คูโรดะ โยชิตากะ
คูโรดะ โยชิตากะ (ญี่ปุ่น: 黒田 孝高; โรมาจิ: Kuroda Yoshitaka; 22 ธันวาคม ค.ศ. 1546 - 16 เมษายน ค.ศ. 1604) หรือ คูโรดะ คัมเบ (ญี่ปุ่น: 黒田 官兵衛; โรมาจิ: Kuroda Kanbei) เป็นไดเมียวในยุคปลายเซ็งโงะกุจนถึงต้นยุคเอโดะและเป็นที่ปรึกษาและเสนาธิการคนสำคัญของ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ เขาเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการที่มีความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ คูโรดะได้กลายมาเป็นชาวคริสต์เมื่อายุได้ 38 ปี และได้รับนามว่า ซิเมียน โจซุย เป็นนามที่รับมาจากพิธีจุ่มศีล คูโรดะ คัมเบ ยังได้รับการเคารพยกย่องจากนักรบของเขาในเรื่องของความเฉลียวฉลาดความกล้าหาญและความภักดี
ไดเมียวแห่งปราสาทฮิเมจิ
[แก้]คูโรดะ โยชิตากะ เกิดเมื่อค.ศ. 1546 ที่ปราสาทฮิเมจิ จังหวัดเฮียวโงะในปัจจุบัน เป็นบุตรชายของคูโรดะ โมโตตากะ (黒田職隆) ซามูไรผู้ครองปราสาทฮิเมจิซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของโคเดระ มาซาโมโตะ (小寺政職) ไดเมียวแห่งแคว้นฮาริมะ (ญี่ปุ่น: 播磨; โรมาจิ: Harima) โยชิตากะสมรสกับนางมิซึ (Mitsu) ธิดาบุญธรรมของโคเดระ มาซาโมโตะ ในค.ศ. 1567 โมโตตากะผู้เป็นบิดาได้สละตำแหน่งเจ้าครองปราสาทฮิเมจิให้แก่โยชิตากะบุตรชาย โยชิตากะจึงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นทั้งผู้ปกครองปราสาทฮิเมจิและที่ปรึกษาคนสำคัญของเจ้าครองแคว้นฮาริมะ
ค.ศ. 1576 โอดะ โนบูนางะ ต้องการที่จะแผ่ขยายอำนาจมายังภูมิภาคชูโงกุ จึงส่งขุนพลฮาชิบะ ฮิเดโยชิ (羽柴秀吉 ต่อมาคือ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ) ยกทัพมาเพื่อทำการพิชิตภูมิภาคชูโงกุ แต่ทว่าภูมิภาคชูโงกุมีไดเมียวที่ทรงพลังอำนาจอยู่ประจำภูมิภาคคือ โมริ เทรูโมโตะ (毛利輝元) ไดเมียวแห่งแคว้นโชชู บรรดาไดเมียวเจ้าแคว้นทั้งหลายในภูมิภาคชูโงกุ รวมทั้งโคเดระ โมโตตากะ ไดเมียวแห่งแคว้นฮาริมะ ให้การสนับสนุนแก่ตระกูลโมริในการต้านทานการขยายอำนาจของโนบูนางะ แต่โยชิตากะมีความเห็นว่าแคว้นฮาริมะควรให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายโอดะ โดยโยชิตากะได้ลักลอบติดต่อกับฮิเดโยชิเพื่อขอพบโนบูนางะที่นครเกียวโตเป็นการส่วนตัว เพื่อแสดงสัมพันธไมตรี แต่ทว่าโนบูนางะกลับมีความเคลือบแคลงใจ เกรงว่าโยชิตากะจะมีจุดประสงค์ไม่ดีเป็นสายสืบให้แก่ฝ่ายตระกูลโมริ จึงมีคำสั่งให้ลักพาตัว คูโรดะ นางามาซะ (ญี่ปุ่น: 黒田長政; โรมาจิ: Kuroda Nagamasa) บุตรชายของโยชิตากะมาไว้เป็นตัวประกัน ทาเกนากะ ฮัมเบ (ญี่ปุ่น: 竹中半兵衛; โรมาจิ: Takenaka Hanbei) สหายคนสนิทของโยชิตากะ จึงเข้าช่วยไกล่เกลี่ยและปล่อยตัวนางามาซะออกมา
