ปลากระเบนชายธง
ปลากระเบนชายธง | |
---|---|
รูปวาดลำตัวด้านบน | |
ปลาในธรรมชาติ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับ: | Myliobatiformes |
วงศ์: | Dasyatidae |
สกุล: | Pastinachus |
สปีชีส์: | P. sephen |
ชื่อทวินาม | |
Pastinachus sephen (Forsskål , 1775) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลากระเบนชายธง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ปลากระเบนธง (อังกฤษ: Cowtail stingray; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pastinachus sephen) ปลากระเบนชนิดหนึ่ง ที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืด, น้ำกร่อย และทะเลได้ อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) มีรูปร่างเป็นทรงกึ่งสี่เหลี่ยมดูคล้ายชายธง จึงเป็นที่มาของชื่อ โดยความกว้างของลำตัวจะมีมากกว่าความยาวของลำตัวเสียอีก เมื่อมีขนาดเล็กผิวด้านบนจะเรียบ และผิวนี้จะขรุขระขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยมีตุ่มแข็งเล็ก ๆ ปกคลุมบริเวณกลางลำตัวจนถึงโคนหาง ตามีขนาดเล็ก หางยาว ปลายหางมีแผ่นริ้วหนังเห็นได้ชัดเจน มีเงี่ยงพิษ 2 ชิ้นที่ตอนกลางของส่วนหาง[2] สีลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ มีความกว้างโดยเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 1 เมตร พบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร และยาว 1.8 เมตร น้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัม
มีจุดเด่นคือ หางที่ยาวมาก โดยที่ความยาวของหางมีมากกว่าความยาวลำตัวถึง 2.5–3 เท่า ซึ่งเมื่อถูกจับ มักจะสะบัดหางด้วยความรุนแรงและเร็วเพื่อแทงเงี่ยงหางเพื่อป้องกันตัว เนื่องจากมีเงี่ยงที่อยู่ตอนกลางของส่วนหางด้วย จึงนับได้ว่ามีอันตรายกว่าปลากระเบนสกุลหรือชนิดอื่นทั่วไป ที่มีเงี่ยงอยู่ที่ส่วนโคนหาง[2]
พบกระจายพันธุ์บริเวณชายฝั่งทะเล หรือปากแม่น้ำอย่างกว้างขวาง โดยพบตั้งแต่ทวีปแอฟริกาตะวันออก, แอฟริกาเหนือ เช่น อียิปต์ และแอฟริกาใต้ เรื่อยไปจนถึงทะเลแดง, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงภูมิภาคไมโครนีเซีย และ ออสเตรเลีย รวมถึงญี่ปุ่น โดยมีรายงานพบที่แม่น้ำคงคา ประเทศอินเดีย ที่ห่างจากทะเลถึง 2,200 กิโลเมตร รวมถึงมีรายงานการพบตัวที่มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมที่คลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี ของประเทศไทย แต่พฤติกรรมในทะเลจะอาศัยอยู่ได้ลึกถึง 60 เมตร
สำหรับในประเทศไทย พบได้ในแหล่งน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำแม่กลองช่วงจังหวัดกาญจนบุรี และพบได้น้อยที่ทะเลสาบสงขลาตอนใน ในเขตจังหวัดพัทลุงและสงขลา [3][2]
มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ใช้เนื้อเป็นอาหารในต่างประเทศ และใช้หนังทำเป็นเครื่องหนัง เช่น กระเป๋า เป็นต้น และยังเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาป้อนอาหารให้ที่ชายหาดแถบทะเลแคริบเบียนด้วย[4]
เดิมปลากระเบนชายธงเคยถูกจำแนกให้มีเพียงชนิดเดียว แต่ปัจจุบันจากการศึกษาล่าสุดได้ถูกจำแนกออกเป็นถึง 5 ชนิด และในชนิด P. sephen นี้ เป็นปลาที่พบในแถบทะเลแดงและทะเลอาหรับ[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kyne, P.M., Jabado, R., Bineesh, K.K. & Spaet, J. 2017. Pastinachus sephen. The IUCN Red List of Threatened Species 2017: e.T70682503A109922153. https://dx.doi.org/10.2305/IUCN.UK.2017-2.RLTS.T70682503A109922153.en. Downloaded on 1 October 2017.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 หน้า 102-120, กระเบนน้ำจืดแห่งชาติ. "Wild Ambition" โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ชวลิต วิทยานนท์. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 51: กันยายน 2014
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-09-13.
- ↑ "2.Wild Caribbean-Reefs and Wrecks RoSub". BBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-20. สืบค้นเมื่อ 15 August 2015.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pastinachus sephen ที่วิกิสปีชีส์