ความสามารถในการเข้าถึงเว็บ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความสามารถในการเข้าถึงเว็บ (อังกฤษ: web accessibility) เป็นหลักการในการสร้างเว็บไซต์ ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยผู้ใช้ใด ๆ โดยอุปกรณ์ใด ๆ ไม่เว้นแม้แต่เว็บเบราว์เซอร์ และไม่มีข้อจำกัดด้านความพิการทางร่างกายเช่นความพิการในด้านการมองเห็นหรือด้านการได้ยิน

การออกแบบเว็บไซต์โดยคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงเว็บ มักจะทำให้ได้ผลบวกในด้านการเข้าถึงใด ๆ โดยใครก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่บอตสำหรับเครื่องมือค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต

เทคโนโลยี[แก้]

เครื่องมือในการเข้าถึง[แก้]

เว็บเบราว์เซอร์ บนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงที่สำคัญที่สุด แต่เว็บเบราว์เซอร์บนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไม่ใช่สิ่งเดียวที่มีความสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ ในขณะเดียวกันผู้ใช้ที่เข้าถึงเว็บไซต์ด้วยเครื่องมืออย่าง โทรศัพท์มือถือ หรือ PDA ก็มีให้เห็นโดยทั่วไป ในขณะเดียวกันการเข้าถึงเว็บไซต์ของบอตต่าง ๆ จะเปรียบเสมือนการเข้าสู่เว็บไซต์โดยการใช้เบราว์เซอร์ตัวอักษร ซึ่งในปัจจุบันยังถูกใช้โดยคนหลายกลุ่ม

เครื่องมือช่วยเหลือ[แก้]

นอกจากเครื่องมือในการเข้าถึงแล้ว ยังมีเครื่องมือช่วยเหลือการเข้าถึงสู่คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดังกล่าวจะมีส่วนช่วยผู้ที่มีความพิการต่าง ๆ ให้เข้าถึงเว็บไซต์ได้ ตัวอย่างเช่น

  • ซอฟต์แวร์จำแนกเสียง (Speech Recognition) จะมีส่วนช่วยให้ผู้ใช้ที่มีความพิการในด้านการใช้งานเมาส์หรือคีย์บอร์ด
  • ซอฟต์แวร์ขยายภาพ (Screen Magnification) จะมีส่วนช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องในระยะการมองเห็น
  • ซอฟต์แวร์ในการอ่านเนื้อหาบนจอ (Screen Reader) จะมีส่วนช่วยอย่างสูงสำหรับผู้ที่มีความพิการทางด้านการมองเห็น โดยจะทำการเก็บการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนหน้าจอแสดงออกด้วยทางใดทางหนึ่งให้แก่ผู้ใช้ได้รับรู้
  • ซอฟต์แวร์ช่วยแปล (Translation Software) จะช่วยในการเข้าถึงแก่บุคคลใด ๆ ที่มีปัญหาด้านการรับรู้ทางภาษา

ซอฟต์แวร์ที่ทำการแปลงข้อมูลจากทางหนึ่งไปอีกทางหนึ่ง จะถูกเรียกว่า Machine-Translation Software ตัวอย่างเช่นบริการ Babelfish ของ AltaVista ที่ทำการแปลงจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง ถือเป็น Machine Translation รูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน

เครื่องมือช่วยเหลือที่รองรับภาษาไทย[แก้]

สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพิ่มเสียงอ่านภาษาไทย (TTS) ที่เรียกว่าโปรแกรมตาทิพย์ (PPATatip) ซึ่งได้รับเงินทุนจากกองทุนของ บริษัท ทีโ อที จำกัด เพื่อนำมาใช้ในโปรแกรมอ่านหน้าจอที่ชื่อว่า JAWS และปัจจุบันได้มีการพัฒนาโปรแกรมอ่านหน้าจอที่เป็นลักษณะรหัสเปิด (Open Source) ที่ชื่อว่า NVDA ซึ่งสามารถนำ PPATatip มาใช้งานร่วมเพื่อให้อ่านภาษาไทยได้

อีกทั้ง ยังมีเบราว์เซอร์สำหรับอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ให้ออกมาในรูปแบบของเสียง เช่นโปรแกรม Homepage Reader เก็บถาวร 2006-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ซึ่งสนับสนุนการใช้งานภาษาไทย

หลักการในการออกแบบเว็บไซต์[แก้]

World Wide Web Consortium (W3C) ได้ออกหลักการในการออกแบบเว็บไซต์เมื่อปี 1999 โดยใช้ชื่อว่า Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) 1.0 โดยมีหลักการโดยสรุปไว้ดังนี้

