1861–1862 และใน ค.ศ. 1863 เนเกรตตีและแซมบรา ได้ตีพิมพ์ชุดภาพถ่ายสามมิติของบุคคลและภาพทิวทัศน์ในสยามจำนวน 30 รูป ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผลงานของรอซีเยอย่างไร้ข้อกังขา[12] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1862 รอซีเยกลับเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง เขาขายกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพก่อนลงเรือกลับยุโรป[23] ระหว่างที่เขาอยู่ในทวีปเอเชีย เป็นไปได้ว่ารอซีเยไปถ่ายภาพในอินเดียด้วย สันนิษฐานจากที่ เนเกรตตีและแซมบรา ตีพิมพ์ภาพชุดทิวทัศน์อินเดียในช่วงเวลาเดียวกับภาพถ่ายทิวทัศน์จีนของรอซีเย[12]
รอซีเยเดินทางกลับถึงสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงต้น ค.ศ. 1862 และได้สมรสกับแคเทอริน บาร์บ เคลิน (ค.ศ. 1843–1867) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1865 ทั้งคู่มีบุตรชื่อ คริสต็อฟ มารี ปีแยร์ โฌแซ็ฟ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1866 ต่อมาแคเทอรินเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1867
รอซีเยยังดำเนินกิจการสตูดิโอถ่ายภาพในฟรีบูร์จนกระทั่ง ค.ศ. 1876 เป็นอย่างน้อย เขายังมีสตูดิโอในในเมืองไอน์ซีเดิลน์ และระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1860 ถึงคริสต์ทศวรรษ 1870 เขาผลิตภาพถ่ายสามมิติและการ์ตเดอวีซิตอันประกอบด้วยภาพบุคคลและภาพทิวทัศน์ของเมืองฟรีบูร์, ไอน์ซีเดิลน์ และสถานที่อื่น ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาใน ค.ศ. 1871 ลาลีแบร์เต หนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสจากเมืองฟรีบูร์ลงโฆษณาโดยเสนอภาพถ่ายงานจิตรกรรมทางศาสนาของศิลปินที่ชื่อ เม็ลชีออร์ เพาล์ ฟ็อน เดชวันเดิน ซึ่งรอซีเยเป็นผู้ถ่าย[24] ใน ค.ศ. 1872 รอซีเยจัดแจงขอหนังสือเดินทางเพื่อเดินทางไปยังฝรั่งเศส คาดว่าเขาอาจถ่ายภาพที่นี่ จากนั้นในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง ค.ศ. 1871 ถึง 1884 เขาสมรสอีกครั้ง ภรรยาคนที่ 2 ชื่อ มารี วีร์ฌีนี ออแวร์แน ซึ่งเป็นคนรับใช้ของเจ้าของที่ดินของสตูดิโอเขา ทั้งคู่มีบุตรชายชื่อ โฌแซ็ฟ หลุยส์ ซึ่งเกิดในปารีสเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1884 ต่อมาบุตรคนนี้ไปมีร้านกาแฟในเมืองเวอแว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเสียชีวิตใน ค.ศ. 1927
ปีแยร์ รอซีเย เสียชีวิตในปารีสในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี ค.ศ. 1883 ถึง 1898[4]
ภาพถ่ายทิวทัศน์สวิตเซอร์แลนด์จำนวนหนึ่งของรอซีเยได้รับการจัดเก็บไว้ในสถาบันและงานสะสมส่วนบุคคลหลายแห่งในประเทศ รอซีเยถ่ายภาพทิวทัศน์จีนและญี่ปุ่นในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ปัจจุบันภาพถ่ายเหล่านั้นหาดูได้ยาก บางครั้งเขาก็บ่นเรื่องผลกระทบทางลบของภูมิอากาศต่อสารเคมีสำหรับถ่ายภาพของเขา และภาพเนกาทิฟบางภาพอาจได้รับความเสียหายระหว่างทางจากทวีปเอเชียไปยังลอนดอน แม้ภาพถ่ายของรอซีเยจะหลงเหลืออยู่ไม่มากนักในปัจจุบัน แต่เขาก็มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์สมัยเริ่มแรกของวิชาการถ่ายภาพในทวีปเอเชีย ก่อนเขาถึงญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1859 นักเรียนวิชาการถ่ายภาพชาวญี่ปุ่นมักติดขัดในการผลิตผลงานถ่ายภาพให้น่าพึงพอใจ แต่ประสบการณ์ คำสอน และการติดต่อกับผู้จัดส่งวัตถุดิบสำหรับการถ่ายภาพของรอซีเยนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาขนบการถ่ายภาพในลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่น
หมายเหตุและอ้างอิง
[แก้]- ↑ "ทะเบียนข้อมูลโยธาของกรุงปารีส - บันทึกความตาย". archives.paris.fr. p. 17.
