ข้ามไปเนื้อหา

กุ้งเรดบี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กุ้งเรดบี
Caridina cantonensis
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Crustacea
ชั้น: Malacostraca
อันดับ: Decapoda
อันดับฐาน: Caridea
วงศ์: Atyidae
สกุล: Caridina
H. Milne-Edwards, 1837
ชนิด
มากมาย (ดูในเนื้อหา)

กุ้งเรดบี (อังกฤษ: Redbee shrimp) เป็นครัสเตเชียนในกลุ่มกุ้ง จัดอยู่ในสกุล Caridina เป็นกุ้งแคระในตระกูลกุ้งบี เป็นสัตว์น้ำจืด (ไม่มีในแหล่งน้ำธรรมชาติถูกพัฒนาสายพันธุ์โดยมนุษย์) หายใจด้วยเหงือก ลำตัวยาว เปลือกแบ่งเป็นปล้อง ๆ เปลือกที่หุ้มท่อนหัวและอกคลุมมาถึงหางนั้นมี 8 ปล้อง กรีมีลักษณะแหลมชี้ไปข้างหน้า ก้ามและขาอยู่ที่ส่วนหัวและอก มี 10 ขา สามารถแบ่งขากุ้งเรดบีออกเป็น 2 ส่วน คือ ขาที่ใช้ในการเดินจะมีทั้งหมด 5 คู่ แต่ขาคู่แรกนั้นเป็นก้ามที่ใช้ในการหยิบจับอาหารและ ส่วนของครีบว่ายน้ำ จะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ซึ่งจะค่อยโบกเอาน้ำที่มีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อหายใจและเพื่อประโยชน์ในการพัดอ๊อกซิเจนไปใช้ในการฟักไข่ที่อยู่ใต้ท้อง รวมทั้งที่ใต้ครีบว่ายน้ำนั้นยังใช้เป็นที่อุ้มไข่ที่ถูกรับการปฏิสนธิแล้วเพื่อรอเวลาในการฟักเป็นลูกกุ้งตัวน้อยส่วนเหงือกของกุ้งเรดบีนั้นลักษณะคล้ายขนนกอยู่ใกล้บริเวณปากเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการระบบหายใจกล่าวคือเป็นทางผ่านของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านเข้าช่องเหงือก อุปนิสัยโดยปกติกุ้งเรดบีชอบหลบซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ ตามพื้นน้ำหรือซอกหลืบในมุมมืด ๆ มักจะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนในธรรมชาตินั้น กุ้งเรดบี (กุ้งบี) กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร เช่น ซากพืช ซากสัตว์ ลูกปลาขนาดเล็กที่พึ่งเกิดอ่อนแอ ไส้เดือนน้ำและกุ้งด้วยกันเอง รวมไปถึงสัตว์หน้าดินขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย[1]

ประวัติ

[แก้]

กุ้งเรดบีมีรากฐานเดิมมาจาก "กุ้งบี" (Bee Shrimp, Normal Bee shrimp, Bee Shrimp, Caridina serrata) กุ้งบีในธรรมชาตินั้นสามารถพบได้ในแหล่งน้ำลำธารในป่าเขา ที่เย็นเงียบสงบสะอาดบริเวณแถบประเทศจีน ตอนล่าง จวบจนในประเทศเวียดนามตอนบนและในลำธารชายเขาในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ลักษณะทางกายภาพทั่วไปของกุ้งบีลำตัวมีลักษณะสั้นป้อม สีที่พบจะมีสีดำจาง ๆ สีน้ำตาลเข้มอมดำหรือน้ำเงินแก่ มีสีขาวที่เกือบใส ขึ้นสลับไปมา ที่บริเวณปลายกรีช่วงลำตัวปลายข้อหาง

กุ้งเรดบีเกิดจากการพัฒนาคัดสรรกุ้งบีจากในธรรมชาติ ด้วยหลักการ Inbreed เพื่อให้เกิดการผ่าเหล่า จนเกิดกุ้งที่มีลักษณะ เด่นแปลกประหลาดกว่ากุ้งบีดั้งเดิมในธรรมชาติ กล่าวคือมีสีแดงจางสลับปล้องขาวเล็ก ๆ ที่ยังใส ซึ่งผู้ที่พัฒนากุ้งนี้เป็นผลสำเร็จคือ Mr.Hisayasu Suzuki ชาวญี่ปุ่นซึ่งอาจกล่าวได้ว่าท่านคือบิดาแห่งกุ้งเรดบี[2] ซึ่งท่านใช้เวลาในการพัฒนาถึง 6 ปี ด้วยสีของกุ้งบีนี้ มีสีโทนแดง จึงเป็นที่มาของชื่อ Crystal Red Shrimp (CRS) แต่ชื่อที่นิยมกล่าวขานกุ้งตัวนี้คือกุ้งเรดบี (Redbee Shrimp, Crystal Red Bee Shrimp, Bishurinpu) แต่การพัฒนา กุ้งเรดบีนั้นยังไม่หยุดแค่นั้นยังคง มีการพัฒนาต่อเนื่องใทั้งในเรื่องสีสันที่เข้มขึ้น แดงเป็นแดงสดขาวเป็นขาวทึบ มีการแยกเกรดกุ้งเรดบีออกเป็น (อ้างอิงในประเทศญี่ปุ่นจะแบ่งเกรดเป็น Normal Grade, S Grade, SS Grade, SSS Grade และยังมีการแบ่งตาม ลวดลาย ได้ดังนี้

