ข้ามไปเนื้อหา

ปลาอามาทัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาอามาทัส
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Characiformes
วงศ์: Cynodontidae
สกุล: Hydrolycus
สปีชีส์: H.  armatus
ชื่อทวินาม
Hydrolycus armatus
(Jardine, 1841)
ชื่อพ้อง
  • Hydrocyon armatus (Jardine, 1841)

ปลาอามาทัส (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydrolycus armatus) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาฟันสุนัข (Cynodontidae) ในอันดับปลาคาราซิน

รูปร่างคล้ายกับ ปลาสคอมบิรอยด์ (H. scomberoides) มาก ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกันมาก ต่างกันที่ปลาอามาทัสมีครีบทุกครีบเล็กกว่า และมีสีแดง ครีบไขมันสีส้มเข้ม หัวมีขนาดใหญ่กว่าและหักลง ไม่ชี้ขึ้นเหมือนปลาสคอมบีรอยด์ และลำตัวเป็นสีเหลืองทองในปลาขนาดเล็ก แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเงินวาวเมื่อปลามีขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากนี้แล้ว จุดเด่นที่สำคัญคืออีกประการหนึ่งคือ เมื่อปลาโตเต็มที่ เขี้ยวคู่ล่างที่กรามล่างจะยาวแหลมออกมาจากปากอย่างเห็นได้ชัดนับว่าเป็นปลาที่มีฟันเขี้ยวใหญ่และแหลมคมที่สุดสำหรับปลาในวงศ์นี้

ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 60-80 เซนติเมตร ซึ่งก็นับได้อีกว่าเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้

มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมเป็นฝูงในระดับกลางน้ำในปลาวัยเล็ก หากินโดยล่าปลาและกุ้งต่าง ๆ เป็นอาหาร และถึงแม้ว่าจะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าก็ตาม ก็สามารถใช้ปากและเขี้ยวที่แหลมคมนี้จับและกลืนกินได้ รวมถึงมีพฤติกรรมกินพวกเดียวกันเองด้วย[1]

พบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำอเมซอนและสาขา, ลุ่มแม่น้ำโอริโนโค รวมถึงแม่น้ำกายอานา

นิยมตกเป็นเกมกีฬา และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่ต้องนำเข้าจากอเมริกาใต้ จัดเป็นปลาที่มีราคาสูงชนิดหนึ่ง ในประเทศไทยมีชื่อเรียกปลาอามาทัสในแวดวงปลาสวยงามว่า "อามาทัสหางดำ" ทั้งนี้เพื่อมิให้สับสนกับปลาทาทูเอีย (H. tatauaia) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกันอีกชนิดหนึ่ง ที่มีความใกล้เคียงกันมาก ยิ่งโดยเฉพาะในปลาขนาดเล็ก ซึ่งปลาทาทูเอียจะถูกเรียกว่า "อามาทัสหางแดง" ทั้งนี้ เมื่อปลาทั้ง 2 ชนิดนี้เมื่อโตขึ้นจึงจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน กล่าวคือ ปลาอามาทัสจะมีครีบหางเป็นสีดำ ขณะที่ปลาทาทูเอียจะเป็นสีแดง อีกทั้ง การนำเข้าปลาในวงศ์นี้ในระยะแรกเริ่มจะสับสนจะปะปนกันมา ปลาอามาทัสจะถูกปะปนเข้ามาพร้อมกับปลาสคอมบิรอยด์และปลาทาทูเอีย แม้แต่ในต่างประเทศก็พบกรณีเช่นนี้ แต่เมื่อเลี้ยงในที่เลี้ยงแล้ว พบว่า ปลาอามาทัสมีนิสัยไม่ขี้ตกใจเหมือนปลาในวงศ์เดียวกันนี้ชนิดอื่น ๆ มีนิสัยที่ดุกว่า และเติบโตได้เร็วกว่า และมีราคาที่แพงกว่า[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Amazon Flesh Eaters". River Monsters. 10 May 2009. สืบค้นเมื่อ 4 April 2014.
  2. บทความเรื่อง Hydrolycus หมาป่าวารีแห่งอเมซอน VS Hydrocynus สุนัขน้ำแห่งแอฟริกา, หน้า 42-64 นิตยสาร Aquarium Biz Vol.1 ฉบับที่ 11 ประจำเดือนพฤษภาคม 2011

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]