ตั้งเต
ตั้งเต เป็นการละเล่นชนิดหนึ่งที่ผู้เล่นจะต้องโยนหินหรือวัตถุขนาดเล็กที่รูปร่างคล้ายกัน ลงในตารางที่วาดบนพื้นซึ่งประกอบไปด้วยช่องต่าง ๆ โดยจะมีตัวเลขเขียนอยู่ภายในแต่ละช่อง จากนั้นกระโดดไปตามช่อง แล้วหยิบหินหรือวัตถุที่ผู้เล่นได้โยนลงในช่องตารางไปเมื่อตอนแรก[1] สามารถเล่นหลายคนหรือเล่นเพียงคนเดียวก็ได้
ตารางและกติกา
[แก้]ตาราง
[แก้]ในการเล่นตั้งเต ขั้นแรกจะต้องจัดเตรียมตารางบนพื้นสำหรับใช้ในการเล่นก่อน โดยอาจใช้วิธีขุดตารางในดิน หรือวาดด้วยชอล์กบนทางเท้า ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นผิวของบริเวณที่ต้องการจะเล่น โดยตารางตั้งเตนี้อาจสร้างแบบถาวรในสถานที่ที่มักจะมีการสร้างสนามเด็กเล่นไว้ อย่างเช่นในโรงเรียนประถม การออกแบบตารางนั้นมีหลายรูปแบบแตกต่างกัน แต่โดยปกติแล้วมักประกอบไปด้วยช่องสี่เหลี่ยมต่อกันยาวเป็นเส้น สลับด้วยช่องสี่เหลี่ยมสองช่องที่อยู่ข้างกัน โดยเดิมทีแล้วจะให้ช่องสุดท้ายในตารางเป็นช่อง "หยุด" หรือช่อง "พัก" เพื่อให้ผู้เล่นหันหลังกลับเพื่อกระโดดย้อนกลับไปช่องเริ่มต้น โดยช่องหยุดนี้อาจเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือครึ่งวงกลม จากนั้นจึงเขียนตัวเลขเป็นลำดับลงในแต่ละช่องที่ผู้เล่นจะต้องกระโดด
การเล่น
[แก้]ผู้เล่นคนแรกจะต้องโยนหินหรืิอวัตถุขนาดเล็กที่รูปร่างคล้ายกัน ลงในช่องสี่เหลี่ยมช่องแรกโดยไม่ให้กลิ้งหรือกระเด็นออกไปจากช่อง และต้องไม่สัมผัสเส้นขอบของช่อง[3] จากนั้นผู้เล่นก็จะต้องกระโดดเขย่งข้ามแต่ละช่องไปเรื่อย ๆ โดยหากมีช่องสี่เหลี่ยมเพียงช่องเดียว ผู้เล่นจะต้องกระโดดเขย่งด้วยขาเพียงข้างเดียวเท่านั้น ยกเว้นช่องแรกที่ใช้ขาทั้งสองข้างได้ และในช่องที่มีสี่เหลี่ยมอยู่ข้างกันสองช่อง ผู้เล่นจะต้องวางขาทั้งสองข้าง โดยให้ข้างซ้ายอยู่ในช่องซ้าย และข้างขวาอยู่ในช่องขวา สำหรับช่อง "หยุด" หรือช่อง "พัก" นั้น ผู้เล่นสามารถกระโดดอย่างไรก็ได้โดยไม่ถือว่าผิดกติกา โดยเมื่อกระโดดลงในช่อง "หยุด" หรือช่อง "พัก" นี้แล้ว ผู้เล่นจะต้องหันหลังกลับและกระโดดย้อนกลับไปเรื่อย ๆ โดยใช้ขาข้างเดียวหรือสองข้างโดยดูจากช่องสี่เหลี่ยมในตาราง ไปยังช่องที่ผู้เล่นโยนหินหรือก้อนวัตถุไว้เมื่อตอนแรก โดยเมื่อมาถึงช่องสุดท้ายก่อนถึงช่องที่โยนหินไว้ ให้หยุดกระโดดที่ช่องนั้น[4][5][6] แล้วโน้มตัวลงไปหยิบหินดังกล่าวขึ้นมา จากนั้นจึงค่อยกระโดดข้ามมาที่ช่องนั้น โดยห้ามสัมผัสเส้นขอบหรือเหยียบเข้าไปในช่องที่มีหินของผู้เล่นคนอื่นอยู่
เมื่อเล่นจบแล้ว ผู้เล่นสามารถเล่นรอบถัดไปได้โดยโยนหินลงในช่องที่สอง แล้วเล่นซ้ำด้วยวิธีเดิม
ถ้าผู้เล่นเหยียบเส้นขอบ กระโดดไม่โดนช่อง หรือทรงตัวไม่ได้ ก็จะแพ้ในรอบนั้น และจะต้องเล่นในรอบถัดไปโดยโยนหินลงในช่องที่ตนแพ้และกระโดดต่อโดยเริ่มจากช่องนั้น ผู้เล่นคนแรกที่สามารถกระโดดโดนครบทุกช่องในตารางจะเป็นผู้ชนะ
ถึงแม้ว่าในการเล่นมักจะใช้วิธีหยิบหินขึ้นมา แต่ในอดีต ถ้าผู้เล่นเป็นผู้ชาย มักจะใช้วิธีเตะหินกลับมาในแต่ละช่องในระหว่างที่ผู้เล่นกระโดดกลับมา จากนั้นจึงเตะออกไปจากตาราง[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Definition of HOPSCOTCH". Merriam-Webster (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 15 March 2022.
a child's game in which a player tosses an object (such as a stone) into areas of a figure outlined on the ground and hops through the figure and back to regain the object
- ↑ Beard, D.C. (1907). The Outdoor Handy Book: For the Playground, Field, and Forest. New York: Charles Scribner's Sons. pp. 356–357.
- ↑ How To Play Hopscotch: Learn the Basic Rules and Five Variations Parents Magazine https://www.parents.com/fun/activities/hopscotch/
- ↑ "Hopscotch". สืบค้นเมื่อ 2017-04-24.
- ↑ "Hopscotch". kidspot. NewsLifeMedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-25. สืบค้นเมื่อ 2017-04-24.
- ↑ "Hopscotch Game". Fun Games Kids Play. สืบค้นเมื่อ 2017-04-24.
The two basic rules to remember - 1. Players can only have 1 foot in each square of the hopscotch board at a time. 2. Players have to hop over the square with the rock in it.
- ↑ Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 13 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 687.