  • โมสุระ โดยกรีมีแถบขาวบริเวณหัวแดงลำตัวจรดปลายหางมีสีขาวหรืออาจมีจุดแดงบริเวณข้อหาง
  • โมสุระคราว โดยมีลักษณะลวดลายเหมือนโมสุระแต่สิ่งที่แตกต่างคือ จะมีจุดที่บริเวณกลางหัวด้านบน ซึ่งจะมีทั้งจุดแดงหรือจุดขาว เหมือนกุ้งนั้นมีมงกุฏอยู่บนหัว
  • โมสุระฟลาวเวอร์ โดยมีลักษณะลวดลายเหมือนโมสุระแต่สิ่งที่แตกต่างคือบริเวณข้างแก้มกุ้งจะมีลวดลายเส้นที่บริเวณข้างแก้มกุ้ง คล้ายกลีบดอกไม้
  • ฮิโนมารุ โดยกรีมีแถบขาวบริเวณหัวแดงลำตัวจรดปลายหางมีสีขาวหรืออาจมีจุดแดงบริเวณข้อหาง แต่จุดเด่นคือจะมี จุดที่กลางหลังดูแล คล้ายกับธงชาติญี่ปุ่นเมื่อมองมุมเหนือผิวน้ำ
  • วี โดยกรีมีแถบขาวบริเวณหัวแดงลำตัวจรดปลายหางมีสีขาวหรืออาจมีจุดแดงบริเวณข้อหาง แต่จุดเด่นคือจะมีแถบ สีแดงพาดลงมาทั้งด้านซ้ายและขวาของลำตัวคล้าย อักษร V
  • ไทเกอร์ โดยกรีมีแถบขาวบริเวณหัวแดงลำตัวจรดปลายหางมีสีขาวหรืออาจมีจุดแดงบริเวณข้อหาง แต่จุดเด่นคือจะมี แถบสีแดงที่พาดลงทั้งด้านซ้ายขวาของกุ้ง แลดูคล้ายเขี้ยวเสือ 2 เขี้ยว

การพัฒนากุ้งเรดบีนั้นยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ยังคงทยอยมีกุ้งเรดบีที่แตกแยกย่อย มาตลอด อาทิ เช่น กุ้งแบล็คบี ทุกประการมีลักษณะลวดลายและเกรด เหมือนเรดบีทุกประการแต่แตกต่างที่มีสีดำเข้มแทนที่สีแดง และต่างจากกุ้งบีดังเดิมคือ ความเข้มของ สีดำและขาวและการตัดสีของเปลือกกุ้งที่เด่นชัดเจนกว่า กุ้งสโนว์ มีสีขาวหรือขาวอมเหลืองตลอดตัว และถือเป็นกุญแจสำคัญ ในการพัฒนาในเรื่องลวดลายของกุ้งให้มีลูกเล่นที่มากขึ้นและสง่างาม (โมสุระฟลาวเวอร์, โมสุระคราว)

การเจริญเติบโต

[แก้]

การลอกคราบ

[แก้]

ปัจจัย

[แก้]

วัฎจักรการลอกคราบของกุ้งเรดบีนั้น มีปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย อาทิเช่น[3]