ในค.ศ. 1578 อารากิ มูซาชิเงะ (荒木村重) ไดเมียวผู้ปกครองปราสาทอิตามิ ก่อกบฎต่อการปกครองของโอดะ โนบูนางะ เป็นโอกาสจังหวะอันเหมาะสมที่ไดเมียวทั้งหลายภูมิภาคชูโงกุจะขับทัพโอดะออกจากพื้นที่ แม้กระนั้นโยชิตากะยังคงยืนกรานที่จะให้การสนับสนุนแก่ตระกูลโอดะ โคเดระ มาซาโมโตะ จึงส่งโยชิตากะไปยังปราสาทอิตามิเพื่อทำการเจรจากับอารากิ ปรากฏว่าโคเดระได้สมคบคิดกับอารากิจับกุมตัวโยชิตากะขังไว้ที่ปราสาทอิตามิ โอดะ โนบูนางะ จึงยกทัพมายึดปราสาทอิตามิด้วยตนเองได้สำเร็จซึ่งโยชิตากะอาศัยช่วงชุลมุนหลบหนีออกมาได้แต่ได้รับบาดเจ็บทำให้ขาพิการตลอดชีพ ในค.ศ. 1579 คูโรดะ โยชิตากะ เข้าช่วยเหลือฮาชิบะ ฮิเดโยชิ ในการทัพของฝ่ายโอดะสามารถรุกคืบไปทางตะวันตกได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้โคเดระ มาซาโมโตะ ต้องหลบหนีออกจากปราสาทโกจากุ (ญี่ปุ่น: 御着城; โรมาจิ: Gochaku-jō) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของตนเอง ความพ่ายแพ้ของโมริ เทรูโมโตะ ทำให้ตระกูลโมริสูญเสียอำนาจในภูมิภาคชูโงกุ
ในค.ศ. 1582 โอดะ โนบูนากะ ถูกลอบสังหารที่วัดฮนโนในเมืองเกียวโต ทำให้ฮาชิบะ ฮิเดโยชิต้องทำการเจรจาสงบศึกในภูมิภาคชูโงกุเพื่อยกทัพกลับไปต่อสู้กับอาเกจิ มิตซึฮิเดะ (ญี่ปุ่น: 明智光秀; โรมาจิ: Akechi Mitsuhide) เพื่อแก้แค้นให้แก่โนบูนากะ คูโรดะ โยชิตากะ ติดตามทัพของฮิเดโยชิไปร่วมรบในยุทธการยามาซากิ (ญี่ปุ่น: 山崎の戦い; โรมาจิ: Yamazaki-no-tatakai) ทัพของฝ่ายฮิเดโยชิได้รับชัยชนะและอาเกจิ มิตซึฮิเดะเสียชีวิตขณะหลบหนี ฮิเดโยชิจึงขึ้นมามีอำนาจปกครองประเทศญี่ปุ่นแทนที่โอดะ โนบูนากะ
แผ่นดินของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ
[แก้]ด้วยร่างกายที่พิการ ทำให้โยชิตากะไม่สามารถออกสู้รบด้วยตนเองได้ แต่ดำรงด้วยความจงรักภักดีและความเฉลียวฉลาดของคูโรดะ โยชิตากะ ทำให้คูโรดะ โยชิตากะ ได้รับความไว้วางใจจากโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการและที่ปรึกษาคนสำคัญ โยชิตากะช่วยเหลือฮิเดโยชิการเข้าผนวกเกาะชิโกกุในค.ศ. 1585 และการรุกรานเกาะคีวชูในค.ศ. 1587
ในระหว่างการรุกรานเกาะคีวชูโยชิตากะมีโอกาสได้พบกับทากายามะ อูกง (ญี่ปุ่น: 高山右近; โรมาจิ: Takayama Ukon) ซามุไรซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ ทากายามะ อูกง ชักชวนให้คูโรดะ โยชิตากะ เข้ารีบเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ โยชิตากะเข้าพิธีศีลจุ่มได้รับชื่อใหม่เป็นภาษาโปรตุเกสว่า "ดม ซีเมอัว" (Dom Simeão) แต่ทว่าในค.