ข้ามไปเนื้อหา

จดหมายจางวางหร่ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จดหมายจางวางหร่ำ เป็นงานพระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือ ทวีปัญญา และได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2478 เป็นวรรณกรรมในรูปแบบการเขียนจดหมาย ซึ่งเป็นของแปลกในสมัยนั้น นักวิชาการหลายท่านลงความเห็นว่ากรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ น่าจะทรงได้ความคิดในการเขียนจดหมายจากตะวันตก โดยน่าจะได้เค้าโครงมาจากเรื่อง The Letter of a Selfmade Merchant to His Son ของ จอร์จ ฮอเรซ ลอริเมอร์ นักเขียนชาวอเมริกัน

กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์นิพนธ์จดหมายจางวางหร่ำ ในฐานะบรรณาธิการชั่วคราวระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเดินเมืองเหนือราว 6 เดือน ทรงนิพนธ์จดหมายนี้ลงพิมพ์ติดต่อกันเดือนละฉบับ ลงพิมพ์ในหนังสือ ทวีปัญญา 6 ฉบับ แม้หนังสือ ทวีปัญญา ได้เลิกกิจการแล้ว กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ยังนิพนธ์จดหมายจางวางหร่ำ ฉบับที่ 7 ลงในหนังสือ เสนาศึกษา ดังนั้นจดหมายจางวางหร่ำจึงมีอยู่ 7 ฉบับ

เนื้อหาของจดหมาย เขียนเป็นร้อยแก้ว เล่าถึงเศรษฐีเมืองฉะเชิงเทราเขียนถึงนายสนธิ์ บุตรชาย รูปแบบของจดหมายที่ปรากฏนั้น เป็นการเขียนไปเพียงฝ่ายเดียวของจางวางหร่ำ ไม่มีจดหมายตอบ แต่ถึงกระนั้นในแต่ละฉบับ ผู้อ่านทราบว่า จางวางหร่ำได้รับจดหมายจากนายสนธิ์เช่นกัน จดหมายฉบับที่ 1-4 เขียนถึงนายสนธิ์ขณะที่นายสนธิ์เรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จดหมายฉบับที่ 5-7 เขียนถึงนายสนธิ์เมื่อนายสนธิ์กลับมายังกรุงเทพฯ แล้ว จดหมายแต่ละฉบับ มีเนื้อหามุ่งอบรมสั่งสอนนายสนธิ์ในเรื่องต่าง ๆ ผู้อ่านสามารถเห็นความคิดหลักในการสอนของจางวางหร่ำได้จากคำขึ้นต้นที่เป็นการสรุปเรื่องราวในจดหมายแต่ละฉบับ ทั้งนี้ยังมีการแทรกอารมณ์ขันอยู่ในเรื่อง[1]

ตัวละคร

[แก้]
  • จางวางหร่ำ (พ่อ) มีความเข้มงวด และห่วงใยต่อบุตร
  • นายสนธิ์ (บุตร) เป็นบุตรที่มุ่งแต่ความสำราญ ไม่สนใจการงานมากนัก
  • แม่ เป็นแม่ที่ห่วงใยต่อบุตร
  • บุตรชายของเจ้าสัวแก้ว เป็นบุคคลที่ฉลาด มีความรู้มาก แต่ไม่สามารถทำงานได้
  • เจ้าจ๋อง บุตรชายของสมุห์บัญชีจุ่น เป็นหนุ่มเจ้าสำราญ ไม่ตั้งใจทำงาน แต่เมื่อถึงคราวที่พ่อพลาดพลั้งก็กลับตัวเป็นคนใหม่ ตั้งใจทำงาน ยังเป็นคนที่เกียจคร้านแต่มีความชาญฉลาด สามารถนำความรู้ที่มีมาสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความเกียจคร้านของตนเอง
  • มิสเตอร์ไวท์
  • สมุห์แสง เป็นคนจิตใจดี หงุดหงิดง่าย และมีเมตตาต่อผู้อื่น
  • นายเขียว สุรานันท์ เป็นคนสติไม่สมประกอบ

อ้างอิง

[แก้]
  1. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 2542. ISBN 9748365301.