ปลาน้ำจืด
ปลาน้ำจืด (อังกฤษ: Freshwater fish) หมายถึง ปลาที่อาศัยอยู่ได้ในเฉพาะแหล่งน้ำที่เป็นน้ำจืด คือ น้ำที่มีปริมาณเกลือหรือความเค็มละลายน้อยกว่าร้อยละ 00.5 เท่านั้น โดยอาศัยอยู่ในแม่น้ำ, คลอง พื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ ที่เป็นน้ำจืด เช่น ทะเลสาบน้ำจืด, บึง หนอง หรือลำธารน้ำตกบนภูเขาหรือในป่าดิบ
โดยโครงสร้างของปลาน้ำจืดนั้น จะมีแรงดันออสโมซิสในเลือดอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำที่อาศัยอยู่มาก จึงทำให้มีการไหลของน้ำเข้าสู่ร่างกายและเกลือแร่แพร่ออกสู่น้ำภายนอกได้ง่าย โดยไม่ให้น้ำซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายและออกจากร่างกายได้ แต่ทว่ากระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่ดีพอ เพราะเหงือกซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ปลาใช้หายใจมีน้ำไหลผ่าน เมื่อมีเหงือก น้ำก็มีโอกาสไหลผ่านเข้าสู่ภายในร่างกายได้ จึงกำจัดน้ำส่วนที่เกินที่ถูกดูดเข้าสู่ร่างกายออกสู่นอกร่างกายได้วิธีการขับถ่ายนำเอาปัสสาวะซึ่งมีความดันออสโมซิสต่ำกว่าเลือดออกสู่ภายนอกร่างกาย
ร่างกายส่วนใหญ่ของปลาน้ำจืดจะปกคลุมด้วยผิวหนังและเกล็ดซึ่งไม่ยอมให้น้ำซึมผ่านนอกจากบริเวณที่เป็นเหงือกแลกเปลี่ยนก๊าซหายใจเท่านั้นที่น้ำผ่านได้ และโดยธรรมชาติปลาน้ำจืดไม่ดื่มน้ำเลย ซึ่งแตกต่างจากปลาทะเล เพราะการดื่มน้ำจะทำให้ร่างกายมีน้ำมากเกินความจำเป็น ซึ่งจะมีน้ำบางส่วนไหลผ่านบริเวณปากและเหงือกเพื่อช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซหายใจก็จะมีโอกาสซึมเข้าไปในร่างกายได้บ้าง และเกลือแร่จากเลือดก็จะแพร่ออกมาทางเหงือกได้มากพอดู ปลาน้ำจืดจึงมีไตขับน้ำส่วนเกินออกไปเป็นปัสสาวะ และมีกลุ่มเซลล์พิเศษอยู่บริเวณเหงือกคอยดูดเอาเกลือแร่ต่าง ๆ ที่จำเป็นกลับสู่ร่างกาย[1]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ อวัยวะขับถ่ายของสัตว์ โดย ม.ร.ว.พุฒิพงศ์ วรวุฒิ จาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 4 ISBN 9749246039