นีเบอลุงเงินลีท
นีเบอลุงเงินลีท (เยอรมัน: Das Nibelungenlied) หรือ บทเพลงของนีเบอลุง เป็นบทกวีมหากาพย์ซึ่งเขียนขึ้นราว ค.ศ. 1200 เขียนในภาษาเยอรมันเก่าสมัยกลาง (Mittelhochdeutsch) เรียบเรียงจากเรื่องเล่าวีรตำนานเยอรมันแบบปากต่อปาก ซึ่งมีต้นกำเนิดบางส่วนจากเหตุการณ์และบุคคลในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 6 ก่อนที่จะแพร่ไปทั่วแผ่นดินยุโรปที่พูดภาษาเยอรมัน ในไอซ์แลนด์มีบทกวีเนื้อเรื่องคล้ายแต่เขียนด้วยสำนวนท้องถิ่นที่ชื่อมหากาพย์เวิลซุงงา (Völsunga saga)
มหากาพย์นีเบอลุงเงินลีทถูกแต่งเป็นบทประพันธ์ยาวบทละสี่บรรทัด เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นสองส่วน: ส่วนแรกประกอบด้วยโคลง 1142 บท กล่าวถึงตอนที่ซีกวร์ด (หรือซีคฟรีท) อัศวินผู้กล้า สามารถสังหารมังกรและได้ครอบครองมหาสมบัตินีเบอลุง ถูกวางยาเสน่ห์จนแต่งงานกับครีมฮิลด์ เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์บัวร์กุน ซีกวร์ดจับตัวบรึนฮิลเดอ ภรรยาคนแรกของเขามาถวายกษัตริย์กุนเทอร์ผู้เป็นพี่เขย แต่ต่อมา ซีกวร์ดถูกสังหารโดยฮาเกิน เสนาบดีของกษัตริย์กุนเทอร์ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างครีมฮิลด์และบรึนฮิลเดอ ทั้งสองแย่งชิงตำแหน่งมหาราชินี นำไปสู่สงครามระหว่างเครือญาติ
ส่วนที่สองประกอบด้วยโคลง 1236 บท กล่าวถึงการล้างแค้นของพระนางครีมฮิลด์และความหายนะของราชวงศ์บัวร์กุน ครีมฮิลด์สมรสใหม่กับกษัตริย์เอ็ทเซิลแห่งชาวฮั่น แล้วเชิญญาติวงศ์ฝั่งราชวงศ์บัวร์กุนมาร่วมงานเลี้ยง ก่อนที่จะสั่งทหารปิดทางเข้าออกห้องโถงและจุดไฟครอก ทุกคนเสียชีวิต หลังจากนั้น ครีมฮิลด์จึงฆ่ากษัตริย์กุนเทอร์และฮาเกิน อัศวินคนหนึ่งเห็นเหตุการณ์ก็รับไม่ได้จึงชักดาบสังหารครีมฮิลด์ เป็นอันจบบริบูรณ์
นีเบอลุงเงินได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในบทกวีเยอรมันที่ทรงอำนาจที่สุดของยุคกลาง[1] ถือเป็นกวีนิพนธ์ที่สำคัญยิ่งในเยอรมนี ออสเตรีย และยุโรปเหนือ[2] นอกจากนี้ยังถูกนำไปสร้างสรรค์นำเสนอใหม่ในหลายรูปแบบ ที่โด่งดังที่สุดก็คือผลงานอุปรากรชุด แหวนของนีเบอลุง ของริชชาร์ท วากเนอร์ ซึ่งแต่งเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1874 ต้นฉบับตัวเขียนของนีเบอลุงเงินลีทจำนวนสามฉบับได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโกเมื่อ ค.ศ. 2009[3]
นีเบอลุงเงินลีท ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2020 โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Garland, Henry; Garland, Mary (1997). "Nibelungenlied". The Oxford Companion to German Literature (3 ed.). Oxford and New York: Oxford University. ISBN 9780191727412.
- ↑ อำภา โอตระกูล. บทวิจารณ์หนังสือ มหากาพย์นิเบิลลุงเงิน นิยายอัศวินจากล่มุแม่น้ำไรน์. วารสารรามคำแหง ฉบับมนษุยศาสตร์ ปีที่ 38 ฉบับที่ 2
- ↑ UNESCO (2009). "Song of the Nibelungs, a heroic poem from mediaeval Europe". Memory of the World Register. สืบค้นเมื่อ 3 May 2018.