นิรันดร์ราตรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นิรันดร์ราตรี
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับวรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย
อำนวยการสร้างดรสะรณ โกวิทวณิชชา
โสรยา นาคะสุวรรณ
กำกับภาพวรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย
กอบบุญ ฉัตรไกรเสรี
ตัดต่อวรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย
ภาคภูมิ นันตาลิตร
บริษัทผู้สร้าง
วันฉาย23 มีนาคม พ.ศ. 2560
ความยาว69 นาที
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

นิรันดร์ราตรี คือ ภาพยนตร์สารคดีเชิงทดลองปี พ.ศ. 2560 กำกับโดยวรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เล่าเรื่องของสัมฤทธิ์ ชายผู้ทำหน้าที่ควบคุมการฉายภาพยนตร์ประจำโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและความสิ้นหวังในการดำเนินชีวิตหลังจากที่โรงภาพยนตร์ดังกล่าวปิดตัวลง

ที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากความผูกพันและความทรงจำที่ตัววรรจธนภูมิมีต่อประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในวัยเด็กและพื้นที่โรงภาพยนตร์เก่า รวมถึงความต้องการที่จะบันทึกภาพโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนในประเทศไทยเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับคนรุ่นต่อไป โดยในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาได้ใช้เวลา 3 ปีในการติดตามชีวิตของสัมฤทธิ์และอีก 1 ปีในการตัดต่อภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560 ในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยได้รับรางวัลสเปเชียลเมนชัน จากสายประกวดเน็กซ์:เวฟอวอร์ด ประจำเทศกาลดังกล่าว และเข้าฉายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมของปีเดียวกัน

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องของสัมฤทธิ์ ชายผู้ใช้เวลา 25 ปีทำหน้าที่เป็นผู้ฉายภาพยนตร์ประจำโรงภาพยนตร์ธนบุรีรามา ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพมหานครฯ เมื่อโรงภาพยนตร์แห่งนี้ปิดตัวลง เขาได้ผันตัวไปเป็นผู้ดูแลอาคารของโรงภาพยนตร์ร้างและใช้เวลาว่างไปกับหนังสือธรรมะ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเพื่อไปช่วยทำสวนยางร่วมกับครอบครัว และพบว่าความเชี่ยวชาญด้านการฉายภาพยนตร์ที่สั่งสมมา แทบไม่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตรูปแบบอื่นเลย

การผลิต[แก้]

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความผูกพันและความทรงจำที่วรรจธนภูมิ (ผู้กำกับภาพยนตร์) มีต่อการชมภาพยนตร์ร่วมกับครอบครัวในวัยเด็กและพื้นที่ของโรงภาพยนตร์เก่าที่เขาได้สัมผัส[1] และความต้องการที่จะบันทึกภาพบรรยากาศของโรงภาพยนตร์สแตนอโลนในประเทศไทย รวมถึงชีวิตและชะตากรรมของคนที่แวดล้อมโรงภาพยนตร์เหล่านั้นที่ค่อย ๆ จางหายไป เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แก่คนรุ่นต่อไป[2]

วรรจธนภูมิพัฒนาเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้จากภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นปี พ.ศ. 2558 ที่กำกับโดยตัวเขาเอง เรื่อง ยามเมื่อแสงดับลา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความทรงจำต่อโรงภาพยนตร์สแตนอโลนในกรุงเทพฯ ที่กำลังล่มสลาย[3] โดยในเบื้องต้น วรรจธนภูมิต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในรูปแบบของภาพยนตร์ทดลองขนาดสั้น ที่เล่าเรื่องโดยใช้เรื่องที่แต่งขึ้นมาจากความทรงจำเกี่ยวกับพ่อและแม่ของเขาเป็นหลัก แต่เมื่อเขาได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลตามโรงภาพยนตร์ทั่วกรุงเทพฯ เขาก็ได้พบกับสัมฤทธิ์ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่โรงภาพยนตร์ธนบุรีรามากำลังจะปิดกิจการพอดี ด้วยความสนิทสนมและความสนใจในตัวตนของสัมฤทธิ์ วรรจธนภูมิจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องของภาพยนตร์ให้กลายเป็นแบบสารคดี โดยมีสัมฤทธิ์เป็นซับเจกต์หลักของเรื่องแทน โดยใช้เวลาติดตามถ่ายทำชีวิตของสัมฤทธิ์เป็นเวลา 3 ปี และตัดต่ออีก 1 ปี[2]

สำหรับวิธีการนำเสนอภาพยนตร์เรื่องนี้ วรรจธนภูมิเลือกใช้การทดลองด้านภาพด้วยการผสมผสานระหว่างฟุตเตจภาพยนตร์เก่ากับฟุตเตจที่ถ่ายทำขึ้นมาใหม่เพื่อเล่าเรื่องและสื่อถึงความผูกพันที่บุคคลหนึ่งมีต่อภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์[3]

การเข้าฉาย[แก้]

นิรันดร์ราตรีเข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ในสายประกวดรางวัลเน็กซ์:เวฟ ของเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติโคเปนเฮเกน ณ ประเทศเดนมาร์ก[4] และเข้าฉายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ณ โรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ และวันที่ 31 สิงหาคมปีเดียวกัน ณ โรงภาพยนตร์เฮาส์[5] นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2560[6][7] และเทศกาลภาพยนตร์ไทเป ครั้งที่ 19 ณ ประเทศไต้หวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560[8]

