ปลาเอิน
ปลาเอิน | |
---|---|
ปลายี่สก (P. jullieni) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Cypriniformes |
วงศ์: | Cyprinidae |
สกุล: | Probarbus Sauvage, 1880 |
ชนิด | |
ปลาเอิน หรือ ปลายี่สก (อังกฤษ: Striped barbs) เป็นชื่อสกุลปลาน้ำจืดจำพวกหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) ใช้ชื่อสกุล Probarbus (/โพร-บาร์-บัส/)
อองรี เอมิล โซวาค นักมีนวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้บรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานของปลาสกุลนี้ในปี ค.ศ. 1880 และในปีถัดมาได้กลับมาบรรยายเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง โดยปลาที่เป็นต้นแบบมีความยาว 34 และ 53 เซนติเมตร ตามลำดับ ลักษณะที่สำคัญอีกประการ คือ มีฟันที่ลำคอหนึ่งแถว จำนวนทั้งหมดสี่ซี่ มีหนวดที่ริมฝีปากบนหนึ่งคู่ ครีบหลังมีก้านครีบแขนงเก้าก้าน ก้านครีบเดี่ยวของครีบหลังสั้น แข็ง และมีขอบเรียบ ตามลำตัวมีเส้นขีดตามแนวนอนแตกต่างกันออกตามแต่ละชนิด
จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่อีกจำพวกหนึ่งในวงศ์นี้ โดยขนาดเมื่อโตเต็มที่อาจยาวได้ถึง 135 เซนติเมตร ปลาตัวเมียเมื่อถึงฤดูวางไข่อาจมีน้ำหนักตัวถึง 36 กิโลกรัม โดยช่วงที่ไข่สุกพร้อมที่จะถูกปล่อยออกมาผสมกับน้ำเชื้อของตัวผู้อยู่ในช่วงปลายปีจนถึงต้นฤดูร้อนของปีถัดมา[1]
มีการกระจายพันธุ์อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงและที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย และมีพบได้ที่แม่น้ำปะหัง ในมาเลเซียอีกด้วย
เป็นปลาที่มีรสชาติอร่อยมาก จึงถูกจับจนใกล้จะสูญพันธุ์แล้วในธรรมชาติ แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วด้วยวิธีการผสมเทียม
มีชื่อที่สามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย เรียกว่า "ปลาเสือ"
ชนิด
[แก้]- Probarbus jullieni (ปลายี่สก, ปลายี่สกไทย, ปลายี่สกทอง, ปลาเอินตาแดง)
- Probarbus labeamajor (ปลาเอินตาขาว, ปลาเอินคางหมู, ปลายี่สกปากหนา)
- Probarbus labeaminor (ปลาเอินฝ้าย)[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 264 หน้า. หน้า 139. ISBN 974-00-8701-9
- ↑ Probarbus
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Probarbus ที่วิกิสปีชีส์