  • อายุกุ้ง — กุ้งจะมีการลอกคราบบ่อยครั้งเมื่ออายุน้อย ช่วงที่จะลอกถี่มากที่สุดแทบจะทุกวันคือในช่วงเดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่วัดกันว่าจะรอดมากน้อย ถัดมาในเดือนที่ 2–3 ก็จะเป็นช่วงของการพัฒนาในด้านโครงสร้างและสีสัน ช่วงนี้กุ้งเรดบีจะลอกคราบช้าลง ช่วงวันจะกระชับขึ้นแต่พัฒนาการการเติบโตก็ยังคงเดินต่อ ช่วงเดือนนี้เราก็จะพอเห็นแววกุ้งแล้วว่าจะมีแนวโน้มไปด้านสวยขึ้นเหมือนพ่อแม่หรือด้อยลงและเริ่มมองออกว่าเป็นเพศอะไร พอกุ้งเริ่มก้าวย่างเข้าเดือนที่ 4 ขึ้นไป ความถี่ในการลอกคราบก็จะเริ่มน้อยลงอยู่ที่วงรอบ ประมาณ 3–4 สัปดาห์ต่อครั้ง ± 3–5 วัน
  • สารอาหารที่จำเป็น — มีส่วนในการลอกคราบเนื่องจากกุ้งเรดบีนั้นจะต้องสร้างเปลือก ซึ่งเปลือกที่สร้างก็มีที่มาจากการสะสมจากแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำและในอาหารตลอดจนถึงวิตามินที่ละลายอยู่ในน้ำด้วยในการนำมาสะสม
  • คุณภาพน้ำและอุณหภูมิและไคโตซาน — น้ำที่มีแร่ธาตุครบสมบูรณ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อกระบวนการสะสม แร่ธาตุส่วนน้ำที่มีคุณภาพดีสะอาดก็ส่งผลต่อพฤติกรรมความร่าเริงในการดำรงชีวิตประจำวันของกุ้งในการกินอาหาร เพื่อสะสมพลังงานและสารอาหารเพื่อไปใช้ในการลอกคราบ อุณหภูมิเกี่ยวข้องอย่างไรกับกระบวนการลอกคราบที่ต้องเกี่ยว เพราะอุณหภูมิที่ต่ำทำให้กุ้งมีพฤติกรรมการกินอาหารที่น้อยลง อุณหภูมิสูงทำให้กุ้งกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่ากุ้งที่อยู่ในตู้ที่มีอุณภูมิสูงจะกินเก่งโตไวและลอกคราบได้ไวมากกว่า แต่กระนั้นสีสันจะสู้กุ้งที่อยู่ในตู้ที่มีอุณภูมิต่ำกว่าไม่ได้เลย ส่วนไคโตซานก็มีการนำมาใช้กับกระบวนการลอกคราบ เพราะไคโตซานเป็นสารตั้งต้นในการสร้างเนื้อเยื่อและเปลือก ช่วยกระตุ้นให้กุ้งมีการลอกคราบได้ดีและไวขึ้น ทำให้กุ้งเกิดการผสมพันธุ์ได้ไวกว่าปกติกว่าที่ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ในการเร่งก็มีข้อเสียเช่นกัน กล่าวคือทำให้ความแข็งแรงสมบูรณ์ของกุ้งจะด้อยลง แม่กุ้งอ่อนแอ เพราะการสะสมแร่ธาตุพลังงานอาหารนั้นไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ในกระบวนการลอกคราบ การนำไคโตซานนั้นกับกุ้งเรดบีใช้ได้แต่ควร ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมถูกต้องตามปริมาณและในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ระยะการลอกคราบ

[แก้]

