คอนเทรล
คอนเทรล (อังกฤษ: contrail, มาจากคำ condensation trails[1] (ทางควบแน่น)) หรือ เมฆหางเครื่องบิน[2] เป็นเมฆเส้นตรงยาวปรากฏบนท้องฟ้า เกิดจากไอเสียเครื่องบินหรือการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ คอนเทรลเป็นหนึ่งในเมฆกลุ่มโฮโมเจนิตัส หรือเมฆที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์[3]
คอนเทรลเป็นเมฆสกุลเซอร์รัส ซึ่งเป็นเมฆระดับสูง ก่อตัวที่ชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับความสูง 7,500–12,000 เมตร (25,000–40,000 ฟุต) เมฆชนิดนี้เกิดจากไอน้ำที่ถูกขับออกมาพร้อมไอเสียเครื่องบินทำปฏิกิริยากับอากาศเย็นในชั้นบรรยากาศจนกลายเป็นผลึกน้ำแข็ง ลักษณะเด่นของคอนเทรลที่เป็นเส้นตรงยาวเกิดจากอนุภาคเล็ก ๆ ของเขม่าไอเสียที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ อนุภาคเหล่านี้เรียกว่า แกนควบแน่น (cloud condensation nuclei) ซึ่งช่วยให้ไอน้ำควบแน่นกลายเป็นของเหลว ก่อนจะสัมผัสกับอากาศเย็นกลายเป็นผลึกน้ำแข็งบาง ๆ ความชื้นในอากาศส่งผลต่อคอนเทรลเช่นกัน กล่าวคือ หากอากาศแห้ง ผลึกน้ำแข็งจะระเหิดกลายเป็นแก๊ส ทำให้คอนเทรลมีขนาดสั้นหรืออาจไม่ปรากฏ แต่หากอากาศชื้นจะทำให้คอนเทรลคงตัวได้เป็นเวลานาน[4] นอกจากนี้ คอนเทรลยังสามารถเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความดันรอบปีกเครื่องบิน เมื่อเครื่องบินบินขึ้นจะก่อให้เกิดความแตกต่างของความดันและอุณหภูมิระหว่างด้านบนและด้านล่างปีก ทำให้ไอน้ำในอากาศควบแน่น และเมื่อความดันอากาศต่ำที่แผ่ไปตามแนวปีกพบกับความดันอากาศสูงที่ปลายปีกในช่วงเวลาที่อากาศแห้ง จะก่อให้เกิดกระแสวนยาวที่ปลายปีกเครื่องบิน[5][6] คอนเทรลอาจคงอยู่ได้ไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมง หรือถูกลมพัดจนกลายสภาพเป็นเมฆเซอร์รัส[7]
เมื่อเครื่องบินบินผ่านก้อนเมฆจะแหวกเมฆออกเป็นทางยาวเรียกว่า ดิสเทรล (distrail, มาจากคำ dissipation trail (ทางสลายตัว)) เกิดจากเครื่องยนต์ของเครื่องบินที่มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิเมฆ ทำให้เมฆบางส่วนระเหยเป็นไอน้ำซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อมองจากพื้นโลกจะเห็นเส้นตรงยาวพาดผ่านหมู่เมฆ[8]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
คอนเทรลที่ปลายปีกเครื่องบินเออี-6บี พราวเลอร์
-
ดิสเทรลบนท้องฟ้าฮ่องกง
-
คอนเทรลสีรุ้ง เกิดจากการหักเหของแสงอาทิตย์เมื่อส่องกระทบละอองน้ำท้ายเครื่องบิน[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Contrails". Metlink. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
- ↑ "ได้คำตอบ! ลำแสงสีขาวบนฟ้า คือ เมฆหางเครื่องบิน ไม่ใช่ชิ้นส่วนจรวด". ไทยรัฐ. January 3, 2016. สืบค้นเมื่อ October 26, 2020.
- ↑ "Aircraft condensation trails". International Cloud Atlas. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
- ↑ "Contrails or condensation trails". Met Office. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
- ↑ Means, Tiffany (May 12, 2019). "Contrails: The Controversial Cloud". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
- ↑ "Weather In Action: Contrails". National Weather Service. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
- ↑ "Contrail - Definition & Facts". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
- ↑ "Distrail". SKYbrary Aviation Safety. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
- ↑ Romano, Andrea (June 4, 2019). "Why Some Planes Leave Behind Colorful Trails in the Sky". Travel + Leisure. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.