เมจิ (บริษัท)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Meiji Dairies)
เมจิ
ประเภทบริษัทในเครือ
อุตสาหกรรมอาหาร
ก่อตั้งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (21 ธันวาคม 1917; 106 ปีก่อน (1917-12-21))
สำนักงานใหญ่2-10 ชินซูนะ-อิตโชเมะ โกโต โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
รายได้727,838,000,000 เยน (พ.ศ. 2563) Edit this on Wikidata
บริษัทแม่เมจิโฮลดิงส์
เว็บไซต์www.meiji.co.jp

บรรษัทเมจิแดรีส์ (อังกฤษ: Meiji Dairies Corporation; ญี่ปุ่น: 明治乳業株式会社) เป็นบริษัทอาหารญี่ปุ่น เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเมจิ จำกัด (อังกฤษ: Meiji Co., Ltd.; ญี่ปุ่น: 株式会社明治) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2011 บริษัทนี้เป็นบริษัทอุตสาหกรรมนมรายใหญ่ ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1917 นอกจากผลิตภัณฑ์จากนมโคอย่างเช่นนม ไอศกรีม และชีสแล้ว สินค้าแถวหน้าของบริษัทนี้ยังได้แก่เครื่องดื่มเกลือแร่ พิซซ่า ช็อกโกแลตแท่ง และอาหารเสริมอย่างโทโรเมกุซึ่งได้รับการพรรณนาว่าเป็นอาหารแบบหนืด (food viscosity) อนึ่ง บริษัทนี้ยังร่วมทุนในประเทศไทยกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เพื่อทำการตลาดด้านผลิตภัณฑ์จากนมในชื่อว่า ซีพี-เมจิ

วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2009 เมจิเซกะและเมจิแดรีส์ก่อตั้งบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่นามว่า เมจิโฮลดิงส์ ซึ่งมีหุ้นอยู่ในดัชนีนิกเก 225 สองปีให้หลังในวันเดียวกัน เมจิแดรีส์เข้าถือครองกิจการอาหารและการดูแลสุขภาพของเมจิเซกะ จึงกลายเป็นบริษัทอาหารซึ่งมีชื่อตามกฎหมายว่า บริษัทเมจิ จำกัด

วันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 2011 มีการพบกัมมันตภาพรังสีซีเซียมในอาหารทารกของบริษัทเมจิ โดยมีระดับการปนเปื้อนต่ำกว่าขอบเขตที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตไว้ คือ 200 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม แต่สูงกว่าขอบเขตที่นำมาใช้บังคับหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติเชียร์โนบีลถึง 50 เบกเคอเรล บริษัทอ้างว่า นมสำหรับทารกนั้น "อยู่ในขอบเขตปลอดภัย" และ "ไม่เสี่ยงต่อสุขภาพ" แต่ข้ออ้างดังกล่าวเป็นที่โต้แย้ง เพราะน่าจะมีทารกจำนวนมากได้รับกัมมันตภาพรังสีภายในเนื่องจากบริโภคนมปนเปื้อน และทารกเหล่านี้เป็นไปได้ว่าจะประสบกับกัมมันตภาพรังสีจากภายนอกที่แผ่ออกมาในเหตุการณ์เดือนมีนาคมของปีนั้นอยู่ก่อนแล้ว บริษัทเมจิสมัครใจเรียกนม 400,000 กระป๋องคืน พลเมืองกลุ่มหนึ่งในนครนิฮงมัตสึ จังหวัดฟูกูชิมะ ค้นพบการปนเปื้อนรังสีครั้งนี้มาอย่างน้อยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของปีนั้นแล้ว แต่บริษัทเมจิเห็นว่า ไม่สามารถดำเนินการในทันทีที่ทราบเรื่องได้[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Cesium in Baby Milk Powder Shows Nuclear Risk for Japan Food". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ December 12, 2011.