Web Content Accessibility Guidelines
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
บทความนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากยังไม่มีชื่อภาษาไทยที่กระชับ เหมาะสม, ไม่ปรากฏคำอ่านที่แน่ชัด หรือไม่ปรากฏคำแปลที่ใช้ในทางวิชาการ |
Web Content Accessibility Guidelines เป็นส่วนหนึ่งของความสามารถในการเข้าถึงเว็บ จัดทำโดย World Wide Web Consortium
ประวัติ
[แก้]ปัญหาของการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศสำหรับคนพิการ จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทของความพิการ เช่น คนพิการทางการเห็นที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ เพื่อศึกษาหาข้อมูลข่าวสารในเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายนั้น คนพิการกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการอ่านเว็บไซต์ต่างๆ ออกมาเป็นเสียง เช่น โปรแกรมอ่านเว็บไซต์ (Voice Browser) หรือโปรแกรมอ่านจอภาพ (Screen Reader) แต่โปรแกรมดังกล่าวไม่สามารถอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ได้ครบถ้วน ส่วนปัญหาของคนพิการทางการได้ยินคือเว็บไซต์ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลเสียง จะไม่สามารถฟังเสียงได้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขาดโอกาสในการรับรู้ข่าวสาร หรือรับรู้ได้แต่ไม่เท่าเทียมกัน จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์ในต่างประเทศ โดยองค์กร World Wide Web Consortium (W3C) ให้ความสำคัญกับการออกแบบเว็บไซต์แบบ Universal Design (UD) ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และได้กำหนดแนวทางการสร้างเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
แนวทางการออกแบบเว็บไซต์
[แก้]สำหรับแนวทางการออกแบบเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึง โดย W3C เรียก Guideline นี้ว่า Web Content Accessibility Guideline (WCAG) ได้ประกาศใช้เป็นเกณฑ์ในการออกแบบเว็บไซต์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 ในเวอร์ชัน WCAG 1.0 ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเว็บไซต์จึงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการพัฒนาเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ต้องมีการทบทวน Guideline กันใหม่ และได้มีการปรับเนื้อหาให้รองรับและครอบคลุมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ในเวอร์ชัน WCAG 2.0 ที่กำลังจะประกาศใช้ในปี 2007 ประเทศไทยจึงได้นำ WCAG 2.0 มาปรับใช้เพื่อยกระดับการเข้าถึงเว็บไซต์ให้เป็นไปตามหลักสากลได้ ซึ่งมีโครงสร้างดังนี้
- หลักการ (Principle)
มี 4 หลักการตามวัตถุประสงค์ในการออกแบบเว็บไซต์
- หลักการที่ 1 - ผู้อ่านต้องสามารถรับรู้เนื้อหาได้
- หลักการที่ 2 - องค์ประกอบต่าง ๆ ของการอินเตอร์เฟสกับเนื้อหาจะต้องใช้งานได้
- หลักการที่ 3 - ผู้ใช้สามารถเข้าใจเนื้อหา และส่วนควบคุมการทำงานต่างๆ ได้
- หลักการที่ 4 - เนื้อหาต้องมีความยืดหยุ่นที่จะทำงานกับเทคโนโลยีเว็บในปัจจุบันและอนาคตได้ (รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก)
แนวทาง (Guideline)
[แก้]จะแบ่งออกเป็นข้อๆ ตามหลักการ
- แนวทางที่ 1.1 - จัดเตรียมข้อมูลที่เป็นข้อความ (Text) แทน เนื้อหาที่มีรูปแบบเป็นอื่น
- แนวทางที่ 1.2 - จัดเตรียมข้อความบรรยายที่ตรงกับเหตุการณ์ในสื่อมัลติมีเดีย
- แนวทางที่ 1.3 - การออกแบบโครงสร้าง และเนื้อหา ต้องสามารถทำงานเป็นอิสระจากกันและกัน
- แนวทางที่ 1.4 - ต้องมั่นใจได้ว่าพื้นหน้าและพื้นหลัง(สีและเสียง) ต้องมีความแตกต่างกันมากพอที่ผู้ใช้จะสามารถแยกแยะได้
- แนวทางที่ 2.1 - การทำงานทุกอย่างต้องรองรับการใช้งานจากคีย์บอร์ดได้
- แนวทางที่ 2.2 - จัดเตรียมเวลาให้เพียงพอในการอ่าน หรือการกระทำใดๆ ของข้อมูล สำหรับผู้ใช้ที่เป็นคนพิการ
- แนวทางที่ 2.3 - ไม่สร้างเนื้อหาที่อาจเป็นสาเหตุของอาการลมชัก
- แนวทางที่ 2.4 - จัดเตรียมทางช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้ในการสืบค้นเนื้อหา รู้ว่าตัวเองอยู่ในตำแหน่งใดในเนื้อหา และท่องไปในเนื้อหานั้นได้
- แนวทางที่ 3.1 - สร้างเนื้อหาให้สามารถอ่านและเข้าใจได้
- แนวทางที่ 3.2 - การทำงานของระบบต่างๆ หรือการแสดงผลบนหน้าเว็บ ต้องเป็นสิ่งที่ผู้ใช้สามารถคาดเดาได้
- แนวทางที่ 3.3 - จัดเตรียมส่วนการช่วยเหลือให้ผู้ใช้ให้สามารถกรอกข้อมูลได้ถูกต้อง
- แนวทางที่ 4.1 - รองรับการใช้งานร่วมกับ User Agent ได้ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต (รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก)
เกณฑ์ความสำเร็จ (Success Criteria)
[แก้]เป็นตัวบอกระดับความสำเร็จของหัวข้อแนวทางที่จะทำให้เป็นไปตามหลักการ แบ่งเป็น 3 ระดับ
- เอ (A) เป็นเกณฑ์ที่ *ต้อง* ปฏิบัติตาม เพื่อให้คนพิการเข้าถึงเว็บไซต์ได้
- ดับเบิ้ลเอ (AA) เป็นเกณฑ์ที่ *ควรจะ* ปฏิบัติตาม เพื่อให้คนพิการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น
- ทริปเปิ้บเอ (AAA) เป็นเกณฑ์ที่ *อาจจะ* ปฏิบัติตาม เพื่อให้คนพิการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายที่สุด
ระดับการเข้าถึง (Level)
[แก้]การที่จะทำให้ทราบถึงว่าเว็บไซต์ใดเป็นเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้นั้น จะต้องมีสัญลักษณ์ (Icon) กำกับอยู่ที่หน้าของเว็บไซต์นั้นๆ (URI) ซึ่งหมายถึงการที่เว็บไซต์นั้นๆ ได้ผ่านการตรวจสอบความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้ ตามแนวทางของการเข้าถึงข้อมูล สำหรับสัญลักษณ์ที่แสดงนั้นจะแบ่งความสามารถในการเข้าถึงเป็น 3 ระดับ
- เอ (A) หมายถึง ผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด ที่กำหนดในระดับเอ
- ดับเบิ้ลเอ (AA) หมายถึง ผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด ที่กำหนดในระดับเอ และดับเบิ้ลเอ
- ทริปเปิ้ลเอ (AAA) หมายถึง ผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์การตรวจสอบทั้ง 3 ระดับ