ดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัล

พิกัด: 39°50′8.65″N 5°24′16.13″W / 39.8357361°N 5.4044806°W / 39.8357361; -5.4044806
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัลที่เผยให้เห็นอย่างครบสมบูรณ์ในช่วงที่ระดับน้ำของอ่างเก็บน้ำบัลเดกัญญัสลดลงต่ำ

ดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัล (สเปน: Dolmen de Guadalperal) หรือที่รู้จักในชื่อ สโตนเฮนจ์แห่งสเปน จากลักษณะที่คล้ายคลึงกับสโตนเฮนจ์ของอังกฤษ[1] เป็นอนุสรณ์สถานหินตั้ง (อนุสรณ์สถานหินใหญ่) ที่มีอายุย้อนไปได้ถึงช่วง 4,000 ถึง 5,000 ปีก่อน[2] ตั้งอยู่ในเมืองเปราเลดาเดลามาตา ในภูมิภาคกัมโปอารัญญูเอโล ทางตะวันออกของแคว้นเอซเตรมาดูรา ประเทศสเปน กลุ่มหินตั้งที่พบจมอยู่ภายในพื้นที่น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำบัลเดกัญญัส แม่น้ำตาโฆ และสามารถเห็นได้เฉพาะเมื่อระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงมากพอเท่านั้น

ลักษณะและประวัติ[แก้]

ดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัลประกอบด้วยแท่งหินแกรนิต 150 ก้อน เรียกว่า หินตั้ง (ออร์โธสแตท) วางเรียงในแนวตั้งเพื่อสร้างโถงรูปไข่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร (16 ฟุต) โถงนี้อยู่ตรงกลางภายในแอ่งของกองเนินดินและกรวดขนาดใหญ่รูปวงกลม โดยเจาะช่องทางเดินเข้าถึงโถงที่ความสูงระดับเดียวกับพื้นโถงซึ่งยาวประมาณ 21 เมตร (69 ฟุต) และกว้าง 1.4 เมตร (4.6 ฟุต) ที่ปลายสุดของทางเดินตรงทางเข้าโถงมีหินตั้งเดี่ยว (menhir) สูงประมาณ 2 เมตรซึ่งมีภาพสลักรูปงูและถ้วยหลายใบ ภาพสลักเหล่านี้อาจใช้เป็นสัญลักษณ์ของการคุ้มครองอนุสรณ์สถานนี้ ภายนอกโถงและกองเนินดินกรวดล้อมรอบด้วยวงแหวนวงกลมแคบ ๆ อีกชั้น ซึ่งลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนี้เป็นโครงสร้างที่พบได้ทั่วไปในทางตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรีย

จากการวิจัยล่าสุดพบว่า ภาพแกะสลักบนหินตั้งเดี่ยวที่สลักเป็นลายเส้นคดโค้งยาวจากบนลงล่าง เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แทนของรูปทรงของแม่น้ำตาโฆที่ไหลผ่านพื้นที่[3][4]

อนุสรณ์สถานนี้ได้รับการค้นพบใน ค.ศ. 1926 ภายใต้ช่วงโครงการวิจัยและสำรวจขุดค้นที่นำโดยฮูโก โอเบอร์ไมเออร์ (Hugo Obermaier) นักโบราณคดีชาวเยอรมัน ระหว่าง ค.ศ. 1925–1927 อนุสรณ์สถานนี้อาจเป็นสุริยสถานหรืออาจใช้เป็นที่ฝังศพอีกด้วย ยังมีการพบซากจากวัฒนธรรมโรมัน ได้แก่ เหรียญ เศษเซรามิก และหินเจีย ในลักษณะที่บ่งบอกว่าในเวลานั้นสิ่งของเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยจากการปล้นสะดม พบขวาน 11 ชิ้น, เซรามิก, มีดหิน และค้อนตีขึ้นรูปเครื่องทองแดงในหลุมขยะที่อยู่ใกล้ ๆ นอกจากนี้ยังพบนิคมที่น่าจะมีข่วงอายุเดียวกับการก่อสร้างและสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่พักอาศัยของผู้สร้างอนุสรณ์สถานนี้ โอเบอร์ไมเออร์ค้นพบบ้านเรือน คราบถ่านและขี้เถ้า เครื่องปั้นดินเผา แท่นสี และหินลับขวาน[5]