ระยะการลอกคราบของกุ้งเรดบีแบ่งออกได้ 3 ช่วงดังนี้

  1. ระยะก่อนการลอกคราบ — มีลักษณะคือ บริเวณคอกุ้งเปลือกชิ้นที่สองจะมีรอยการปริแยกออก จากบริเวณคอกุ้งและกุ้งมักจะเก็บตัวแยกสันโดษไม่ยุ่งกับใคร การเคลื่อนไหวจะช้า ไม่สนใจอาหารเท่าที่กุ้งทั่วไปควรจะเป็น ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่กุ้งเริ่มที่จะสะสมพลังงานสารอาหารเพื่อเร่งในการนำไปใช้ในกระบวนการสร้างเปลือกใหม่ทดแทนเปลือกเก่าที่จะถูกสลัดออก ไปช่วงนี้กุ้งจะใช้ออกซิเจนค่อนข้างมากในการนำไปใช้ในกระบวนการนี้
  2. ช่วงลอกคราบ — ในช่วงนี้กุ้งจะมีพฤติกรรมที่นิ่งเฉย ส่วนปริมาณกลูโคส ไขมัน โปรตีนที่อยู่ในกระแสเลือด ที่กุ้งสะสมไว้จะเพิ่มขึ้น ช่วงนี้กุ้งต้องการใช้ออกซิเจนเพื่อเข้าสู่ร่างกายปริมาณมาก เนื่องจากกุ้งจะต้องใช้พลังงานจำนวนมากไปใช้ในการสลัดคราบเก่าและสร้างคราบใหม่มาทดแทน เมื่อกุ้งลอกคราบเสร็จก็จะถึงช่วงเวลาทองในการผสมพันธุ์ สำหรับกุ้งเพศเมียซึ่งจะมีเวลาแค่ช่วงสั้น ๆ แต่มีความหมาย กุ้งทั้งตู้จะว่ายน้ำวนอย่างไร้ทิศทางเพื่อจุดหมายเดียวคือการปล่อยน้ำเชื้อไป ผสมไข่ที่บริเวณหัวของกุ้งเพศเมียที่พึ่งสลัดคราบถ้าการผสมคราวนั้นสำเร็จ กุ้งที่พึ่งลอกคราบนั้นก็จะมีการเคลื่อนย้ายไข่จากบริเวณหัวแม่กุ้งมายังท้องเพื่อรอการฟูมฟักเป็นกุ้งน้อยในเวลา 3–4 สัปดาห์ถัดมา (อุณหภูมิต่ำแม่กุ้งจะฟักไข่นาน แต่กุ้งจะออกมาแข็งแรงถ้าอุณหภูมิสูงแม่กุ้งจะฟักไข่ระยะสั้นกว่า) แต่ถ้าการผสมครั้งนี้ไม่สำเร็จก็จะต้องรอการลอกคราบคราวถัดไปเพราะเปลือกกุ้งเพศเมียเริ่มแข็งไม่เอื้ออำนวยต่อการสืบพันธุ์ ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าขั้นตอนนี้กุ้งจะเสียพลังงานค่อนข้างจะมาก เราจึงมักจะสูญเสียกุ้งกันมากในขั้นตอนการลอกคราบในช่วงขั้นนี้ โดยเฉพาะตัวเมียจะเกิดการสูญเสียมากที่สุดในขั้นตอนนี้ เนื่องด้วยสาเหตุความอ่อนเพลียกระบวนการสะสมสารอาหารที่สั้น ข้อนี้มักเจอะปัญหากับตู้ที่เลี้ยงกุ้งเรดบีในอุณหภูมิที่สูงกว่า 28 องศาเซลเซียส การที่แร่ธาตุในน้ำที่ต่ำไปก็ก่อให้เกิดปัญหาแร่ธาตุไม่เพียงพอต่อการที่กุ้งจะนำไปสะสมในการสร้างเปลือก ทำให้กุ้งลอกคราบไม่สำเร็จและเปลือกไม่แข็งตัวหลังการลอกคราบ หรือการลอกคราบที่สลัดไม่หมดจนติดที่ตัวกุ้งจนสลัดไม่ออก
  3. ระยะหลังการลอกคราบเสร็จสมบูรณ์ — เปลือกก็จะเริ่มค่อย ๆ แข็งดังเดิม กุ้งจะเริ่มมีการใช้ชีวิตตามปกติเดินคุ้ยหาสิ่งต่าง ๆ เข้าปากตลอดเวลา เจริญอาหารมากขึ้น เพื่อนำสารอาหารแร่ธาตุวิตามินเหล่านั้นไปชดเชยส่วนที่เสียไปในกระบวนการก่อนหน้านี้ และสะสมเพื่อการลอกคราบในคราวต่อไป โดยนำไปสำรองในตับกุ้งซึ่งกุ้ง จะสะสมไปเรื่อย ๆ จนกว่ามันพร้อมก็จะเริ่มต้นกลับไปที่ระยะที่หนึ่งในการลอกคราบอีกหนเป็นเช่นนี้วนเวียนไปจนสิ้นอายุขัย

การเลี้ยงดู

[แก้]

แม้กุ้งเรดบีนั้นจะมีบรรพบุรุษที่มาจากกุ้งบีที่อาศัยอยู่ใน ธรรมชาติก็ตามแต่กุ้งเรดบีนั้นกลับไม่สามารถดำรงชีวิตได้ในธรรมชาติเพราะความอ่อนแอ ที่เกิดจากการการพัฒนาแบบอินบรีดและความไม่คุ้นเคยในธรรมชาติเดิมที่บรรพบุรษมันได้เคยอยู่อาศัย ประกอบกับสีสันที่เด่น ทำให้ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ใหญ่ในธรรมชาติได้ง่าย ซึ่งกุ้งบีในธรรมชาตินั้นจะมีสีโทนดำน้ำตาลขาวจาง ๆ ซึ่งสามารถ อำพรางกายได้ตามผิวดินต้นไม้ก้อนหิน ซึ่งกุ้งเรดบีนี้ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ ฉะนั้นการเลี้ยงดูมันในตู้ที่มนุษย์จัดสรรให้กุ้งเรดบีจึงค่อนข้างจะจุกจิกค่อนข้างมาก เพราะเป็นกุ้งที่มีความอ่อนแอในตัวมันเองอยู่แล้ว

ชนิด

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. บทความกุ้งเรดบี
  2. "Breeder Mr. SUZUKI in Japan". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ 2012-08-08.
  3. การเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของกุ้งเรดบี
  4. Charles Fransen (2011). "Caridina H. Milne Edwards, 1837 [in H. Milne Edwards, 1834-1840". World Register of Marine Species. Retrieved December 8, 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Caridina ที่วิกิสปีชีส์