ช็อกโกแลตมารยาท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ช็อกโกแลตมารยาท
ถุงใส่ช็อกโกแลตมารยาท
ประเภทช็อกโกแลต
แหล่งกำเนิดญี่ปุ่น
ส่วนผสมหลักช็อกโกแลต

ช็อกโกแลตมารยาท หรือ กิริโจโกะ (ญี่ปุ่น: 義理チョコโรมาจิGiri choko) เป็นช็อกโกแลตที่ผู้หญิงมอบให้ผู้ชายในวันวาเลนไทน์ในประเทศญี่ปุ่นในฐานะของขวัญตามธรรมเนียม ช็อกโกแลตมารยาทมีความแตกต่างจากช็อกโกแลตใจจริงหรือฮนเมโจโกะซึ่งมอบให้กันระหว่างคู่รัก เพราะช็อกโกแลตมารยาทเป็นช็อกโกแลตที่ผู้หญิงมอบให้เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือคนรู้จักที่เป็นผู้ชายเพื่อแสดงความขอบคุณและความเคารพ ผู้ชายมักตอบแทนด้วยการให้ของขวัญแก่ผู้หญิงในวันไวต์เดย์ในวันที่ 14 มีนาคม

ประวัติ[แก้]

ในวันวาเลนไทน์ของประเทศญี่ปุ่น ช็อกโกแลตมารยาทเป็นช็อกโกแลตราคาไม่แพงที่ผู้หญิงมอบให้กับเพื่อนร่วมงานและเพื่อนที่เป็นผู้ชายเพื่อแสดงความขอบคุณและความเคารพ ตรงข้ามกับช็อกโกแลตใจจริงหรือฮนเมโจโกะที่เป็นช็อกโกแลตที่มอบให้ระหว่างคู่รัก[1] แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการให้ของขวัญที่โดดเด่น[1] แต่ต้นกำเนิดของการให้ช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์นั้นไม่ชัดเจน[2] คำอธิบายที่ได้รับความนิยมอย่างหนึ่งคือความนิยมดังกล่าวเริ่มต้นโดยเด็กผู้หญิงในโรงเรียนมัธยมต้นซึ่งให้ช็อกโกแลตทำมือกับเด็กผู้ชายเพื่อดูว่าพวกเขาจะตอบรับความรักหรือไม่[3] และต่อมาก็กลายเป็นเรื่องเชิงพาณิชย์ในช่วงกลางทศวรรษ 1950[4] โดยมีการขายช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 ที่ร้านแมรีช็อกโกแลต[2]

ฮารูมิจิ ยามาดะจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเคไซกล่าวว่าการให้ช็อกโกแลตเกิดขึ้นเพราะการที่ผู้หญิงแสดงความรักต่อผู้ชายถือเป็นเรื่องน่าอาย ร้านขนมหวานจึงใช้ช็อกโกแลตเป็นช่องทางให้พวกเขาแสดงความรักต่อกัน ต่อมาเมื่อสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงดีขึ้น วันวาเลนไทน์ก็ถือเป็นวันที่ผู้หญิงให้ช็อกโกแลตแก่ผู้ชาย วัฒนธรรมการให้ช็อกโกแลตมารยาทจึงปรากฏขึ้นมา[5] ซาจิโกะ โฮริงูจิจากมหาวิทยาเทมเปิล วิทยาเขตญี่ปุ่น กล่าวว่าประเพณีช็อกโกแลตมารยาทเกิดขึ้นครั้งแรกในทศวรรษ 1980 ซึ่งผู้หญิงวัยทำงานมีหน้าที่ต้องมอบช็อกโกแลตให้กับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย เนื่องจากทั้งวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมการให้ของขวัญของญี่ปุ่นทำให้การแลกเปลี่ยนเช่นนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสม[6]

ร้านขนมช็อกโกแลตของญี่ปุ่นสร้างรายได้ถึงร้อยละ 70 ของธุรกิจจากวันวาเลนไทน์ทุกปี[1] สมาคมช็อกโกแลตและโกโก้แห่งประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า ในปี ค.ศ. 2005 มีการใช้จ่ายของช็อกโกแลตวาเลนไทน์ประมาณ 400,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่ากับ 554,983,813 ดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021)[2] โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงใช้จ่ายไป 36 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่ากับ 47.05 ดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021) ไปกับช็อกโกแลตมารยาทในปี ค.ศ. 2007[2] และลดลงเหลือ 1,033 เยนในปี ค.ศ. 2019[7]

ในช่วงทศวรรษ 1980 วันไวต์เดย์เริ่มมีประเพณีที่ผู้ชายจะตอบแทนช็อกโกแลตมารยาทด้วยของขวัญเพื่อกระตุ้นยอดขาย[4] ยอดขายของขวัญวันไวต์เดย์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากยอดขายในวันวาเลนไทน์[8][9]