  • ให้สร้าง "ตัวทดแทน" สำหรับคอนเทนท์ทางด้านกายภาพเสมอ หมายถึงการใส่ข้อความใด ๆ ที่มีความหมายเดียวกันกับรูปภาพ เพื่อให้ผู้ใช้ที่มีความพิการทางด้านการมองเห็น สามารถรับรู้ถึงข้อมูลดังกล่าวได้
  • อย่าพึ่งเพียงแค่สี เครื่องมือในการอ่านข้อมูลบนจอ ไม่มีความสามารถในการแสดงสีออกมาให้แก่ผู้มีความพิการทางสายตา หรือในกรณีของผู้ใช้คอมพิวเตอร์บางส่วน การใช้งานสีที่มีความใกล้กันกับพื้นหลังจนเกินไป จะทำให้ไม่สามารถแสดงผลดังกล่าวออกทางจอภาพได้
  • ใช้ Stylesheet และจัดรูปแบบให้ถูกต้อง การจัดรูปแบบอย่างผิด ๆ เช่นการใช้งานตารางเพื่อการกำหนดพื้นที่บนหน้า ทำให้ผู้ใช้เครื่องมือใด ๆ มีความยากลำบากในการเข้าถึงเนื้อหาของข้อความ
  • บ่งบอกถึงภาษาที่ใช้ เครื่องมือต่าง ๆ ไม่สามารถตรวจสอบภาษาที่ถูกต้องหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นการบ่งบอกถึงภาษาจึงมีความสำคัญ ในกรณีนี้ เป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาเว็บไซต์ที่จะพัฒนาให้ถูกต้อง
  • ใช้ตารางให้ถูกวิธี การใช้ตารางแบบผิด ๆ (แม้แต่การนำไปใช้ในการจัดรูปแบบ) จะสร้างความลำบากให้แก่ผู้ใช้ที่ใช้ซอฟต์แวร์ในการอ่านหน้าจอ ที่มีความสามารถในการค้นหาตามช่องต่าง ๆ ของตาราง
  • ให้มั่นใจว่ามีแต่แทนสำหรับเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ การใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง AJAX จะทำให้เบราว์เซอร์เก่าไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น
  • ให้ผู้ใช้สามารถควบคุมเวลาของวัตถุใด ๆ การทำตัววิ่ง หรือหน้าที่มีการอัปเดตตลอดเวลา โดยไม่มีการหยุด จะเป็นการทำลายความสามารถในการเข้าถึงของผู้ที่ไม่มีความสามารถในการอ่านข้อความบางอย่างในเวลาอันรวดเร็วได้ ทั้งนี้รวมถึงโปรแกรมอ่านหน้าจอที่ต้องใช้เวลาในการประมวลผลและค้นหา
  • ผู้ใช้ต้องมีความสามารถในการควบคุมวัตถุใด ๆ ที่มีหน้าตาโต้ตอบเป็นของตัวเอง
  • อย่ายึดติดกับอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง
  • ใช้การแก้ไขปัญหาชั่วคราว
  • สร้างเว็บไซต์ตามคำแนะนำของ W3C
  • บอกถึงขอบเขตของบริบทและเป้าหมายของข้อมูล
  • บอกส่วนของการเข้าถึงให้เด่นชัด
  • ให้เอกสารนั้นชัดเจนและง่าย

ในขณะที่หลักการฉบับแรกถูกใช้งานอยู่ หลักการฉบับที่สอง (WCAG 2.0) ก็กำลังถูกร่างอยู่ในปัจจุบัน โดยกำหนดหลักการไว้ 4 หลักการ

  1. หลักการที่ 1 สามารถรับรู้ได้ (Perceivable)
  2. หลักการที่ 2 สามารถใช้งานได้ (Operable)
  3. หลักการที่ 3 สามารถเข้าใจได้ (Understandable)
  4. หลักการที่ 4 รองรับได้หลากหลาย (Robust)

มีเกณฑ์ความสำเร็จ 3 ระดับดังนี้

  1. ระดับ A คือ เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
  2. ระดับ AA คือ เป็นสิ่งที่ควรจะทำ เพื่อให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
  3. ระดับ AAA คือ เป็นสิ่งที่อาจจะทำเพื่ิอเอื้อให้การเข้าถึงเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น

โดยล่าสุด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากไอซีที กำหนดหลักเกณฑ์  วิธีการ และเงื่อนไข ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร และบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 ตามมาตรา 20 (6) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการฯ เช่นกัน ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 และจะมีผลใช้บังคับหลังครบกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศฯ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]