นกกะปูด
นกกะปูด | |
---|---|
นกกะปูดใหญ่ (Centropus sinensis) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Cuculiformes |
วงศ์: | Cuculidae |
วงศ์ย่อย: | Centropodinae Horsfield, 1823 |
สกุล: | Centropus Illiger, 1811 |
ชนิดต้นแบบ | |
Centropus senegalensis L. (1766) | |
ชนิด | |
| |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
นกกะปูด (อังกฤษ: Coucals, Crow pheasants[2]) เป็นนกสกุลหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Centropodinae ในวงศ์นกคัคคู (Cuculidae) โดยใช้ชื่อสกุลว่า Centropus แต่มิใช่นกปรสิตเหมือนนกชนิดอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกัน โดยเป็นนกเพียงวงศ์เดียวและสกุลเดียว[1]
นกกะปูด จัดเป็นนกขนาดกลาง มีลำตัวเพรียวยาว ลักษณะคล้ายกา มีความยาวประมาณ 35.50 เซนติเมตร ปากสีดำแหลมสั้นหนาแข็งแรง ตาสีแดง หัวและคอ และลำตัวสีดำ ปีกสั้นสีน้ำตาลแดง ขายาวสีดำ นิ้วตีนและเล็บยาวแข็งแรง สามารถจับเหยื่อ เกาะยึดเหนียวไต่แทรกไปตามพงหญ้า, ต้นไม้ หรือ พุ่มไม้หนาทึบได้อย่างคล่องแคล่ว หางยาวประมาณ 15–25 เซนติเมตร หนังหนาเหนียวสีดำ
นกกะปูด ได้ชื่อมาจากเสียงร้อง "ปูด ๆ ๆ ๆ ๆ" อันเป็นเอกลักษณ์ มักอาศัยอยู่ในพุ่มไม้ใกล้ชายน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ มีพฤติกรรมออกกินในตอนเช้าและตอนเย็น เมื่อตกใจแทนที่จะบินหนีเหมือนนกชนิดอื่น แต่กลับวิ่งหัวซุกหัวซุนเข้าซ่อนเร้นอยู่ในพุ่มไม้รกใกล้ ๆ บริเวณนั้น เมื่อจวนตัวจึงบินหนี นกกะปูดกินอาหารได้แก่ กบ, เขียด, หนู, อึ่งอ่าง, ปู, กุ้ง, หอย และปลา โดยหากินตามท้องนาหรือชายน้ำ แต่อาหารที่ชอบที่สุด คือ งู ทำรังอยู่ตามพงหญ้ารกตามริมน้ำ เช่น อ้อ หรือแขม วางไข่ครั้งหนึ่งราว 2 ถึง 6 ฟอง ตัวผู้กับตัวเมียจะผลัดเปลี่ยนกันฟักไข่[3]
นกกะปูด กระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไปทั้งทวีปเอเชียและแอฟริกา แบ่งออกเป็น 30 ชนิด ได้แก่[1]
การจำแนก
[แก้]- Centropus andamanensis Beavan, 1867 – นกกะปูดอันดามัน
- Centropus anselli Sharpe, 1874 – นกกะปูดกาบอง
- Centropus ateralbus Lesson, 1826 – นกกะปูดลาย
- Centropus bengalensis (Gmelin, 1788) – นกกะปูดเล็ก
- Centropus bernsteini Schlegel, 1866 – นกกะปูดปากดำ
- Centropus celebensis Quoy & Gaimard, 1830 – นกกะปูดอ่าว
- Centropus chalybeus (Salvadori, 1876) – นกกะปูดจะงอย
- Centropus chlororhynchos Blyth, 1849 – นกกะปูดปากเขียว
- Centropus cupreicaudus Reichenow, 1896 – นกกะปูดหางทองแดง
- Centropus goliath Bonaparte, 1850 – นกกะปูดโกไลแอท
- Centropus grillii Hartlaub, 1861 – นกกะปูดดำ
- Centropus leucogaster (Leach, 1814) – นกกะปูดคอดำ
- Centropus melanops Lesson, 1830 – นกกะปูดหน้าดำ
- Centropus menbeki Lesson & Garnot, 1828 – นกกะปูดปากสีงาช้าง