- ↑ เขาถูกระบุว่าเป็นชาวฝรั่งเศสโดย Yokoe (167) เป็นต้น แม้แต่ฐานข้อมูล ULAN จากสถาบันเกตตีรีเซิร์ช ก็ยังระบุชื่อเขาเป็น Rossier, M. โดยเขียนว่า อาจเป็นชาวอังกฤษ (Union List of Artist Names).
- ↑ เบ็นนิตต์ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการวิจัยว่าด้วยการเปิดเผยอัตลักษณ์และปูมหลังของรอซีเย ข้อมูลเกี่ยวกับรอซีเยที่เราทราบกันส่วนใหญ่มาจากผลงานของเบ็นนิตต์ (ในบทความนี้จะอ้างอิงบทความทางอินเทอร์เน็ต The Search for Rossier ของเบ็นนิตต์ในชื่อ "Bennett" และจะอ้างอิงหนังสือ Early Japanese Images, Photography in Japan: 1853-1912 และ Old Japanese Photographs ของเขาโดยใช้ชื่อ "Bennett EJI", "Bennett PiJ" และ "Bennett OJP" ตามลำดับ)
- ↑ 4.0 4.1 Bennett.
- ↑ Bennett. เวอร์ซิกระบุว่ารอซีเยอยู่ในจีนระหว่างปี ค.ศ. 1857 ถึง 1859 แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากไปกว่านั้น (Worswick, 146).
- ↑ 6.0 6.1 Yokoe, 167.
- ↑ ภาพถ่ายนี้อยู่ในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ซีบ็อลท์ในนางาซากิ (Himeno, 22).
- ↑ กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสได้มาสมทบกันอยู่ก่อนแล้วที่อ่าวต้าเหลียนและจีฝู (เอียนไถ) ตามลำดับในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1860 (Harris, 17) และรอซีเยได้อยู่ที่เซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1860 เป็นไปได้ว่าเขาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้เพื่อหาซื้อสารเคมีสำหรับถ่ายภาพ (Bennett).
- ↑ Bennett; Thiriez. แพพิยอนได้ถ่ายภาพตั้งแต่กว่างโจวไปจนถึงป้อมต้ากู แต่ล้มป่วยและถูกเคลื่อนย้ายออกไปก่อนเสร็จสิ้นภารกิจ ภาพถ่ายการเดินทัพที่เป็นผลงานของโฟเชอรีก็ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่นอน แต่น่าจะรวมถึงภาพสามมิติของกองทัพฝรั่งเศส 24 ภาพในกว่างโจว เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และปักกิ่ง นอกจากนี้ก็ไม่พบหลักฐานยืนยันว่าดูว์ แป็ง และเลอกร็องได้ถ่ายภาพระหว่างการเดินทัพจริง ๆ. Thiriez, 6-7.
- ↑ Dobson, 20; Clark, Fraser, and Osman, 137-138).
- ↑ หนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1860 มีโฆษณาภาพสามมิติ "ลงสีสมบูรณ์" ของ "สตรีญี่ปุ่นในชุดเต็มยศ" ซึ่งถ่ายโดยรอซีเย และโฆษณาใน เดอะไทมส์ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1860 อ้างว่าจะมี "ภาพถ่ายจากญี่ปุ่น – กรณีภาพถ่ายแปลกและหาดูยากของฉากหลังธรรมชาติในประเทศที่น่าสนใจประเทศนี้ และภาพประกอบแสดงกิริยาอาการและประเพณีของเผ่าชนในญี่ปุ่น ฝีมือศิลปินพิเศษที่ถูกส่งไปเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวโดยบริษัทห้างร้านเนเกรตตีและแซมบราแห่งลอนดอน" เบ็นนิตต์ยังคาดว่า เนเกรตตีและแซมบรา เลื่อนการเผยแพร่ภาพเหล่านี้ออกไปเนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพของเนกาทิฟ ซึ่งอาจเป็นเพราะความเสียหายระหว่างการขนส่ง หรือเป็นเพราะรอซีเยประสบความยากลำบากในการหาสารเคมีที่ถูกต้องสำหรับการถ่ายภาพในเอเชีย (Bennett).
- ↑ 12.0 12.1 12.2 Bennett PiJ, 49.
- ↑ Bennett OJP, 119.
- ↑ ภาพนั้นคือภาพ Japanese ladies in full dress (Bennett PiJ, 47; 49, fig. 45).
- ↑ Bennett PiJ, 45; 117, fig. 141.
- ↑ Himeno, 18, 20-21.
