ลูคัส ครานัค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Lucas Cranach)
ลูคัส ครานัค

ลูคัส ครานัค ผู้อาวุโส (เยอรมัน: Lucas Cranach der Ältere; อังกฤษ: Lucas Cranach the Elder; 4 ตุลาคม ค.ศ. 1472 - 16 ตุลาคม ค.ศ. 1553) เป็นจิตรกรสมัยศิลปะเรอแนซ็องส์คนสำค้ญของประเทศเยอรมนีในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 ผู้มีความสำคัญในการเขียนภาพสีน้ำมัน ทำภาพพิมพ์ ภาพพิมพ์แกะไม้ และสลักโลหะ (engraving) ชื่อเมื่อแรกเกิดของลูคัสคือ "ลูคัส ซุนเดอร์" หรือ "ซอนเดอร์" ที่โครนัคในอัปเปอร์ฟรังโคเนีย ต่อมาภายหลังชื่อก็ถูกรวมกับชื่อเมืองเกิดเป็นชื่อ "ลูคัส ครานัค" ลูคัสอาจจะเรียนศิลปะการเขียนภาพจากบิดาหรืออาจจะจากปรมาจารย์ทางภาคใต้ของเยอรมนี เช่นเดียวกับศิลปินร่วมสมัยเช่นมัททีอัส กรือเนวัลด์ ผู้ที่ทำงานที่บัมแบร์กและอาชัฟเฟินบูร์ก บัมแบร์กเป็นเมืองหลวงของสังฆมณฑลที่เมืองโครนัคตั้งอยู่

ชีวิตเบื้องต้น[แก้]

ลูคัสผู้เมื่อเกิดชื่อ "ลูคัส มาเลอร์" เกิดที่โครนัคในอัปเปอร์ฟรังโคเนียได้รับการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการเขียนภาพจากบิดาชื่อ ