ดอนนา คาราน
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ดอนนา คาราน Donna Karan | |
---|---|
เกิด | ดอนนา ไอวี แฟสก์ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1948 นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา |
สัญชาติ | อเมริกัน |
อาชีพ | นักออกแบบเสื้อผ้า |
คู่สมรส | มาร์ก คาราน (1970–1978) สตีเฟน ไวส์ (1983–2001) |
ดอนนา คาราน (อังกฤษ: Donna Karan, เกิด 2 ตุลาคม ค.ศ. 1948) ดีไซเนอร์สาวชาวอเมริกัน เจ้าของสินค้า DKNY ที่ได้ชื่อว่าดีไซเนอร์ผู้รู้ซึ่งถึงสรีระของผู้หญิงได้ดีที่สุด เธอจึงมีชื่อเรียกตัวเธอเองเล่น ๆ ว่า บอดี (Body) รูปแบบของดอนนา คาราน ที่ทำให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาจากความทันสมัยแบบติดดินของเธอ เธอเคยกล่าวว่าเธอไม่ชอบออกแบบงานแบบเพ้อฝันจินตนาการมากเกินไป เธอต้องการออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้หญิงสามารถใส่เดินถนนได้จริง ๆ
ประวัติ
[แก้]ดอนนา คาราน มีชื่อสกุลเดิมว่า ดอนนา ฟาสเก (Donna Faske) เกิดในย่านควีนส์ ของนครนิวยอร์ก ในรัฐนิวยอร์ก เมื่อ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1948 แม่ของเธอมีอาชีพเป็นนางแบบ ซึ่งต่อมาแม่ของเธอได้มีสามีใหม่และพาเธอไปอยู่กับครอบครัวใหม่ที่ ลอง ไอส์แลนด์ โดยที่เธอได้ซึมซับความคิดที่จะเป็นช่างเสื้อจากช่วงเวลาที่เธออาศัยอยู่กับพ่อเลี้ยงที่มีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อในลอง ไอส์แลนด์นี้เอง
ในปี ค.ศ. 1962 ดอนนา คาราน ไม่ยอมเรียนต่อให้จบ เธอต้องการออกมาใช้ชีวิตบนเส้นทางอาชีพโดยยืนบนขาของตัวเองมากกว่า เธอเริ่มต้นงานแรกโดยเป็นคนขายเสื้อผ้าให้กับร้านของเพื่อนบ้าน แต่ก็ทำงานออกแบบเสื้อผ้าของเธอไปด้วย ซึ่งในช่วงระหว่างนั้นเธอได้เข้าศึกษาวิชาเอกแบบเสื้อผ้าที่โรงเรียนสอนการออกแบบ พาร์สันส์ (Parsons School of Design)
ดอนนา คาราน ทำงานขายเสื้อผ้าอยู่ถึง 4 ปี เธอก็ได้พบกับ มาร์ค คาราน (Mark Karan) จึงตัดสินใจแต่งงานกับเขา ทั้งสองมีลูกสาวด้วยกันคนหนึ่งชื่อว่า กาเบรียลล์ (Gabrielle) ตามชื่อของกาเบรียลล์ ชาแนล (Gabrielle Chanel) ดีไซเนอร์ชื่อดังที่เป็นความฝันของเธอ ปี ค.ศ. 1968 ในที่สุดเธอก็ได้ข่าวดีเมื่องานออกแบบของเธอได้รับการตอบรับจากห้องเสื้อของ แอนน์ ไคลน์ (Anne Klein) แต่เพียงไม่กี่เดือน เธอก็ต้องเดินออกมาจาก แอนน์ ไคลน์ (Anne Klein) แต่เพียงไม่กี่เดือน เธอก็ต้องเดินออกมาจาก แอนน์ ไคลน์ (Anne Klein) เนื่องจากความดื้อรั้นหัวแข็งของเธอเอง ดอนนา คาราน ไปทำงานต่อกับ แพ็ตตี แคปปาลลี (Patti Cappalli) ผู้เป็นเจ้าของตราเสื้อผ้าชื่อ แอดเดนดา (Addenda) ซึ่งที่นี่ คาราน กล่าวว่าได้ให้อะไรกับเธอมากมายในการมอบประสบการณ์การทำงานในวงการเสื้อผ้าอย่างแท้จริงที่เธอไม่เคยได้จากที่ใดมาก่อน