ศ. 1587 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ออกประกาศห้ามการนับถือและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทำให้คูโรดะ โยชิตากะ เลิกนับถือศาสนาคริสต์และผันตนเองมาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนามีฉายาว่า "โจซูอิ" (ญี่ปุ่น: 如水; โรมาจิ: Josui บางตำนานกล่าวว่า ชือนี้เป็นการตั้งเลียนเสียงชื่อภาษาโปรตุเกสว่า Josué เป็นการแสดงว่าโยชิตากะยังคงนับถือศาสนาคริสต์อยู่อย่างไม่เปิดเผย)
หลังจากที่ฮิเดโยชิสามารถผนวกเกาะคีวชูได้สำเร็จ แต่งตั้งให้โยชิตากะดำรงตำแหน่งเป็นไดเมียวผู้ปกครองแคว้นบูงโงะ (ญี่ปุ่น: 豊後; โรมาจิ: Bungo จังหวัดโออิตะในปัจจุบัน) ทางตอนเหนือของเกาะคีวชู โดยอาศัยอยู่ที่ปราสาทนากัตซึ (ญี่ปุ่น: 中津; โรมาจิ: Nakatsu) ในค.ศ. 1590 โยชิตากะเข้าร่วมกับฮิเดโยชิในการล้อมปราสาทโอดาวาระ ในการบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135–2141)โยชิตากะได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาของโคบายากาวะ ฮิเดอากิ (ญี่ปุ่น: 小早川秀秋; โรมาจิ: Kobayakawa Hideaki) ในการนำทัพซามุไรซี่ปุ่นเข้ารุกรานเกาหลี ในระหว่างสงครามนั้น อิชิดะ มิตสึนาริ (ญี่ปุ่น: 石田三成; โรมาจิ: Ishida Mitsunari) กล่าวหาโคบายากาวะ ฮิเดอากิ ว่าไร้ความสามารถทำงานบกพร่อง สร้างความไม่พอใจให้แก่คูโรดะ โยชิตากะ
ในค.ศ. 1598 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ถึงแก่อสัญกรรม คูโรดะ โยชิตากะ เป็นหนึ่งในกลุ่มซามุไรและไดเมียวที่ไม่พอใจการบริหารงานของอิชิดะ มิตสึนาริ และไปเข้าพวกกับฝ่ายของโทกูงาวะ อิเอยาซุ (ญี่ปุ่น: 徳川家康; โรมาจิ: Tokugawa Ieyasu) ในยุทธการที่เซกิงาฮาระ คูโรดะ โยชิตากะ ส่งบุตรชายคนโตของตนเองคือ คูโรดะ นางามาซะ ไปเข้าร่วมรบกับกองทัพฝ่ายตะวันออกของโทกูงาวะ อิเอยาซุ ในขณะที่โยชิตากะเองนั้นตั้งมั่นอยู่บนเกาะคีวชูและทำสงครามสู้รบกับฝ่ายของอิชิดะ มิตสึนาริ บนเกาะคีวชู
บั้นปลายชีวิต
[แก้]หลังจากยุทธการที่เซกิงาฮาระ คูโรดะ โยชิตากะ ถอนตัวออกจากการเมือง ในค.ศ. 1600 โทกูงาวะ อิเอยาซุ แต่งตั้งให้คูโรดะ นางามาซะ บุตรชายคนโตของโยชิตากะ ให้เป็นไดเมียวแห่งแคว้นชิกูเซ็ง (ญี่ปุ่น: 筑前; โรมาจิ: Chikuzen จังหวัดฟูกูโอกะในปัจจุบัน) เนื่องจากนางามาซะมีความดีความชอบในการรบที่เซกิงาฮาระ โยชิตากะอาศัยอยู่กับุตรชายที่ปราสาทฟูกูโอกะ (ญี่ปุ่น: 福岡城; โรมาจิ: Fukuoka-jō) คูโรดะ โยชิตากะ เสียชีวิตในปีค.ศ. 1604 ด้วยอายุ 58 ปี นางามาซะบุตรชายคนโตทำหน้าที่เป็นผู้นำของตระกูลคูโรดะต่อมา ตระกูลคูโรดะปกครองแคว้นฟูกูโอกะไปตลอดสมัยเอโดะ