ข้ามไปเนื้อหา

ปลาสิงโตปีก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาสิงโตปีก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Scorpaeniformes
วงศ์: Scorpaenidae
วงศ์ย่อย: Pteroinae
สกุล: Pterois
สปีชีส์: P.  volitans
ชื่อทวินาม
Pterois volitans
(Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง[1]
  • Scorpaena volitans (Linnaeus, 1758)
  • Brachirus zebra (Quoy & Gaimard, 1825)
  • Pterois zebra Quoy & Gaimard, 1825

ปลาสิงโตปีก หรือ ปลาสิงโตปีกจุด (อังกฤษ: Red lionfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pterois volitans /เท-โร-อิส-โว-ลิ-แทนส์/) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง จำพวกปลาสิงโต ในวงศ์ปลาแมงป่อง (Scorpaenidae)

มีครีบอกแผ่กว้างมีก้านครีบแข็งยื่นยาวออกไป และมีเยื่อยึดระหว่างก้านครีบ ครีบหางโค้งมน พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน มีจุดสีดำแต้มบนเยื่อยึดระหว่างก้านครีบอก ครีบหลังมีก้านครีบแข็งทั้งหมด 13 ก้าน ซึ่งแต่ละก้านสามารถเคลื่อนไหวเป็นอิสระ โดยมีครีบเป็นตัวยึดติดไว้ ในก้านครีบหลังมีบางก้านซึ่งมีเข็มพิษและภายในบรรจุถุงพิษ รวมถึงครีบอื่น ๆ เช่น ครีบก้น, ครีบอก ด้วย หากถูกแทงจะได้รับความเจ็บปวดมาก เมื่อแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อของผู้ที่โดนแทงจะก่อให้เกิดความปวดแสบปวดร้อน เพราะมีผลต่อระบบกล้ามเนื้อ ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เป็นอัมพาต หรืออัมพาตชั่วคราว รวมถึงเป็นแผลพุพองได้ด้วย

ขนาดโตเต็มที่สามารถยาวได้ถึง 47 เซนติเมตร (18.5 นิ้ว) ในขณะที่ยังเป็นปลาวัยอ่อนจะมีความยาวสั้นกว่า 1 นิ้ว (2.5 เซนติเมตร) มีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 10 ปี[2][3] [4]

เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนของอินโด-แปซิฟิก แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของน่านน้ำแถบอเมริกาเหนือและแคริบเบียน เช่น มหาสมุทรแอตแลนติก, ฟลอริดา และบาฮามาส แต่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามีการแพร่ระบาดข้ามคลองปานามาด้วยหรือไม่ เชื่อว่า มาจากการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติของการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยพบครั้งแรกเมื่อฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2002 โดยนักดำน้ำผู้หนึ่งที่ฟลอริดา

จากการสำรวจของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ปลาสิงโตปีกแพร่ระบาดแทบทุกแนวปะการัง โดยสามารถพบได้ในที่ ๆ มีความลึกได้ถึง 600-800 ฟุต[5] แต่โดยเฉลี่ยจะพบชุกชุมที่ความลึกไม่เกิน 200-400 ฟุต เป็นต้นเหตุทำให้ปลาขนาดเล็กซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นหลายชนิดหายไป เนื่องจากเป็นปลาที่กินอาหารได้จุมาก และแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว แม่ปลาหนึ่งตัวสามารถผลิตไข่ได้ถึงปีละ 2 ล้านฟอง และมีความสามารถสูงในการสืบพันธุ์ทุก ๆ 3-4 วัน ครั้งละนับแสนฟอง จนต้องมีการกำจัดด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาแพร่พันธ์มากจนเกินไป และไปทำลายระบบนิเวศ วิธีการกำจัดนั้นมีหลายวิธี รวมถึงการล่ามาเพื่อรับประทานเป็นอาหารของรัฐบาลบาฮามาสด้วย โดยในเริ่มแรกยังไม่มีผู้กล้ารับประทานเนื้อเพราะเกรงว่าจะมีพิษ แต่ความจริงแล้ว สามารถรับประทานได้ เนื้อปลามีความนุ่มอ่อนและมีรสชาติดี แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ

นอกจากนี้แล้ว ปลาสิงโตปีกยังเป็นอาหารที่ชื่นชอบของปลากินเนื้อขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลากะรัง ในขณะที่ปลาขนาดใหญ่บางจำพวก เช่น ปลาฉลาม กลับไม่กินเป็นอาหาร เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในท้องถิ่น[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จาก itis.gov สืบค้น. 23 ธันวาคม 2013
  2. Largest Lionfish Caught สืบค้น. 23 ธันวาคม 2013
  3. National Oceanic and Atmospheric Administration, National Centers for Coastal Ocean Science "Have You Seen Me?"
  4. Encyclopedia of Life (EOL). (2011, January 19). Retrieved 4 May 2011 from (http://eol.org)
  5. Cote, I.M., A. Maljkovie. 2010. Predation rates of Indo-Pacific lionfish on Bahamian coral reefs. Marine Ecology Progress Series 404:219-225.
  6. The Lion Fish, " The Conquerors". สารคดีทางแอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pterois volitans ที่วิกิสปีชีส์