ปียัตซาอูนีรีย์ (ตีมีชออารา)

พิกัด: 45°45′28.90″N 21°13′44.62″E / 45.7580278°N 21.2290611°E / 45.7580278; 21.2290611
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Union Square, Timișoara)
ปียัตซาอูนีรีย์
ปียัตซาดอมูลุย
ชื่อในภาษาแม่
ชื่อเดิมปียัตซาลอซอนซี
ตั้งชื่อตามการรวมบานัตเข้ากับโรมาเนีย
ชนิดจัตุรัสเมือง
ความยาวแม่แบบ:Infobox street/meta/length
ที่ตั้งย่านเชตาเต ตีมีชออารา
รหัสไปรษณีย์300085
พิกัด45°45′28.90″N 21°13′44.62″E / 45.7580278°N 21.2290611°E / 45.7580278; 21.2290611

ปียัตซาอูนีรีย์ (โรมาเนีย: Piața Unirii; "จัตุรัสสหภาพ") หรือ ปียัตซาดอมูลุย (Piața Domului; "จัตุรัสโดม") เป็นจัตุรัสในเมืองตีมีชออารา ประเทศโรมาเนีย โดยเป็นจัตุรัสที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง[1] ตั้งชื่อเพื่อเชิดชูเกียรติกองทัพโรมาเนียที่แปรทัพเข้ามายังตีมีชออาราเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 1919 และจัดตั้งการปกครองของโรมาเนียขึ้น ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการรวมบานัตเข้ากับโรมาเนีย[2] ชื่อเดิมของจัตุรัสคือ ปียัตซาลอซอนซี (Piața Losonczy; "จัตุรัสโลโชนด์ซี") ตั้งชื่อตามเคานต์อิชต์วาน โลโชนด์ซี ผู้ถูกชาวเติร์กสังหารในปี 1552 เมื่อครั้งป้อมปราการแห่งตีมีชออาราถูกยึดครอง[2]

ประวัติศาสตร์[แก้]

กองทัพของโรมาเนียแปรทัพเข้าจัตุรัสเมื่อ 3 สิงหาคม 1919

กระทั่งถึงปี 1716 จัตุรัสถูกตัดผ่ากลางจากมุมตะวันตกเฉียงเหนือสู่มุมตะวันออกเฉียงใต้จากการขุดสนามเพลาะของป้อมปราการตุรกี[3] แนวคิดในการสร้างจัตุรัสรูปสี่เหลี่ยมขึ้นในทางตอนเหนือของป้อมปราการเริ่มมีขึ้นในปี 1733[4] กระทั่งปี 1740 สนามเพลาะของชาวเติร์กจึงเริ่มถูกทำลายทิ้ง[3] ร่องในพื้นถูกเติมเต็มด้วยดิน และพื้นที่ถูกปูทับด้วยหินทางเท้า[3] ชิ้นส่วนสุดท้ายของป้อมปราการอยู่ในจัตุรัสจนถึงปี 1745–1746

หลังการย้ายอาสนวิหารของสังฆมณฑลเซนาดจากแซแก็ดมาตีมีชออารา ทำให้สังฆมณฑลต้องสร้างอาคารอาสนวิหารหลังใหม่ขึ้น ซึ่งคืออาสนวิหารที่ปัจจุบันเรียกในชื่อ "โดมคาทอลิก" เริ่มสร้างในปี 1736 และแล้วเสร็จใน 38 ปีให้หลัง[4] ส่วนอาสนวิหารของเซอร์เบีย สร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมบาโรก ในปี 1745–1748 สมัยเกออร์กิเย ปอปอวิช มุขนายกออร์ทอดอกซ์เซอร์เบียแห่งตีมีชออารา[5] ส่วนอาคารที่ว่าการแคว้น (Prefecture) หลังเดิม ซึ่งปัจจุบันคือ "วังบาโรก" สร้างขึ้นในปี 1754 เพื่อเริ่มแรกใช้งานเป็นที่ว่าการของรัฐบาลของบานัต[6] ในปี 1788 ได้มีการสิ่งปลูกสร้างปิดส่วนทางใต้ของโดมคาทอลิก ทำให้จัตุรัสถูกล้อมด้วยอาคารอย่างสมบูรณ์[4]

ในปลายปี 1903 มีการตัดสินใจย้ายตลาดอาหารและสัตว์จากจัตุรัสเสรีภาพมาที่จัตุรัสนี้ พื้นที่ตลาดในจัตุรัสนี้ให้บริการเรื่อยมาจนถึงปี 1969[4] จัตุรัสได้รับการออกแบบสร้างใหม่ให้เป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูบาโรก ระหว่างปี 1988–1989 โดยสถาปนิกเชร์บัน สตูร์ดซา[4]

อาคารโดยรอบ[แก้]

อาคารสำคัญที่ล้อมรอบจัตุรัสตามเข็มนาฬิกาจากทางตะวันออก ได้แก่:

  • อาสนวิหารโรมันคาทอลิก
  • ธนาคารสเวเบียน (Swabian)
  • บ้านเปรนแนร์ (Prenner House)
  • วังบาโรก (Baroque Palace)
  • บ้านบรืก (Brück House)
  • บ้านทหารม้าสามนาย (Three Hussars) และบ้านช้าง
  • อดีตธนาคารดิสเกาต์ (Discount Bank)
  • วังสันตปาปาคริสตจักรออร์ทอดอกซ์เซอร์เบีย (Serbian Orthodox Episcopal Palace)
  • อาสนวิหารออร์ทอดอกซ์เซอร์เบีย (Serbian Orthodox Cathedral)
  • บ้านชุมชนเซอร์เบีย (Serbian Community House)
  • อดีตค่ายทหารฟรังซ์ ยอเซฟ (Franz Joseph Barracks)
  • บ้านสิงโต (House with Lions)
  • โรงเรียนมัธยมนิคโคเลาส์ เลเนา (Nikolaus Lenau High School)
  • แถวบ้านพักสงฆ์ (Clergy's Houses) สี่หลัง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Dicționar explicativ al denumirii străzilor din Timișoara" (PDF). Primăria municipiului Timișoara. 2015. pp. 264–265. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-02-09. สืบค้นเมื่อ 2023-02-09.
  2. 2.0 2.1 "Piețele de poveste ale Timișoarei. Centrul istoric, unic în România". TION. 28 December 2015.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Piața Unirii". Timisoara-Info.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 2023-02-09.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Junie, Aurelia; Opriș, Mihai (2011). "Zone construite protejate". Primăria municipiului Timișoara. pp. 42–43.
  5. "Православна српска саборна црква у Темишвару" (PDF). Digitalna biblioteka Srba u Rumuniji. 2010.
  6. Pascu, Ștefan (1969). Timișoara. Pagini din trecut și de azi. Consiliul Popular al municipiului Timișoara. p. 389.