คาราน ทำงานกับ แพ็ตตี แคปปาลลี นานถึงปีครึ่ง จึงคิดหาทางกลับไปทำที่แอนน์ ไคลน์ อีก เนื่องจากเป็นตราเสื้อผ้าที่ใหญ่กว่าและโด่งดังกว่า ที่ที่เธอหมายจะเป็นประตูสร้างชื่อเสียงให้กับเธอ และเธอก็ได้กลับมาที่ แอนน์ ไคลน์ อีกครั้งอย่างสมใจในปี ค.ศ. 1970 ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ คาราน มีประสบการณ์สั่งสมขึ้นอย่างมากมายแล้ว เธอจึงก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมออกแบบได้อย่างรวดเร็ว
กระทั่งในปี ค.ศ. 1974 ที่ แอนน์ ไคลน์ ต้องเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง ดอนนา คาราน จึงสามารถมีโอกาสขึ้นมาโด่งดังได้อย่างแท้จริงเมื่อเธอกุมบังเหียนการออกแบบให้กับแอนน์ ไคลน์ โดยทำงานกับเพื่อนนักศึกษาเมื่อครั้งที่เรียนออกแบบที่พาร์สันด้วยกันที่มาอยู่ที่ แอนน์ ไคล์น นี้ด้วยอีกคนหนึ่ง คือ เดลล์ โอดิโอ (Dell Olio) จากการเข้ามาบริหารงานออกแบบของทั้งสอง แอนน์ ไคลน์ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ ถึงแม้จะไม่มีเจ้าของตราสินค้าตัวจริงอยู่แล้วก็ตาม จนกระทั่งแอนน์ ไคลน์ สามารถคว้ายอดกำไรจากการขายได้อย่างงดงาม และเป็นตราสินค้าที่มีชื่อเสียงทางด้านชุดกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกาตราหนึ่ง
ปี ค.ศ. 1983 ดอนนา คาราน แต่งงานใหม่กับประติมากรคนหนึ่งซึ่งอายุน้อยกว่าเธอ คือ สเตฟาน ไวสส์ (Stephan Weiss) หลังจากหย่าขาดจากสามี โดยที่เธอได้สิทธิ์เลี้ยงดูบุตรสาว แก็บบี ของเธอไว้ สเตฟาน ไวสส์ นั้นภายหลังมีส่วนอย่างมากในความช่วยเหลือด้านสร้างสรรค์ให้กับ ดอนนา คาราน และยังเข้ามาช่วยในธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเธออีกด้วย
ดอนนา คาราน เป็นหัวหน้าดีไซเนอร์ที่ แอนน์ ไคลน์ อยู่อย่างยาวนานจนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1984 โดยสร้างชื่อเสียงเป็นดีไซเนอร์ที่มีรูปแบบการออกแบบที่เน้นในความอิสระและพลิ้วไหวในเสื้อผ้าของเธอ ในระหว่างที่อยู่กับ แอนน์ ไคลน์นั้น คาราน ก็ยังได้รับรางวัลจากสมาคมนักข่าวแฟชั่น โคตี อะวอร์ต (Coty American Fashion Critics Awards) รางวัลสำหรับดีไซเนอร์ยอดเยี่ยมในสหรัฐอเมริกาถึง 4 ครั้ง คือ ในปี ค.ศ. 1977, ค.ศ. 1981, ค.ศ. 1984 และ ค.ศ. 1985
ไม่เพียงแต่โคตรี อะวอร์ดเท่านั้นที่ คารานได้รับ คาราน ยังได้รับรางวัลจาก สถาบันผู้ออกแบบแฟชั่นแห่งอเมริกา (Council of Fashion Designers of America : CFDA) รางวัลดีไซเนอร์แห่งปีถึง 4ครั้ง ด้วยเช่นกัน คือ ในปีค.ศ. 1985, ค.ศ. 1986, ค.ศ. 1990 และค.ศ. 1992 กระทั่งในปี ค.ศ. 1985 คารานจึงตัดสินใจวางมือจาก แอนน์ ไคลน์ออกมาก่อตั้งกิจการของตนเองบ้าง คารานให้ชื่อตราสินค้าของเธอว่า ดอนนา คาราน นิวยอร์ก (Donna Karan New York: DKNY)
ภายใต้ตราสินค้าของเธอเอง คารานยังคงมุ่งมั่นทำสไตล์แบบสปอร์ตของเธอออกมาให้วงการแฟชั่นสหรัฐอเมริกายอมรับเพื่อแข่งขันกับตราสินค้าดังที่บินข้ามฟ้ามาจากปารีสและลอนดอน ซึ่งมุ่งหน้าสู่ตลาดนิวยอร์กที่มีผู้มีกำลังซื้ออย่างมหาศาล แม้กระทั่งตาราสินค้าภายในประเทศด้วยกันเองที่เน้นความอิสระและเป็นแบบ สปอร์ต ลุค ซึ่งเป็นบุคลิกแบบอเมริกันเช่นเดียวกับที่เธอทำ สิ่งหนึ่งที่เธอดึงออกมาเป็นจุดขายเพื่อแข่งขันกับตราสินค้าดังต่าง ๆ อย่างได้ผลก็คือ ความเข้าใจในสรีระของผู้หญิง โดยดีไซเนอร์ผู้หญิง อย่างแท้จริงนั่นเอง