ปี พ.ศ. 2563 นิรันดร์ราตรีได้รับเลือกจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้ฉายในโปรแกรม "La Scala ลา สกาลา" ร่วมกับภาพยนตร์เรื่อง Blowup (มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี, 1966) The Scala (อาทิตย์ อัสสรัตน์, 2559) และ Cinema Paradiso (จูเซปเป ตอร์นาโตเร, 1988) เมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2563 ณ โรงภาพยนตร์สกาลา กรุงเทพฯ เพื่อส่งท้ายโรงภาพยนตร์สกาลาก่อนปิดกิจการอย่างเป็นทางการ[9]

รางวัลและคำวิจารณ์[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลสเปเชียลเมนชัน จากสายประกวดเน็กซ์:เวฟอวอร์ด ประจำเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติโคเปนเฮเกน ประจำปี ค.ศ. 2017 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ณ ประเทศเดนมาร์ก[10] โดยเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเทศกาลดังกล่าวกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ด้วยการนำเสนอบางสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติไปพร้อมกับปรัชญาพุทธศาสนาว่าด้วยการเสื่อมสลายและการเปลี่ยนแปลง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงเรื่องของ "ภาพยนตร์" ได้อย่างไม่ธรรมดา[11]

นอกจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย เช่น ในงานวิจารณ์ของผู้ใช้นามปากกาว่า "คนมองหนัง" ได้กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวชีวิตของซับเจกต์ (สัมฤทธิ์) ได้อย่าง "สนุก มีอารมณ์ขัน น่าติดตาม แฝงอารมณ์เศร้าหม่นอยู่ลึก ๆ และละเอียดลออมากพอสมควร" โดยตัวภาพยนตร์มีองค์ประกอบที่น่าสนใจสองส่วน ได้แก่ 1) ความสามารถในการใช้ "แสง" ร่วมกับภาพเคลื่อนไหวได้อย่างยอดเยี่ยมของวรรจธนภูมิ จนทำให้เกิด "ภาวะภาพฝันอันแปลกประหลาดและเป็นปริศนา" ปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง และ 2) การเล่าเรื่องของซับเจกต์ด้วยวิธีการที่ไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป ทำให้ผู้ชมสามารถติดตามเรื่องราวได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม "คนมองหนัง" ก็มองว่า องค์ประกอบที่สองนี้เองที่ทำให้ภาพยนตร์ลดทอนเสน่ห์รวมถึงความซับซ้อนในชีวิตและการมองโลกของซับเจกต์ลงไป[12]

รางวัลที่ได้รับการเสนอชื่อ[แก้]

ปี รายการ รางวัล/สาขา ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ผล
พ.ศ. 2561 รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 26 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อายดร็อปเปอร์ฟิลล์ ได้รับการเสนอชื่อ
กำกับภาพยอดเยี่ยม วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และกอบบุญ ฉัตรไกรเสรี ได้รับการเสนอชื่อ
นักทำหนังหน้าใหม่ยอดเยี่ยม วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ได้รับการเสนอชื่อ
พ.ศ. 2560 เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติโคเปนเฮเกน ประจำปี ค.ศ. 2017 สเปเชียลเมนชัน/สายประกวดเน็กซ์:เวฟอวอร์ด ได้รับรางวัล

อ้างอิง[แก้]

  1. "ความสัมพันธ์ในนิรันดร์ราตรี". a day (ปีที่ 17 ฉบับที่ 203 ประจำเดือนกรกฎาคม 2560). น. 27
  2. 2.0 2.1 Chatrawee Sentanissak. "Work hard เพื่อเป็นตัวเอง เบสท์ Eyedropper Fill กับอุดมคติของเด็กข้างหน้าต่าง". The Matter. 11 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
  3. 3.0 3.1 Bioscope Magazine. "‘นิรันดร์ราตรี’ สารคดีทดลองโดยกลุ่ม Eyedropper Fill ได้รับเลือกเข้าประกวดในเทศกาล CPH:DOX เก็บถาวร 2017-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". MThai. 24 กุมภาพันธ์ 2560. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
  4. "A Variety of Shows for Various Events, Part 1 + Phantom of Illumination[ลิงก์เสีย]". CPH:DOX. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2560.
  5. นิรันดร์ราตรี/Phantom of Illumination. "แถลงการณ์ ผู้กำกับพบประชาชน". Facebook. 9 สิงหาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2560.
  6. Salaya Doc. "#SALAYADOC7 SCREENING PROGRAM". Facebook. 9 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
  7. Watsamon Kosawiwat. "หนังสารคดีน่าตามไปดูในเทศกาล ‘Salaya Doc 7’". The Matter. 15 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
  8. "Phantom of Illumination[ลิงก์เสีย]". 2017 Taipei Film Festival. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2560.
  9. "3-5 ก.ค.นี้ มาเก็บภาพประทับใจ พร้อมดูหนังอำลาสกาลา ‘ราชาโรงหนังแห่งสยาม’," มติชนออนไลน์. 27 มิถุนายน 2563. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2563.
  10. Guy Lodge. "'Last Men in Aleppo' Takes Top Prize at Copenhagen’s CPH:DOX Fest". Variety. 24 March 2017. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2560.
  11. Niels. "9 films are nominated for our new award for emerging filmmakers เก็บถาวร 2017-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". CPH:DOX. 21 February 2017. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2560.
  12. "รีวิวหนังสารคดี Salaya Doc: นิรันดร์ราตรี". คนมองหนัง. 27 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2560.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]