ข้ามไปเนื้อหา

กุหลาบจุฬาลงกรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กุหลาบจุฬาลงกรณ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Rosales
วงศ์: Rosaceae
วงศ์ย่อย: Rosoideae
สกุล: Rosa
L.
สปีชีส์: Rosa Hybrid Perpetual

ความหมาย(๑)

[แก้]
  • กุหลาบจุฬาลงกรณ์ คือ ดอกกุหลาบพันธุ์หนึ่ง ไม่มีหนามที่ลำต้น มีขนาดดอกที่ใหญ่มาก สีชมพู และมีกลิ่นหอมจัด เกิดการการเพาะพันธุ์ของชาวยุโรปผู้หนึ่ง และชาวยุโรปผู้นั้นได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งชื่อกุหลาบงามพันธุ์ที่เขาผสมขึ้นใหม่ว่า “King of Siam” ซึ่งเป็นดอกกุหลาบที่โปรดของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และทรงถวายนามกุหลาบนั้นว่า "กุหลาบจุฬาลงกรณ์"

ความหมาย(๒)

[แก้]
  • "พระราชชายา เจ้าดารารัศมี" กับ "กุหลาบจุฬาลงกรณ์"
ไฟล์:R09.JPG
"พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา" เสด็จเยี่ยมชม กุหลาบ "จุฬาลงกรณ์" ของพระราชชายาฯ
ไฟล์:R08.JPG
ขนาดของกุหลาบ เมื่อเทียบกับพระพักตร์ "หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย ดิศกุล" จะเห็นว่ามีขนาดใหญ่มาก

หลังจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้เสด็จนิวัติกลับมาประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่ เป็นการถาวร ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี โปรดกุหลาบมาก ทรงเป็น สมาชิกกิตติมศักดิ์ ของ ราชสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ หรือ The Royal National Rose Society (RNSS) และทรงได้รับการถวายพันธุ์กุหลาบต่างๆ ทุกปี ซึ่งโปรดฯ ให้ปลูก ณ พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก ดอยสุเทพ และ คุ้มเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงพบกุหลาบขนาดใหญ่พันธุ์หนึ่งจากกุหลาบที่ทรงได้รับการถวายมา เป็นกุหลาบซึ่งมีสีชมพูระเรื่อ ไม่มีหนาม ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา จึงได้พระราชทานนามกุหลาบพันธ์นั้นว่า "จุฬาลงกรณ์" เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสวามีในพระองค์

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี โปรดให้สร้างแปลงเพาะพันธุ์กุหลาบ "จุฬาลงกรณ์"พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก ดอยสุเทพ ซึ่งมีอากาศเย็นทั้งปี และทรงนำมาปลูก ณ คุ้มเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง ด้วย เมื่อ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ ก็โปรดให้ปลูกกุหลาบ "จุฬาลงกรณ์" โดยรอบพระตำหนักและทรงตัดดอกถวายสักการะ พระราชสวามี เป็นประจำ

ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกุหลาบ "จุฬาลงกรณ์" มาเพาะพันธุ์และโปรดให้ปลูกประดับโดยรอบ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์

ข้อมูลทางวิชาการ (ชมรมผู้รักกุหลาบภาคเหนือ)

[แก้]

ไม่มีประวัติแน่ชัดของกุหลาบ แต่สันนิษฐานว่า พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงสั่งหรือได้รับการถวายมาระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ ไม่ทราบว่าเป็นกุหลาบชื่อใด แต่โดยที่สมัยนั้น (ช่วงหลัง ค.ศ.๑๘๖๐) กุหลาบไฮบริดเพอร์เพทชวล (Hybrid Perpetual) กำลังนิยมกันในอังกฤษ และจากภาพถ่ายจึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นกุหลาบในกลุ่มไฮบริดเพอร์เพทชวล (Hybrid Perpetual)

ข้อมูลทางวิชาการ (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย)

[แก้]
  • กุหลาบสมัยเก่า (Old Garden Roses)
  • ชนิด - ไฮบริดเพอร์เพทชวล (Hybrid Perpetual)
  • จำนวนกลีบ - ประมาณ ๔๕ กลีบ
  • ขนาดดอก - ๑๒-๑๕ ซม.
  • ลักษณะพิเศษ - หอมจัด ไม่มีหนาม ดอกใหญ่มาก เจริญเติบโตเร็ว
  • ลักษณะด้อย - อ่อนแอต่อโรคใบจุดสีดำ โรคราสีเทาที่ดอก และแคงเกอร์ที่กิ่ง
  • ประวัติความเป็นมา

กุหลาบที่ปลูกเลี้ยงกันแพร่หลายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะในประเทศเราหรือในต่างประเทศ จะเป็นกุหลาบที่จัดอยู่ในกลุ่ม " กุหลาบสมัยใหม่ " (Modern Roses) ซึ่งหมายถึง กุหลาบที่ผสมพันธุ์ออกสู่ตลาดตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๗ (พ.ศ. ๒๔๑๐) และหลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน กุหลาบที่มีอยู่ก่อนปี ค.ศ.๑๘๖๗ จัดเข้าเป็น "กุหลาบสมัยเก่า" (Old Garden Roses) กุหลาบสมัยเก่าที่เคยปลูกกันในเมืองไทยและยังหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้มีอยู่เพียงสองสามพันธุ์คือ กุหลาบมอญสีชมพูและสีแดง (กุหลาบดามัสก์ - Damask)และอีกพันธุ์หนึ่งคือ กุหลาบไฮบริด เพอร์เพทชวล (Hybrid Perpetual) ที่ไม่รู้ชื่อดั้งเดิม นอกจากชื่อที่รู้จักกันในบ้านเราคือ กุหลาบ "จุฬาลงกรณ์"

