ข้ามไปเนื้อหา

ไข้เหลือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Yellow fever)
ไข้เหลือง
(Yellow fever)
ภาพถ่ายไวรัสไข้เหลืองโดยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (ขยาย 234,000 เท่า)
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10A95
ICD-9060
DiseasesDB14203
MedlinePlus001365
eMedicinemed/2432 emerg/645
MeSHD015004

ไข้เหลืองเป็นโรคชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคไข้เลือดออกจากไวรัส

ไวรัสไข้เหลืองมีขนาด 40-50 นาโนเมตร เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอไวรัสเซนส์บวก มีปลอกหุ้ม อยู่ในแฟมิลีฟลาวิไวริดี ติดต่อผ่านทางการถูกยุงตัวเมียที่มีเชื้อกัด อาจเป็นยุงไข้เหลือง ยุงลาย หรือยุงอื่น ๆ บางชนิด พบในพื้นที่เขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกาและพื้นที่ข้างเคียง แต่ไม่พบในทวีปเอเชีย โฮสต์ของไวรัสไข้เหลืองคือลิงไพรเมทรวมถึงมนุษย์และยุงบางชนิด เชื่อว่าโรคนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่แอฟริกา ระบาดมายังอเมริกาใต้พร้อมกับการค้าทาสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อมาในศตวรรษที่ 17 เริ่มมีบันทึกการระบาดครั้งใหญ่หลายครั้งในอเมริกา แอฟริกา และยุโรป จนในศตวรรษที่ 19 ไข้เหลืองก็ถูกยกระดับเป็นโรคติดต่อที่อันตรายที่สุดโรคหนึ่ง

ผู้ป่วยไข้เหลืองส่วนใหญ่มีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ (โดยเฉพาะหลัง) และปวดศีรษะ ส่วนใหญ่หายได้เองในเวลาหลายวัน ผู้ป่วยบางคนจะมีระยะพิษตามหลังจากระยะไข้ เซลล์ตับเสียหายจนมีดีซ่าน (เป็นที่มาของชื่อโรค) และอาจเป็นมากจนเสียชีวิตได้ ไข้เหลืองอาจทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกง่าย จึงจัดอยูในกลุ่มโรคไข้เลือดออก องค์การอนามัยโลกประมาณไว้ว่ามีคนที่ไม่ได้รับวัคซีนไข้เหลืองป่วยเป็นไข้เหลือง 200,000 รายต่อปี และเสียชีวิต 30,000 รายต่อปี ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไข้เหลืองกว่า 90% อยู่ในแอฟริกา

วัคซีนไข้เหลืองที่ปลอดภัยและใช้ได้ผลนั้นผลิตสำเร็จตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 บางประเทศยังกำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนนี้ก่อนเข้าประเทศ เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะจึงมีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง พร้อม ๆ กับลดจำนวนยุงและลดโอกาสถูกยุงกัด ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยไข้เหลืองเริ่มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง จึงจัดอยู่ในกลุ่มโรคอุบัติซ้ำ (re-emerging disease) เชื่อว่าเป็นผลจากสภาพสังคมและสงครามในหลาย ๆ ประเทศในแอฟริกา