ดอนนา คาราน ดึงเอาบุคลิกของเธอเองลงมาใส่ไว้ในแบบเสื้อผ้าของเธอ ขณะนั้นเธอเป็นดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จแล้ว ชื่อของ ดอนนา คาราน จึงไม่เป็นเพียงแคดีไซเนอร์ แต่หมายถึงสตรีที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการทำงานในสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้นภาพลักษณ์ของเธอที่ปรากฏโดยทั่วไปจึงเป็นสตรีที่มีความเชื่อมั่น และโดดเด่นอยู่ในสังคมวงการแฟชั่น ซึ่งสิ่งนี้เองที่กลายมาเป็นความต้องการของลูกค้าที่ซื้อ เสื้อผ้าของ ดอนนา คาราน ไปสวมใส่ลูกค้าของ คาราน ต่างก็ชื่นชมในบุคลิกแบบนักกีฬาที่คล่องแคล่ว ผนวกกับภาพของสาวทำงานที่เชื่อมั่น ซึ่งเป็นบุคลิกแบบที่สตรีในสหรัฐฯมากกว่า 30 เปอร์เซนต์ต้องการ
แม้แต่การออกแบบชุดอาหารค่ำหรือชุดราตรีในคอลเล็คชันของเธอนั้น ดอนนา คาราน ก็ยังไม่ยอมที่จะนำสิ่งที่จะทำให้ดูอุ้ยอ้าย เทอะทะ เข้ามาประดับประดาใส่ไว้ด้วย ซึ่งต่างจากดีไซเนอร์ทั่วไป ที่เน้นย้ำการตกแต่งกับชุดเช่นนี้อย่างมาก ชุดยาวของเธอหากจะนำวัสดุเข้ามาประกอบแล้ว เธอจะเลือกเอาสิ่งที่ไม่ฉุดรั้งชุดให้ดูหนักอึ้ง มันบังต้องดูพลิ้วไหว คล่องแคล่วอิสระแบบสาวยุคใหม่อย่างเชื่อมั่นด้วยนั่นเอง
นอกจากสินค้าเสื้อผ้าแล้ว DKNY ก็เช่นเดียวกับตราสินค้าแฟชั่นอื่น ๆ ที่ต้องทำสินค้าแฟชั่นออกมาให้ครบทุกสาย DKNY แผนกเสื้อผ้าผู้ชายยีนส์ ชุดกีฬา เครื่องหนัง ชุดนอน ชุดชั้นใน แว่นตา เครื่องประดับ และเครื่องตกแต่งบ้าน รวมถึงน้ำหอมสินค้าแฟชั่นที่ขาดไม่ได้ซึ่งต้องมีประจำในบูติกทุกแห่ง น้ำหอมของ DKNY มีชื่อต่าง ๆ เช่น Donna Karan Eaude Parfum, Donna Karan New york, Donna Karan CashmereMist, Dk Men, DK Men Unleaded, Chaos, DKNY Women, DKNY Men, Black Cashmere, DKNY Energy
ปี ค.ศ. 1995 สเตฟาน ไวสส์ สามีของ คาราน ผู้มีส่วนในการออกความคิดสร้างสรรค์ให้กับ DKNY ก็ขอลาออกจาก DKNY โดยอ้างว่าไม่เหมาะกับงานด้านนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นไวสส์ได้ถูกมอบหมายให้รับผิดชอบบุกเบิกสายงานด้านเครื่องสำอางให้กับ DKNY แต่ไวสส์ ก็ยังไม่ได้ดำเนินการไปสักเท่าใดนัก ก็ลาออกเพื่อไปฝึกฝนงานด้านประติมากรรมของเขาต่อ งานเครื่องสำอางของ DKNY จึงต้องค้างเติ่งไป
กระทั่งในปี ค.ศ.2001 หลังจากที่ สเตฟาน ไวสส์ เสียชีวิตจากเธอไปด้วยสาเหตุของมะเร็งอีกคน ดอนนา คาราน ก็เริ่มล้ากับงานบริหารใน DKNY เธอขายหุ้นให้กับ แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) แห่งกลุ่ม LVMH คือ หลุยส์ วิตตอง-โมเอต์ เฮนเนสซี (Louis Vuitton-Moet Hennessy) จากฝรั่งเศส ผู้เข้าซื้อธุรกิจแฟชั่นทั้งนอกและในประเทศฝรั่งเศสไว้มากมาย โดยที่ คาราน ได้รับผิดชอบเป็นหัวหน้าดีไซเนอร์อาวุโสต่อไป