ที่มาของชื่อกุหลาบต้นนี้มีกล่าวไว้ในหนังสือ พระประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ทำบุญ ๑๐๐ วัน "เจ้าแสงดาว ณ เชียงใหม่" เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ว่า "ทางด้านไม้ดอกนั้น ได้ทรงปลูกไม้ดอกไม้ใบทุกชนิด โดยเฉพาะในเรื่องของกุหลาบแล้ว พระองค์ทรงเป็น สมาชิกสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ ทางสมาคมได้ส่งกุหลาบพันธุ์ใหม่ๆ มาถวายเป็นประจำทุกปี พระองค์ทรงนำเอากุหลาบพันธุ์ต่างประเทศไปปลูกไว้ที่ตำหนักบนดอยสุเทพ (พระราชชายา ฯได้ถวายเป็นสมบัติของพระธาตุดอยสุเทพแล้ว) มากมายหลายพันธุ์ด้วยกัน กุหลาบพันธุ์ที่พระองค์โปรดที่สุดนั้น ได้ทรงตั้งชื่อเพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า "จุฬาลงกรณ์"

อื่นๆ

[แก้]

กุหลาบ “King of Siam” และ กุหลาบ “จุฬาลงกรณ์” จะเป็นกุหลาบพันธุ์เดียวกันหรือไม่ น.อ.คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ ได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้

ประเด็นที่ว่า ชาวต่างประเทศได้ถวายพระนามว่า "King of Siam" นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันว่า คือพันธุ์เดียวกันกับ ที่ "พระราชชายาฯ" ทรงปลูกและถวายพระนามว่า "จุฬาลงกรณ์" อย่าลืมว่า กุหลาบสายพันธุ์นี้ ต้องปลูกในสภาพอากาศค่อนข้างเย็น จึงเป็นสาเหตุให้ พระราชชายาฯ ทรงสร้างแปลงเพาะพันธุ์ บนพระตำหนักบนดอยสุเทพ

หากพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่ "สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง" ทรงนำพันธุ์กลับมาจากการเสด็จประพาสยุโรปและพระราชทาน "พระราชชายาฯ" ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะในห้วงดังกล่าว พระราชชายาฯ มิได้เสด็จนิวัตินครเชียงใหม่ ซึ่งถ้าเช่นนั้น ก็ต้องปรากฏหลักฐานการปลูกกุหลาบ "จุฬาลงกรณ์" ใน "พระราชวังสวนดุสิต" หรือ "พระบรมมหาราชวัง" หรือสถานที่ใดในพระนครกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มี แต่ปรากฏหลักฐานยืนยันว่า มีการปลูกกุหลาบ สายพันธุ์ "Hybrid Perpetual" ที่พระตำหนักของ "พระราชชายาฯ" ที่นครเชียงใหม่ ๒ พระตำหนัก โดยเฉพาะ ณ พระตำหนักบนดอยสุเทพ ที่โปรดให้สร้างแปลงเพาะพันธุ์ ซึ่งสภาพอากาศเหมาะสมต่อสายพันธุ์ดังกล่าว

อย่าลืมว่า "พระราชชายาฯ" ได้เสด็จประทับเป็นการถาวร ณ นครเชียงใหม่ ภายหลัง "สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง" ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว (พ.ศ. ๒๔๕๗) และขณะที่ประทับนครเชียงใหม่นี้เอง ที่ได้ทรงเริ่มสนพระทัยด้านการเกษตรอย่างจริงจัง ดังนั้น กุหลาบ "King of Siam" จึงไม่น่าใช่พันธุ์เดียวกับ กุหลาบ "จุฬาลงกรณ์" และที่สำคัญไม่มีใครเคยเห็น กุหลาบ "King of Siam" (แบบรูปธรรม) ในเมืองไทยเลย นอกจากได้ยินชื่อดังกล่าว (แบบนามธรรม) ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "ไกลบ้าน" เท่านั้น แต่ ในวงการผู้รักกุหลาบต่างรู้จักกุหลาบสายพันธุ์ "Hybrid Perpetual" ในเมืองไทยดีว่า คือ กุหลาบที่ "พระราชชายาฯ" ทรงถวายพระนามว่า "จุฬาลงกรณ์" เพียงอย่างเดียวเท่านั้น อาจเป็นไปได้ว่า เนื่องจากบางท่านอาจเห็นว่าเป็นพระนามของ "สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง" จึงอาจเป็นกุหลาบสายพันธุ์เดียวกับกุหลาบ "King of Siam" ก็เป็นได้ แต่ในกรณีนี้ ภาษาอังกฤษของกุหลาบ "จุฬาลงกรณ์" ควรใช้ "King Chulalongkorn" ในลักษณะเดียวกับ กุหลาบ "ควีนสิริกิติ์" ที่ใช้ว่า "Queen Sirikit" มากกว่า

อ้างอิง

[แก้]