ข้ามไปเนื้อหา

การไล่ผีที่ไวนูอีโอมาทา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Wainuiomata mākutu lifting)

ในเดือนตุลาคม 2007 มีการไล่ผี (mākutu lifting) ที่ชานเมืองไวนูอีโอมาทา (Wainuiomata) นครเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นเหตุให้ เจเน็ต โมซิส (Janet Moses) หญิงวัยยี่สิบสองปีถึงแก่ความตาย และหญิงวัยสิบสี่ปีอีกคนบาดเจ็บ ต่อมาในปี 2009 สมาชิกเก้าคนของครอบครัวผู้ตาย ซึ่งทั้งหมดเป็นญาติข้างมารดาหรือคู่สมรสของญาติเหล่านั้น ถูกดำเนินคดีเนื่องในการดังกล่าว[1] ลุงหนึ่งคนของผู้ตาย กับป้าอีกสี่คนของผู้ตาย ถูกพิพากษาว่า ทำให้ผู้ตายจมน้ำตาย[2]

การไล่ผีครั้งนี้ รวมถึงการดำเนินคดีในภายหลัง มีชื่อเพราะส่งผลให้การไล่ผีของพวกเมารี (Māori) ที่เรียก "มากูตู" (mākutu) กลายเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนนิวซีแลนด์ และของปัจเจกชนกลุ่มใหญ่ซึ่งเมื่อทราบเรื่องแล้วก็พากันงดเว้นวิธีไล่ผีดังกล่าว นอกจากนี้ ยังทำให้สื่อสนใจการไล่ผีและพวกเมารีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย

ภูมิหลัง

[แก้]

"มากูตู" เป็นคำในภาษาเมารีซึ่งเป็นนามก็ได้เป็นกริยาก็ได้แล้วแต่บริบท มีความหมายว่า คำสาป เวทมนตร์[3] หรือคุณไสย[4] ตามอักขรวิธีปัจจุบัน คำ "mākutu" เขียนโดยมีเครื่องหมายเมครอน (macron) "ā" ด้วย แต่ในเอกสารประวัติศาสตร์ รวมถึงเอกสารปัจจุบันบางฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์ ไม่ใช้เครื่องหมายดังกล่าว เพราะข้อจำกัดทางเทคนิค

ตามประวัติศาสตร์แล้ว เคยมีพระราชบัญญัติห้ามหมอผี ค.ศ. 1907 (Tohunga Suppression Act 1907) ซึ่งตราขึ้นด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ห้ามกิจกรรมของหมอผีหรือที่เรียก "โทฮังกา" (tohunga) แต่พระราชบัญญัตินี้ยกเลิกไปเมื่อปี 1962

เหตุการณ์

[แก้]

เจเน็ต โมซิส จิตวิปริตมาแต่เดิมแล้ว เธอสูญเสียยาย และความสัมพันธ์ของเธอกับคู่รักซึ่งมีบุตรด้วยกันสองคนก็ไม่ราบรื่น อนึ่ง ครอบครัวของเธอใช้รูปสิงโตเป็นสัญลักษณ์ และสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวก็สักรูปสิงโตไว้บนกายพร้อมข้อความว่า "ครอบครัวกลมเกลียว" (Family united) ด้วย[5] ต่อมา โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองเกรย์ทาวน์ (Greytown) ปลดรูปปั้นสิงโตออก และการปลดนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมของโมซิส ครอบครัวของเธอว่า นับแต่นั้นเธอก็ "ทำตัวเหมือนสิงโต"[6] ภายหลัง ศาลฟังคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญว่า เธอมี "ความผิดปรกติทางจิตวิทยาหรือจิตเวชเป็นพื้นอยู่แล้ว" (underlying psychiatric or psychological disorder)[7]

ความวิปริตของโมซิสทำให้ครอบครัวเป็นกังวล พวกเขาจึงพากันปรึกษาทีมี ราฮี (Timi Rahi) ซึ่งเป็นแก่บ้าน หรือที่ภาษาเมารีเรียก "คาอูมาทูอา" (kaumātua) ราฮีสวดมนต์วิงวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือเธอ และแนะนำให้ครอบครัวเธอเอารูปสิงโตกลับคืนที่เดิม ครอบครัวก็ทำตาม ราฮียังชี้แจงต่อครอบครัวนี้ด้วยว่า เป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องรักษาเธอ[6] เมื่อราฮีกลับ ครอบครัวของโมซิสซึ่งญาติข้างมารดาเป็นใหญ่นั้นจึงจัดพิธีไล่ผีที่ห้องแถวซึ่งยายผู้วายชนม์ของโมซิสเคยอยู่ พิธีดังกล่าวทำกันแบบนั่งเทียน เพราะไม่มีใครในบรรดาผู้ร่วมพิธีมีความรู้เกี่ยวกับการไล่ผีแบบมากูตูเลย ระหว่างพิธีนั้น มีการใช้น้ำอย่างมากเพื่อทำให้พรมเปียกโชก ถึงขนาดที่ต้องเจาะรูเล็ก ๆ ที่พื้นเพื่อระบายน้ำออก ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงให้การว่า ได้ยินเสียงกระทืบตึงตังเป็นจังหวะทั้งคืน[8]

