การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 1
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 1 (อังกฤษ: First Amendment หรือ Amendment I) กีดกันรัฐบาลมิให้ออกกฎหมายซึ่งวางระเบียบสถาบันศาสนา หรือกฎหมายที่ห้ามการปฏิบัติศาสนาอย่างเสรี หรือลดทอนเสรีภาพในการพูด เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการสมาคม หรือสิทธิในการร้องทุกข์ต่อรัฐบาลเพื่อปัดเป่าความเดือดร้อน มีการลงมติรับเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1791 เป็นหนึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐ 10 ครั้งที่รวมกันเป็นบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights)
บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองเป็นข้อเสนอเพื่อลดทอนการต่อต้านการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญของพวกต้านสหพันธรัฐนิยม (Anti-Federalist) ในทีแรกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 1 มีผลเฉพาะกับกฎหมายที่รัฐสภาสหรัฐเป็นผู้ตรา และมีการตีความบทบัญญัติแคบกว่าในปัจจุบัน แต่หลังจากคดีระหว่างกิตโลว์ กับรัฐนิวยอร์ก (1925) เป็นต้นมา ศาลสูงสุดสหรัฐใช้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 1 กับรัฐด้วย ผ่านวรรควิถีทางที่ถูกต้องตามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 14
สิทธิในการพูดได้รับการขยายอย่างมากในคำวินิจฉัยของศาลในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 ซึ่งคุ้มครองคำพูดทางการเมือง คำพูดนิรนาม การสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้ง งานลามกและคำพูดในโรงเรียน คำวำนิจฉัยเหล่านี้ยังนิยามข้อยกเว้นของการคุ้มครองตามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 1 หลายอย่าง ศาลสูงสุดกลับบรรทัดฐานกฎหมายคอมมอนลอว์อังกฤษให้เพิ่มภาระการหาหลักฐานสำหรับการหมิ่นประมาทและการโฆษณาหมิ่นประมาท อย่างไรก็ดี คำพูดในเชิงพาณิชย์ได้รับการคุ้มครองตามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 1 น้อยกว่าคำพูดทางการเมือง จึงมีการวางระเบียบมากกว่า
แม้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 1 จะใช้เฉพาะกับตัวแสดงที่เป็นรัฐ[1] แต่มักมีความเข้าใจผิดที่พบบ่อยว่าผู้ใดก็ตามจะจำกัดเสรีภาพในการพูดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองคภาวะที่เป็นเอกชนและไม่ใช่รัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ศาลสูงสุดเคยตัดสินแล้วว่าการคุ้มครองการพูดไม่ได้เด็ดขาด[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Lecher, Colin (June 17, 2019). "First Amendment constraints don't apply to private platforms, Supreme Court affirms". The Verge. สืบค้นเมื่อ June 18, 2019.
- ↑ "What Does Free Speech Mean?". United States Courts. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 4, 2022.