นกเงือกคอแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นกเงือกคอแดง
นกเงือกคอแดงตัวผู้ในฤดูผสมพันธุ์
นกเงือกคอแดงตัวเมียในเขตอภัยทาน Mahananda
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: นกเงือก
วงศ์: Bucerotidae
Gray, 1844
สกุล: Aceros
(Hodgson, 1829)[2]
สปีชีส์: Aceros nipalensis
ชื่อทวินาม
Aceros nipalensis
(Hodgson, 1829)[2]

นกเงือกคอแดง (อังกฤษ: Rufous-necked hornbill, Rufous-cheeked hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aceros nipalensis) นกเงือกชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในประเทศไทย

มีขนาดลำตัวยาว 116 เซนติเมตร ทั้งสองเพศมีลักษณะแตกต่างกัน ตัวผู้มีส่วนหัว คอและหน้าอกส่วนบนสีสนิมเหล็ก หน้าอกส่วนล่างสีน้ำตาลแดง อันเป็นที่มาของชื่อเรียก หลังส่วนล่างและปีกสีดำเหลือบเขียว ขนปีกบินตอนปลายสีขาว หางยาวสีดำขาว ม่านตาสีแดง แผ่นหนังรอบตาสีฟ้าอมเขียวสดใส ถุงใต้คอสีแดงอมส้ม จะงอยปากสีขาวออกเหลืองเรื่อ ๆ ด้านข้างมีสันนูนขึ้นเป็นแนวเฉียงจำนวน 8 อัน ส่วนนกตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า ขนบนลำตัวสีดำโดยตลอด

นกเงือกคอแดง ได้ชื่อว่าเป็นนกเงือกชนิดที่มีความสวยงามที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะมีสีที่แตกต่างไปจากนกเงือกชนิดอื่นที่มีสีแค่สองสี คือ สีขาวกับสีดำ[3]

นกตัวผู้ขณะป้อนอาหารให้ลูกนกและนกตัวเมียในโพรง

นกเงือกคอแดง เป็นนกที่จะพบกระจายพันธุ์เฉพาะป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 800-2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล พบตั้งแต่เนปาล, จีนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้, พม่า, ภาคเหนือของลาวและเวียดนามตอนเหนือ ในประเทศไทยพบได้ในเขตผืนป่าตะวันตก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง, อุทยานแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ [3] มีพฤติกรรมหากินผลไม้บนระดับเรือนยอดของป่า บางครั้งพบกระโดดเก็บผลไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นดิน เสียงร้องคล้ายเสียงเห่าของสุนัข ในประเทศไทยพบทำรังวางไข่ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม นกเงือกทำรังบนโพรงไม้สูงราว 10-30 เมตร จากพื้นดิน นกตัวเมียจะปิดโพรงจากภายในโดยใช้มูล เศษผลไม้และอาหารที่นกสำรอกออกมาผสมกันดินโคลนที่นกตัวผู้นำมา วางไข่สีขาวครั้งละ 2 ฟอง ระยะฟักไข่ประมาณ 30 วัน นอกฤดูผสมพันธุ์นกเงือกคอแดงจะอยู่กันเป็นคู่ ๆ หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ 4-5 ตัว[4]

นกเงือกคอแดง จัดเป็นนกเงือกอีกชนิดหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ เพราะต้องการป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากในการอยู่อาศัยและแพร่ขยายพันธุ์ ในประเทศไทย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเช่นเดียวกับนกเงือกชนิดอื่น ๆ[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 BirdLife International (2020). "Aceros nipalensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T22682510A176267243. สืบค้นเมื่อ 26 January 2022.
  2. Hodgson, B. H. (1833). "On a new species of Buceros". Asiatic Researches. 18 (2): 178–186.
  3. 3.0 3.1 "ลมหายใจสุดท้ายของ 'ป่าแม่วงก์'....!". ไทยรัฐ. 7 February 2013. สืบค้นเมื่อ 31 December 2013.
  4. "นกเงือกคอแดง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-10. สืบค้นเมื่อ 2013-09-21.
  5. สัตว์ป่าคุ้มครอง จากมูลนิธิโลกสีเขียว

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]