- ↑ แม้กล้องถ่ายภาพที่ฟัน แด็นบรุก นำเข้ามาในญี่ปุ่นจะมีคู่มือการใช้แนบมาด้วย แต่ดูเหมือนว่าเขาก็ยังไม่สามารถผลิตภาพถ่ายได้เป็นที่น่าพอใจ และเขาตัดสินว่า ช่างภาพที่มีประสบการณ์เท่านั้นที่จะสามารถสอนการใช้กล้องได้ ส่วนโปมเปอ ฟัน เมร์เดอร์โฟร์ต ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จไปมากกว่ากัน โดยมัตสึโมโตะ จุง ได้บรรยายผลการทดลองถ่ายภาพครั้งหนึ่งของโปมเปอ ฟัน เมร์แดรโฟร์ตว่าเป็น "เงาดำ ๆ" (Himeno, 21-22).
- ↑ เคไซ เป็นลุงและครูของช่างภาพอูจิดะ คูอิจิ (Himeno, 24-25).
- ↑ Himeno, 21-22.
- ↑ มัตสึโมโตะ จุง สั่งให้มาเอดะช่วยเหลือรอซีเย ความเชื่อมโยงระหว่างมัตสึโมโตะกับการถ่ายภาพอีกครั้งหนึ่งย้อนไปถึงช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1857 ถึง 1859 เมื่อเขารับอูจิดะ คูอิจิ วัย 13 ปี เป็นลูกบุญธรรม ในอนาคตอูจิดะจะได้เป็นช่างถ่ายภาพ (Bennett EJI, 54).
- ↑ Himeno, 21–22. มาเอดะและฟูรูกาวะประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1860 ในวันนี้ยังคงมีการเฉลิมฉลองในฟูกูโอกะซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาถ่ายภาพนั้น (Himeno, 22)
- ↑ Himeno, 22. อูเอโนะได้ก้าวหน้าจนกลายเป็นช่างภาพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและสำคัญที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่นสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19
- ↑ รายชื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ มีอยู่ในประกาศโฆษณา (Bennett PiJ, 49).
- ↑ Bennett OJP, 120.
บรรณานุกรม
[แก้]- Bennett, Terry. Early Japanese Images. Rutland, Vermont: Charles E. Tuttle, 1996. ISBN 0-8048-2033-3 (paper), ISBN 0-8048-2029-5 (hard)
- Bennett, Terry. Old Japanese Photographs: Collector's Data Guide London: Quaritch, 2006. ISBN 0-9550852-4-1 (hard)
- Bennett, Terry. Photography in Japan: 1853-1912 Rutland, Vermont: Charles E. Tuttle, 2006. ISBN 0-8048-3633-7 (hard)
- Bennett, Terry. The Search for Rossier: Early Photographer of China and Japan. Accessed 12 September 2006; cited above as "Bennett". Originally appeared in The PhotoHistorian-Journal of the Historical Group of the Royal Photographic Society, December 2004.
- Clark, John, John Fraser, and Colin Osman. "A revised chronology of Felice (Felix) Beato (1825/34?-1908?)". In Japanese Exchanges in Art, 1850s to 1930s with Britain, Continental Europe, and the USA: Papers and Research Materials. Sydney: Power Publications, 2001. ISBN 1-86487-303-5
- Dobson, Sebastian. "Yokohama Shashin". In Art and Artifice: Japanese Photographs of the Meiji Era — Selections from the Jean S. and Frederic A. Sharf Collection at the Museum of Fine Arts, Boston. Boston: MFA Publications, 2004. ISBN 0-87846-682-7 (paper), ISBN 0-87846-683-5 (hard)
- Harris, David. Of Battle and Beauty: Felice Beato's Photographs of China. Santa Barbara: Santa Barbara Museum of Art, 1999. ISBN 0-89951-100-7 (paper), ISBN 0-89951-101-5 (hard)
- Himeno, Junichi. "Encounters With Foreign Photographers: The Introduction and Spread of Photography in Kyushu". In Reflecting Truth: Japanese Photography in the Nineteenth Century, ed. Nicole Coolidge Rousmaniere, Mikiko Hirayama. Amsterdam: Hotei Publishing, 2004. ISBN 90-74822-76-2
- Thiriez, Régine. Barbarian Lens: Western Photographers of the Qianlong Emperor's European Palaces. Amsterdam: Gordon and Breach, 1998. ISBN 90-5700-519-0
- Union List of Artist Names, s.v. "Rossier, M.". Accessed 15 September 2006.
- Worswick, Clark. Japan: Photographs 1854-1905. New York: Pennwick/Alfred A. Knopf, 1979. ISBN 0-394-50836-X
- Yokoe Fuminori. "The Arrival of Photography". In The Advent of Photography in Japan / 寫眞渡來のころ. Tokyo: Tokyo Metropolitan Museum of Photography; Hakodate: Hakodate Museum of Art, 1997. Exhibition catalogue with bilingual text.