การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงงานไฟฟ้าถ่านหินในเยอรมนี

การค้าขายแลกเปลี่ยนแก๊สเรือนกระจก (อังกฤษ: Emissions trading หรือ cap and trade) เป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งที่จะให้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อให้ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก[1] โดยใช้การพัฒนาโครงการคาร์บอนขึ้นมาใช้ลดแก๊สเรือนกระจกและให้การตอบแทนเป็น คาร์บอนเครดิตซึ่งนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ พิธีสารเกียวโตได้ให้ช่องทางนี้ไว้เพื่อการลดคาร์บอนแล้วขาย (cap and trade) ในกลไกการพัฒนาที่สะอาด Clean Development Mechanism (CDM) รวมทั้งการทำ Joint Implementation เพื่อให้มีการยืดหยุ่นในการจัดการกับคาร์บอน

ในการซื้อขายนี้ เริ่มต้นจากผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งโดยมากจะเป็นรัฐบาล จะกำหนดจุดสูงสุดที่อนุญาตให้ปล่อยคาร์บอนได้ (อาจเป็นการปล่อยแก๊สเรือนกระจกชนิดอื่นแต่เทียบสัดส่วนกับคาร์บอนไดออกไซด์) แต่ละโรงงานก็จะได้สิทธิที่จะสามารถปล่อยได้ในจำนวนหนึ่ง โรงงานที่ปล่อยคาร์บอนเกินจุดที่กำหนดจึงต้องไปซื้อสิทธิมาจากโรงงานที่ปล่อยไม่ถึงสิทธิของตนนั้น ถ้าปล่อยเกินโดยไม่ซื้อจะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น โรงงานหนึ่งก่อนเริ่มโครงการเคยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 100,000 ตันต่อปี เมื่อเข้าโครงการโดยพันธะทางกฎหมายและสมัครใจ จะต้องลดการปล่อยลง 5% คือสามารถปล่อยได้ 95,000 ตันต่อปี ถ้าทำได้สามารถนำส่วนที่ลดได้ไปขายได้ แต่ถ้าลดไม่ได้ ต้องเสียเงินไปซื้อส่วนที่เกินไปจากผู้ที่ลดได้

องค์กรจากภาครัฐ และภาคเอกชนต่างให้ความสนใจในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ (Low-carbon organization) หรือ ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ  โดยในประเทศไทยมีการตั้งจัด “โครงการลดแก๊สเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)” คือ โครงการลดแก๊สเรือนกระจกที่องค์การบริหารจัดการแก๊สเรือนกระจก (อบก.) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดแก๊สเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ ซึ่งสามารถนำมาชดเชยปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ

การทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนที่ อบก. จะให้การรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอน 4 ประเภท ได้แก่

  1. การรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอนของสินค้าและบริการ
  2. การรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอนของการจัดประชุม หรือ งานอีเว้นท์
  3. การรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอนขององค์กร
  4. การรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอนของกิจกรรมส่วนบุคคล

ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันแสดงเจตจำนงค์ในการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเครดิตและแสดงพลังความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ประกอบด้วย กลุ่มมิตรผล, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทซ์ เฟิร์สท์ จำกัด (Wonderfruit), ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. Stavins, Robert N. (November 2001), "Experience with Market-Based Environmental Policy Instruments" (PDF), Discussion Paper 01-58, Washington, D.C.: Resources for the Future, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-01, สืบค้นเมื่อ 2010-05-20, Market-based instruments are regulations that encourage behavior through market signals rather than through explicit directives regarding pollution control levels or methods
  2. http://ghgreduction.tgo.or.th/about-tver/tver-carbon-credit.html