- Centropus milo Gould, 1856 – นกกะปูดหัวควาย
- Centropus monachus Ruppell, 1837 – นกกะปูดหัวน้ำเงิน
- Centropus nigrorufus (Cuvier, 1816) – นกกะปูดซุนดา
- Centropus phasianinus (Latham, 1802) – นกกะปูดพิราบ
- Centropus rectunguis Strickland, 1847 – นกกะปูดนิ้วสั้น
- Centropus senegalensis (Linnaeus, 1766) – นกกะปูดเซเนกัล
- Centropus sinensis (Stephens, 1815) – นกกะปูดใหญ่
- Centropus spilopterus Gray, 1858 – นกกะปูดไค
- Centropus steerii Bourns & Worcester, 1894 – นกกะปูดหลังหัวดำ
- Centropus superciliosus Hemprich & Ehrenberg, 1829 – นกกะปูดคิ้วขาว
- Centropus toulou (Statius Muller, 1776) – นกกะปูดมาลากาซี่
- Centropus unirufus (Cabanis & Heine, 1863) – นกกะปูดรูฟัส
- Centropus violaceus Quoy & Gaimard, 1830 – นกกะปูดสีม่วง
- Centropus viridis (Scopoli, 1786) – นกกะปูดฟิลิปปิน
สำหรับในประเทศไทย พบ 2 ชนิด คือ นกกะปูดใหญ่ และนกกะปูดเล็ก ซึ่งพบได้ทุกจังหวัด และอาจจะพบนกกะปูดนิ้วสั้น ที่เป็นนกพลัดหลง หายากได้อีกด้วย[3][4]
ในวัฒนธรรม
[แก้]นกกะปูด ในวัฒนธรรมความเป็นอยู่พื้นบ้านของชาวไทย เมื่อนกกะปูดร้องในเวลาเช้าและเวลาเย็น อีกทั้งร้องเป็นเวลาคล้ายบอกโมงยาม ซึ่งตรงกับเวลาน้ำขึ้น ผู้คนในสมัยโบราณ จึงฟังเสียงนกกะปูดเป็นสัญญาณบอกเวลา เรียกกันว่า "ยามนกกะปูด" ได้แก่ ร้องครั้งที่ 1 เรียกว่า ยามหนึ่ง (ราว 01.00 น.) ร้องครั้งที่ 2 เรียกว่า ยามสอง (ราว 02.00 น.) ร้องครั้งที่ 3 เรียกว่า ยามสาม (ราว 03.00 น.) ร้องครั้งที่ 4 เรียกว่า ยามสี่ (ราว 04.00 น.)[3]
นอกจากนี้แล้วจากเสียงร้อง คำว่า "นกกะปูด" ยังเป็นภาษาปากในภาษาไทย หมายถึง คนที่เก็บรักษาความลับไว้ไม่อยู่[5] และยังถูกอ้างอิงถึงในเพลง น้ำลงนกร้อง ซึ่งเป็นเพลงลูกทุ่งประกอบภาพยนตร์ไทยเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2513 ที่มีเนื้อร้องว่า
นกกะปูดตาแดง น้ำแห้งก็ตาย
นอกจากนี้แล้ว นกกะปูด ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น "นกปูด", "นกกดปูด" หรือ "นกกด"[7] เป็นต้น[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "Centropus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ 2.0 2.1 ปูด จากสนุกดอตคอม
- ↑ 3.0 3.1 3.2 กะปูด คำแปล2 จากสนุกดอตคอม
- ↑ Walters, Michael P. (1980). Complete Birds of the World. David & Charles PLC. ISBN 0715376667.
- ↑ นกกะปูด (ปาก) น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ ตอบ Tag เพลงลูกทุ่งต้อนรับเดือนแห่งความรัก ด้วย"นกกะปูดตาแดงน้ำแห้งก็ตาย"...ปูด ปูด ปูด
- ↑ "วิเคราะห์คอลัมนิสต์ 19 02 58". ฟ้าวันใหม่. 19 February 2015. สืบค้นเมื่อ 20 February 2015.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Centropus ที่วิกิสปีชีส์