ดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัล
ดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัล (สเปน: Dolmen de Guadalperal) หรือที่รู้จักในชื่อ สโตนเฮนจ์แห่งสเปน จากลักษณะที่คล้ายคลึงกับสโตนเฮนจ์ของอังกฤษ[1] เป็นอนุสรณ์สถานหินตั้ง (อนุสรณ์สถานหินใหญ่) ที่มีอายุย้อนไปได้ถึงช่วง 4,000 ถึง 5,000 ปีก่อน[2] ตั้งอยู่ในเมืองเปราเลดาเดลามาตา ในภูมิภาคกัมโปอารัญญูเอโล ทางตะวันออกของแคว้นเอซเตรมาดูรา ประเทศสเปน กลุ่มหินตั้งที่พบจมอยู่ภายในพื้นที่น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำบัลเดกัญญัส แม่น้ำตาโฆ และสามารถเห็นได้เฉพาะเมื่อระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงมากพอเท่านั้น
ลักษณะและประวัติ
[แก้]ดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัลประกอบด้วยแท่งหินแกรนิต 150 ก้อน เรียกว่า หินตั้ง (ออร์โธสแตท) วางเรียงในแนวตั้งเพื่อสร้างโถงรูปไข่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร (16 ฟุต) โถงนี้อยู่ตรงกลางภายในแอ่งของกองเนินดินและกรวดขนาดใหญ่รูปวงกลม โดยเจาะช่องทางเดินเข้าถึงโถงที่ความสูงระดับเดียวกับพื้นโถงซึ่งยาวประมาณ 21 เมตร (69 ฟุต) และกว้าง 1.4 เมตร (4.6 ฟุต) ที่ปลายสุดของทางเดินตรงทางเข้าโถงมีหินตั้งเดี่ยว (menhir) สูงประมาณ 2 เมตรซึ่งมีภาพสลักรูปงูและถ้วยหลายใบ ภาพสลักเหล่านี้อาจใช้เป็นสัญลักษณ์ของการคุ้มครองอนุสรณ์สถานนี้ ภายนอกโถงและกองเนินดินกรวดล้อมรอบด้วยวงแหวนวงกลมแคบ ๆ อีกชั้น ซึ่งลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนี้เป็นโครงสร้างที่พบได้ทั่วไปในทางตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรีย
จากการวิจัยล่าสุดพบว่า ภาพแกะสลักบนหินตั้งเดี่ยวที่สลักเป็นลายเส้นคดโค้งยาวจากบนลงล่าง เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แทนของรูปทรงของแม่น้ำตาโฆที่ไหลผ่านพื้นที่[3][4]
อนุสรณ์สถานนี้ได้รับการค้นพบใน ค.ศ. 1926 ภายใต้ช่วงโครงการวิจัยและสำรวจขุดค้นที่นำโดยฮูโก โอเบอร์ไมเออร์ (Hugo Obermaier) นักโบราณคดีชาวเยอรมัน ระหว่าง ค.ศ. 1925–1927 อนุสรณ์สถานนี้อาจเป็นสุริยสถานหรืออาจใช้เป็นที่ฝังศพอีกด้วย ยังมีการพบซากจากวัฒนธรรมโรมัน ได้แก่ เหรียญ เศษเซรามิก และหินเจีย ในลักษณะที่บ่งบอกว่าในเวลานั้นสิ่งของเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยจากการปล้นสะดม พบขวาน 11 ชิ้น, เซรามิก, มีดหิน และค้อนตีขึ้นรูปเครื่องทองแดงในหลุมขยะที่อยู่ใกล้ ๆ นอกจากนี้ยังพบนิคมที่น่าจะมีข่วงอายุเดียวกับการก่อสร้างและสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่พักอาศัยของผู้สร้างอนุสรณ์สถานนี้ โอเบอร์ไมเออร์ค้นพบบ้านเรือน คราบถ่านและขี้เถ้า เครื่องปั้นดินเผา แท่นสี และหินลับขวาน[5]
ใน ค.ศ. 1963 การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบัลเดกัญญัสทำให้ระดับน้ำสูงท่วมดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัล จึงสามารถมองเห็นดอลเมนได้ก็ต่อเมื่อระดับน้ำลดต่ำเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสภาพภัยแล้งในช่วงฤดูร้อนของทศวรรษที่ผ่านมา ระดับน้ำที่ลดลงอย่างมากได้เปิดเผยให้เห็นได้ดอลเมนนี้หลายครั้ง
การจมอยู่ภายใต้น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออนุสรณ์สถานที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ จากการกัดเซาะผิวของหินรวมทั้งภาพแกะสลักเหล่านั้น คณะวิจัยของโอเบอร์ไมเออร์ได้จำลองภาพแกะสลักซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1960 โดยเกออร์คและเวรา ไลส์เนอร์ นักโบราณคดีชาวเยอรมัน ในปัจจุบันสมาคมราอิเซสแห่งเปราเลดา (Raíces de Peraleda association; สมาคมรากแห่งเปราเลดา) กำลังเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสภาพเนื่องจากการเสื่อมสภาพที่สังเกตได้ชัด
โครงสร้างของดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัลได้รับการเผยให้เห็นได้อย่างครบสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019 จากภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาในช่วงฤดูแล้ง โดยเผยให้เห็นหินนับได้ทั้งหมด 150 ก้อน[6][7][8][9][10][11]
-
การเผยให้เห็นบางส่วนของดอลเมนในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 2012
-
ด้านหน้าของหินตั้งเดี่ยวที่มีรูปสลัก (ขวาสุด)
-
ภาพสลักลายเส้นคดโค้งบนหินตั้งเดี่ยว (กลางซ้าย) เชื่อว่าสอดคล้องกับทิศทางกระแสน้ำของแม่น้ำตาโฆ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "El Stonehenge español sale a flote: tiene 4.000 años y Franco lo sumergió en un embalse". El Español. 22 สิงหาคม 2019.
- ↑ Enrique Cerrillo-Cuenca; José Juan De Sanjosé Blasco; Primitiva Bueno Ramírez; และคณะ (17 กันยายน 2021). "Emergent heritage: the digital conservation of archaeological sites in reservoirs and the case of the Dolmen de Guadalperal (Spain)". Heritage Science. 9 (114). doi:10.1186/s40494-021-00590-5.
- ↑ "r/Archaeology - Guadalperal Dolmen (Spain) - possible map carved in a menhir". reddit (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Martinez, Marta Rodriguez (28 สิงหาคม 2019). "Exceptional drought uncovers 5,000-year-old 'Spanish Stonehenge'". euronews (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "El Dolmen de Guadalperal". 5 พฤศจิกายน 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Ciaccia, Chris (23 กันยายน 2019). "'Spanish Stonehenge' revealed after spending decades under water". Fox News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
- ↑ Observatory, NASA Earth (24 กันยายน 2019). "Dolmen of Guadalperal". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
- ↑ "'Spanish Stonehenge' revealed after spending decades underwater". www.msn.com. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
- ↑ Martinez, Marta Rodriguez (28 สิงหาคม 2019). "Exceptional drought uncovers 5,000-year-old 'Spanish Stonehenge'". euronews (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
- ↑ Aristos Georgiou (19 กันยายน 2019). "NASA spots "Spanish Stonehenge" from space after drought reveals lost megalith monument after 50 years underwater". Newsweek (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
- ↑ Villa González, A. J. (2022). "The Guadalperal Dolmen (Cáceres, Spain). Archaeological and heritage protection interventions on an artificially submerged archaeological site which resurfaces". Internet Archaeology (60). doi:10.11141/ia.60.4.