การพิจารณาคดีในภายหลังปรากฏว่า ญาติทั้งหลายช่วยกันกรอกน้ำเข้าเบ้าตาและลำคอของเธอเพื่อไล่ผี[9] ครั้นเวลาประมาณ 8:00 นาฬิกาของวันที่ 12 ตุลาคม 2007 โมซิสตายเพราะจมน้ำ บิดาของเธอใช้เวลาทั้งคืนเดินทางจากเมืองไครสต์เชิร์ชมาสมทบกับบุตรสาว เขามาถึงเมื่อเวลา 16:30 นาฬิกาของวันนั้น จึงได้รับทราบการตายของบุตรสาวในเวลาดังกล่าว[5] ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งเรื่องเมื่อการตายผ่านไปแล้วเก้าชั่วโมง[10]

คดี

[แก้]

การพิจารณาคดีซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังนั้นมุ่งประเด็นไปที่ความยินยอมของผู้ตายในอันที่จะเข้าร่วมการไล่ผี การพิจารณาดำเนินไปยี่สิบเก้าวัน พยานหนึ่งร้อยเอ็ดปากขึ้นเบิกความ และส่วนใหญ่ให้การเกี่ยวกับแบบแผนทางวัฒนธรรมและศาสนา คณะลูกขุนประชุมปรึกษาเป็นเวลายี่สิบชั่วโมง ก่อนวินิจฉัยว่า ญาติข้างมารดาห้าคนจากทั้งหมดแปดคนของผู้ตายมีความผิดฐานฆ่าคน ส่วนสมาชิกอีกหนึ่งคนของครอบครัวผู้ตายซึ่งถูกตั้งข้อหาเช่นกันนั้นได้รับการยกฟ้องระหว่างพิจารณาคดี[10]

ไมก์ อันทูโนวิก (Mike Antunovic) ทนายฝ่ายจำเลย โต้แย้งว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า แต่แท้จริงแล้วประสงค์จะช่วยเหลือผู้ตาย[9] นักโทษทั้งหมดจึงไม่ถูกพิพากษาจำคุก แต่ให้ทำงานบริการชุมชนแทน[11]

ระหว่างพิจารณา ชาร์ลี โมซิส (Charlie Moses) ปู่ของผู้ตาย ให้การว่า "เราเถียงกันจบไปแล้ว พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ทำอะไรกันอยู่ ผมบอกแล้วว่า อย่าทำ แต่เขาก็ยังทำกันอยู่ ความผิดพลาดข้อนี้...พวกเขาต้องชดใช้ไปทั้งชีวิต ผมแช่งให้เขาเจอเหมือนกัน"[12]

ตามระเบียบปฏิบัติทางคดีในประเทศนิวซีแลนด์ ชื่อเสียงเรียงนามของบุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องในคดีนั้นถูกปกปิดไว้เพื่อมิให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียหายที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์แพร่งพราย

การไต่สวนเพื่อแสดงสาเหตุการตายในขั้นตอนสุดท้ายนั้นให้คำแนะนำว่า ครอบครัวพึงปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหรือแก่บ้านที่มีประสบการณ์ก่อนลงมือทำพิธี[13] โพอู เทมารา (Pou Temara) ศาสตราจารย์ภาษาและประเพณีเมารีประจำมหาวิทยาลัยไวกาโต (Waikato University) กับราวีรี ทาโอนูอี (Rawiri Taonui) หัวหน้าสำนักการศึกษาเมารีและท้องถิ่น มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบรี (Canterbury University) กล่าวว่า คำแนะนำดังกล่าวมีเหตุผลดี แต่พวกเมารีก็คงไล่ผีตามประเพณีต่อไป[14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Makutu: Curse-lifting a family tradition". The Dominion Post. 8 June 2009. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.
  2. "Jury returns with makutu trial verdicts". The Dominion Post. 12 June 2009. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.
  3. Witchcraft
  4. "makutu". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-22. สืบค้นเมื่อ 2013-12-10.
  5. 5.0 5.1 "Father wasn't told of makutu death". The Dominion Post. 23 May 2009. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.
  6. 6.0 6.1 Palmer, Rebecca (15 June 2009). "The devil's in the detail". The Dominion Post. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.[ลิงก์เสีย]
  7. "Makutu victim probably mentally ill". The Dominion Post. 28 May 2009. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.
  8. "Carpet soaked during curse-lifting". The Dominion Post. 26 May 2009. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.
  9. 9.0 9.1 "Anger over manslaughter verdicts". One News / NZPA. 12 June 2009. สืบค้นเมื่อ 25 October 2011.
  10. 10.0 10.1 "A woman drowned by too much love". The Dominion Post. 13 June 2009. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.
  11. "No jail terms for makutu manslaughter culprits". The Dominion Post. NZPA. 14 August 2009. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.
  12. "Deadly curse verdict: five found guilty". The Dominion Post. 13 June 2009. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.
  13. "Janet Moses died from 'accidental drowning'". Stuff.co.nz. NZPA. 12 August 2010. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.
  14. Ash, Julie (14 August 2010). "Moses case 'won't stop makutu lifting'". The Dominion Post. สืบค้นเมื่อ 30 November 2011.