คำวิจารณ์[แก้]

ธรรมเนียมการให้ช็อกโกแลตมารยาทกำลังสูญเสียความนิยมในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2010 และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกดดันให้ผู้หญิงซื้อช็อกโกแลตให้เพื่อนร่วมงานเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ไม่พอใจ[1][4] บริษัทบางแห่งได้สั่งห้ามการปฏิบัติดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการล่วงละเมิดทางอำนาจ[4] ผู้หญิงเลือกที่จะมอบช็อกโกแลตมิตรภาพ (ญี่ปุ่น: 友チョコโรมาจิtomo choco) ให้กับเพื่อนแทน[1][10] การสำรวจในปี ค.ศ. 2017 โดยบริษัท 3M แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเพียงร้อยละ 40 ที่ทำแบบสำรวจวางแผนที่จะให้ช็อกโกแลตแก่เพื่อนร่วมงานผู้ชาย[1] เทียบกับค่าร้อยละ 80 ในการสำรวจในปี ค.ศ. 2007 ที่จัดทำโดยบริษัทอื่น[2] ในปี ค.ศ. 2018 บริษัทโกไดวา ช็อกโกแลตเทียร์ ยังวิพากษ์วิจารณ์การให้ช็อกโกแลตมารยาทด้วยโฆษณาเต็มหน้า เรียกร้องให้สถานที่ทำงานสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง แม้ว่านักวิจารณ์บางคนจะกล่าวหาว่าพวกเขาทำการตลาดแบบซ่อนเร้นก็ตาม[5][8][11]

ช็อกโกแลตใจจริง[แก้]

ช็อกโกแลตใจจริง
ประเภทช็อกโกแลต
แหล่งกำเนิดญี่ปุ่น
ส่วนผสมหลักช็อกโกแลต
รูปแบบอื่นช็อกโกแลตมารยาท

ช็อกโกแลตใจจริง หรือ ฮนเมโจโกะ (ญี่ปุ่น: 本命チョコโรมาจิHonmei choco) ในประเทศญี่ปุ่น เป็นช็อกโกแลตที่ผู้หญิงมอบให้ผู้ชายที่ผู้หญิงมีความรู้สึกโรแมนติกด้วยในวันวาเลนไทน์ มักจะให้แก่สามี แฟน หรือคนรัก ช็อกโกแลตใจจริงมักจะมีคุณภาพสูงและมีราคาแพงกว่าช็อกโกแลตมารยาทซึ่งมอบให้เพื่อนร่วมงานชายหรือผู้ชายคนอื่นที่ผู้หญิงไม่มีความรู้สึกโรแมนติกด้วย[12]

ช็อกโกแลตใจจริงทำมือก็เป็นที่นิยม[13]

โดยทั่วไปจะมีการตอบแทนในวันไวต์เดย์ซึ่งเฉลิมฉลองในวันที่ 14 มีนาคม โดยผู้ชายซื้อขนมและของขวัญให้ผู้หญิง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 McDonald, Tim (2019-02-13). "Valentine's Day: Japan falling out of love with 'obligation chocolates'". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Sekiguchi, Toko (2007-02-14). "How Valentine's Day Conquered Japan". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-17. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  3. Craft, Lucy (2010-02-12). "Japanese Embrace Valentine's Day". NPR. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 McCurry, Justin (2019-02-10). "Japanese women push back against Valentine's tradition of 'obligation chocolate'". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  5. 5.0 5.1 Tanaka, Chisato (2018-02-06). "Godiva's dig at obligatory Valentine's chocolates stirs debate in Japan". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  6. Yamane, Kumiko; Hasegawa, Ken (2020-02-12). "「義理チョコやめよう」賛否呼んだ広告、ゴディバの真意". Asahi Shimbun (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  7. "Majority of women to buy Valentine's chocolates for themselves, averaging ¥4,200, Japan survey shows". The Japan Times. 2019-02-08. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  8. 8.0 8.1 Adelstein, Jake (2018-02-18). "Why Godiva Japan Took Out A Full Page Ad Asking People Not To Buy Valentine's Day Chocolate". Forbes. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  9. Lufkin, Brian (2019-03-14). "White Day: Japan's reverse Valentine's Day". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  10. Nakamaru, Ryotaro (2019-02-13). "Not so much obliged: More Japanese women buying Valentine's chocolates for themselves, not colleagues". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  11. Lewis, Leo (2018-02-07). "Bittersweet campaign to liberate Japan's office workers". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
  12. Craft, Lucy (February 12, 2010). "Japanese Embrace Valentine's Day". National Public Radio. สืบค้นเมื่อ February 14, 2010.
  13. Sekiguchi, Toko (February 14, 2007). "How Valentine's Day Conquered Japan". Time. สืบค้นเมื่อ April 23, 2016.