ใน ค.ศ. 1963 การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบัลเดกัญญัสทำให้ระดับน้ำสูงท่วมดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัล จึงสามารถมองเห็นดอลเมนได้ก็ต่อเมื่อระดับน้ำลดต่ำเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสภาพภัยแล้งในช่วงฤดูร้อนของทศวรรษที่ผ่านมา ระดับน้ำที่ลดลงอย่างมากได้เปิดเผยให้เห็นได้ดอลเมนนี้หลายครั้ง

การจมอยู่ภายใต้น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออนุสรณ์สถานที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ จากการกัดเซาะผิวของหินรวมทั้งภาพแกะสลักเหล่านั้น คณะวิจัยของโอเบอร์ไมเออร์ได้จำลองภาพแกะสลักซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1960 โดยเกออร์คและเวรา ไลส์เนอร์ นักโบราณคดีชาวเยอรมัน ในปัจจุบันสมาคมราอิเซสแห่งเปราเลดา (Raíces de Peraleda association; สมาคมรากแห่งเปราเลดา) กำลังเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสภาพเนื่องจากการเสื่อมสภาพที่สังเกตได้ชัด

โครงสร้างของดอลเมนแห่งกัวดัลเปรัลได้รับการเผยให้เห็นได้อย่างครบสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019 จากภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาในช่วงฤดูแล้ง โดยเผยให้เห็นหินนับได้ทั้งหมด 150 ก้อน[6][7][8][9][10][11]

อ้างอิง[แก้]

  1. "El Stonehenge español sale a flote: tiene 4.000 años y Franco lo sumergió en un embalse". El Español. 22 สิงหาคม 2019.
  2. Enrique Cerrillo-Cuenca; José Juan De Sanjosé Blasco; Primitiva Bueno Ramírez; และคณะ (17 กันยายน 2021). "Emergent heritage: the digital conservation of archaeological sites in reservoirs and the case of the Dolmen de Guadalperal (Spain)". Heritage Science. 9 (114). doi:10.1186/s40494-021-00590-5.
  3. "r/Archaeology - Guadalperal Dolmen (Spain) - possible map carved in a menhir". reddit (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. Martinez, Marta Rodriguez (28 สิงหาคม 2019). "Exceptional drought uncovers 5,000-year-old 'Spanish Stonehenge'". euronews (ภาษาอังกฤษ).
  5. "El Dolmen de Guadalperal". 5 พฤศจิกายน 2014.[ลิงก์เสีย]
  6. Ciaccia, Chris (23 กันยายน 2019). "'Spanish Stonehenge' revealed after spending decades under water". Fox News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
  7. Observatory, NASA Earth (24 กันยายน 2019). "Dolmen of Guadalperal". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
  8. "'Spanish Stonehenge' revealed after spending decades underwater". www.msn.com. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
  9. Martinez, Marta Rodriguez (28 สิงหาคม 2019). "Exceptional drought uncovers 5,000-year-old 'Spanish Stonehenge'". euronews (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
  10. Aristos Georgiou (19 กันยายน 2019). "NASA spots "Spanish Stonehenge" from space after drought reveals lost megalith monument after 50 years underwater". Newsweek (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2019.
  11. Villa González, A. J. (2022). "The Guadalperal Dolmen (Cáceres, Spain). Archaeological and heritage protection interventions on an artificially submerged archaeological site which resurfaces". Internet Archaeology (60). doi:10.11141/ia.60.4.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

39°50′8.65″N 5°24′16.13″W / 39.8357361°N 5.4044806°W / 39.8357361; -5.4044806