ข้ามไปเนื้อหา

ปลาแปบควายอาร์ม็อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาแปบควายอาร์ม็อง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
Actinopterygii
อันดับ: ปลาตะเพียน
Cypriniformes
วงศ์: วงศ์ปลาตะเพียน
Cyprinidae
วงศ์ย่อย: ปลาแปบ
Cultrinae
สกุล: ปลาแปบควาย
Paralaubuca
(Sauvage, 1883)
สปีชีส์: Paralaubuca harmandi
ชื่อทวินาม
Paralaubuca harmandi
(Sauvage, 1883)
ชื่อพ้อง
  • Culter siamensis
  • Culter wolfi

ปลาแปบควายอาร์ม็อง หรือ ปลาท้องพลุ[2](อังกฤษ: Greater glass barb, Siamese river abramine; ชื่อวิทยาศาสตร์: Paralaubuca harmandi) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) โดยคำว่า harmandi ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ฌูล อาร์ม็อง (ค.ศ. 1845–1921) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส[3]

มีลำตัวยาว แบนข้างมาก ริมท้องเป็นสันคม ปากมีขนาดเล็ก นัยน์ตาโต เกล็ดเล็กบางและหลุดง่าย ครีบหลังอยู่ระหว่างครีบท้องและครีบก้น ครีบอกเล็กมีปลายแหลม ครีบหางเว้าเป็นแฉกลึก เส้นข้างลำตัวไม่สมบูรณ์ หัวมีสีเขียว ลำตัวมีสีเงินอมเหลือง ปลายหางมีขอบสีดำ

จัดเป็นปลาแปบควายหรือปลาท้องพลุชนิดหนึ่ง มีความยาวเต็มที่ประมาณ 23.5 เซนติเมตร หรืออาจจะยาวได้ถึงหนึ่งฟุต กินแพลงต์ตอนสัตว์และแมลงต่าง ๆ เป็นอาหาร พบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั่วไปในประเทศไทย รวมถึงแม่น้ำโขง เป็นปลาที่นิยมรับประทานกันในท้องถิ่นและมีการรวบรวมขายเป็นปลาสวยงาม

มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาแปบควายไทพัส (P. typus) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันตามรายงานของ ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ระบุไว้ว่า "เกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัวมี 75 แถว เกล็ดระหว่างจุดเริ่มต้นครีบหลังถึงเส้นข้างตัวมี 14 แถว และจากเส้นข้างตัวถึงกลางท้องมี 7 แถว เกล็ดระหว่างเส้นข้างตัวกับฐานครีบท้องมี 4 แถว เกล็ดที่หน้าครีบหลังถึงท้ายทอยมี 45 แถว ซี่กรองเหงือกของก้านเหงือกอันแรกมีจำนวน 30 ซี่ ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 20 ก้าน"[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Allen, D.J. (2011). "Paralaubuca harmandi". IUCN Red List of Threatened Species. 2011: e.T181299A7666830. doi:10.2305/IUCN.UK.2011-1.RLTS.T181299A7666830.en. สืบค้นเมื่อ 18 November 2021.
  2. "ท้องพลุ". พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. สืบค้นเมื่อ 27 December 2015.
  3. "Order CYPRINIFORMES: Family CYPRINIDAE (part 10 of 10)". The ETYFish Project. 20 September 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-12. สืบค้นเมื่อ 27 December 2015. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  4. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 264 หน้า. หน้า 132. ISBN 974-00-8701-9

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]