กล้วยศรีน่าน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Si Nan, new banana species from Thailand กล้วยศรีน่าน[1]

กล้วยศรีน่าน ชื่อวิทยาศาสตร์: Musa nanensis Swangpol & Traiperm กล้วยศรีน่านเป็นกล้วยชนิดใหม่ของโลกที่เพิ่งได้รับการตั้งชื่อและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติเมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558

กล้วยศรีน่านเป็นกล้วยป่าขนาดกลาง ลำต้นเทียมสูงราว 180 ซม. ลักษณะที่โดดเด่นคือมีปลีสีแดงส้ม ก้านปลีขนานพื้นแล้วโค้งขึ้น แตกต่างจากกล้วยทั่วไปที่มักมีปลีห้อยลง หรือกล้วยประดับที่มีปลีตั้งขึ้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ มีเกสรเพศผู้ 6 อัน แตกต่างจากกล้วยชนิดอื่นในโลกที่มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ผลของกล้วยศรีน่านมีเมล็ดสีดำแข็งจำนวนมาก รับประทานได้แต่เนื้อน้อย

กล้วยศรีน่านพบขึ้นในพื้นที่ป่าดิบแล้ง ในหุบเขาใกล้ลำธาร และพบเพียง 5-10 กอเท่านั้น อีกทั้งอยู่ในพื้นที่ป่าที่มีแนวโน้มจะถูกบุกรุกแผ้วถางทำลาย หากพิจารณาด้วยหลักเกณฑ์ของ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources) พบว่าเป็นพืชที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically Endangered - CR)

กล้วยศรีน่านเป็นพืชชนิดแรกที่ตั้งชื่อให้จังหวัดน่าน โดยพบเป็นครั้งแรกที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และยังไม่พบในพื้นที่อื่นในประเทศไทยอีกเลย

กล้วยศรีน่านถูกพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดย ดร. ปรัชญา ศรีสง่า หัวหน้าส่วนหอพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จากนั้น 10 ปีต่อมาได้แจ้งให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศศิวิมล โฉมเฉลา แสวงผล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าไปตรวจสอบและพบว่าเป็นกล้วยชนิดใหม่ จึงได้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมทั้งด้านสัณฐานวิทยา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปวีณา ไตรเพิ่ม ตรวจสอบด้านกายวิภาคศาสตร์ เพื่อยืนยันความแตกต่างจากกล้วยป่าชนิดอื่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศศิวิมล โฉมเฉลา แสวงผล และรองศาสตราจารย์ ดร. ปวีณา ไตรเพิ่ม ตีพิมพ์ชื่อกล้วยชนิดใหม่นี้ในวารสาร "ซิสเตมาติก โบตานี (Systematic Botany)" ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558[2]

ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2558 Dr. Stephan W. Gale จาก Kadoorie Farm and Botanic Garden, Hong Kong, China และ Mrs. Somsanith Bouamanivong, Director of Ecology Division, Curator of National Herbarium of Laos (HNL) พบกล้วยศรีน่านใกล้ Kasi, Lao PDR

การค้นพบกล้วยศรีน่าน เป็นการค้นพบชนิดพันธุ์พืชที่มีความสำคัญ ทั้งด้วยลักษณะดอกที่พิเศษแตกต่างจากกล้วยชนิดอื่น ทั้งด้วยความสวยงามของปลี ทั้งด้วยเป็นการค้นพบในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นภูมิภาคสำคัญที่มีความเปราะบางทางนิเวศวิทยา มีเอกลักษณ์และถูกคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรง กล้วยศรีน่านได้รับเลือกจากวารสาร Science News[3] และ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล[4] ให้เป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์เด่นที่สุดที่ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 2015 และมีการนำเสนอข่าวการค้นพบนี้ในสื่อหลายแห่ง เช่น เว็บไซต์ของ BBC Thai[5]

เนื่องจากเป็นกล้วยที่มีปลีสวยงาม สีสด และออกปลีมาก แต่ต้องการอากาศเย็น จึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นไม้ประดับหรือตัดปลีเป็นไม้ตัดดอกได้หากปลูกในบนพื้นที่สูงที่มีอากาศเย็น

ทั้งนี้ในประเทศไทยมีกล้วยป่าพื้นเมือง (native wild species) ราว 10 ชนิด เช่น กล้วยหก กล้วยแข้  กล้วยบัวสีส้ม กล้วยศรีนรา กล้วยนวล กล้วยผา เป็นต้น กระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณชายป่าบนเทือกเขาต่างๆ กล้วยศรีน่านเป็นชนิดใหม่ที่ค้นพบล่าสุด ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2551 ผศ. ศศิวิมล และทีมสำรวจกล้วยของมหาวิทยาลัยมหิดลได้พบกล้วยชนิดใหม่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย และตั้งชื่อว่ากล้วยนาคราช (Musa serpentina Swangpol & Somana)[6]

บรรณานุกรม[แก้]

  • [2] Sasivimon Chomchalow Swangpol, Paweena Traiperm, Jamorn Somana, Narongsak Sukkaewmanee, Prachaya Srisanga, Piyakaset Suksathan "Musa nanensis, a New Banana (Musaceae) Species from Northern Thailand," Systematic Botany, 40(2), 426-432, (10 August 2015)
  • [3] Science News. Musa nanensis: New Species of Wild Banana Discovered in Thailand. Oct 18, 2015
  • [4] องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF - World Wide Fund For Nature. NEW SPECIES DISCOVERIES IN 2015
  • [5] บีบีซี ไทย. 19 ธันวาคม 2016. นักวิทยาศาสตร์พบสิ่งมีชีวิต 163 ชนิดพันธุ์ใหม่ในลุ่มน้ำโขง
  • [6] Swangpol, S., & Somana, J. (1). Musa serpentina (Musaceae): a new banana species from western border of Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany), (39), 31-36. Retrieved from https://www.tci-thaijo.org/index.php/ThaiForestBulletin/article/view/24174
  • ณรงค์ศักดิ์ สุกแก้วมณี. ภาพวาดพฤกษศาสตร์กล้วยป่าในประเทศไทยในมิติทางศิลปะ. กทม. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ. 2558. หน้า 46-47.

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]