กระโดนใต้
กระโดนใต้ | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Asterids |
อันดับ: | Ericales |
วงศ์: | Lecythidaceae |
สกุล: | Planchonia |
สปีชีส์: | P. valida |
ชื่อทวินาม | |
Planchonia valida (Blume) Blume[1] | |
ชื่อพ้อง[1] | |
กระโดนใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์: Planchonia valida (Blume) Blume เป็นพืชในวงศ์ Lecythidaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 35 เมตร ทรงพุ่มกว้างได้ถึง 200 เซนติเมตร[2] โคนต้นมีพูพอน ขึ้นตามชายป่าดิบชื้นตามที่ลาดชันใกล้ลำธาร ระดับความสูงประมาณ 300 เมตร อาจพบได้สูงถึง 1,000 เมตร พบในไทยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง เช่นที่ อ.เบตง จ.ยะลา กระจายพันธุ์ตั้งแต่หมู่เกาะนิโคบาร์ไปจนถึงเกาะนิวกินี[3]
ลักษณะ
[แก้]ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับยาว 10–20 ซม. ใบที่ปลายกิ่งใกล้ช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าปรกติ ปลายใบแหลมยาวโคนใบเรียวสอบเป็นครีบจรดก้านใบ ก้านใบยาว 1–3 ซม. แผ่นใบค่อนข้างบาง ขอบใบจักฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบ เส้นแขนงใบข้างละ 10–15 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหกึ่งขั้นบันได เห็นชัดเจนทั้งสองด้าน หูใบร่วงง่ายรูปลิ่มแคบ ช่อดอกแบบช่อกระจะตั้งขึ้นขนาด 6–13 ซม. ดอกเรียงหนาแน่น ก้านดอกหนายาว 0.2–1 ซม. ใบประดับย่อยรูปขอบขนานยาว 0.7–1.5 ซม. ฐานดอกรูปถ้วยเป็นสันเมื่อแห้ง ยาว 5–7 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบติดทน รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ปลายมน ยาว 0.5–1 ซม. กลีบดอกบางมี 4 กลีบ สีเขียวอ่อน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาว 1.5–3.5 ซม. ปลายมนม้วนงอ ก้านชูอับเรณูยาว 2.5–4.5 ซม. ช่วงโคนสีแดงอมชมพู ช่วงปลายสีขาว โคนเชื่อมติดกัน จานฐานดอกรูปวงแหวน สูงประมาณ 1 มม. รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3–4 ช่องขนาดประมาณ 4×5 มม. ผลคล้ายผลแบบมีเนื้อรูปไข่หรือทรงรี ยาว 3-4 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 ซม. สีออกเขียวอ่อน แต่ละผลมี 6 เมล็ด เมล็ดรูปไข่เป็นเหลี่ยม[4]
ประโยชน์
[แก้]ในอินโดนีเซีย ใบอ่อนหรือตาใบ สามารถใช้เป็นเครื่องเทศใส่ในอาหารร่วมกับผักอื่น ๆ ผลใช้รักษาโรคข้ออักเสบและโรคผิวหนังบางชนิด เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง, ต่อเรือ[5][6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Planchonia valida". The Plant List. สืบค้นเมื่อ 28 August 2013.
- ↑ Priyadi, H., Takao, G., Rahmawati, I., Supriyanto, B., Nursal, W. I., Rahman, I. (2010). Five hundred plant species in Gunung Halimun Salak National Park, West Java: a checklist including Sundanese names, distribution and use. CIFOR, Bogor, Indonesia. ISBN 978-602-8693-22-6
- ↑ "Ngeunaan tangkal putat" (ภาษาอินโดนีเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-22. สืบค้นเมื่อ 2021-01-24.
- ↑ "Plant of the month January, 2013: กระโดนใต้". สำนักงานหอพรรณไม้. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2014.
- ↑ "Putat dimangpaatkeun daun jeung buahna" (ภาษาอินโดนีเซีย).
- ↑ Mangpaat daun, buah jeng tangkal putat (ภาษาอินโดนีเซีย).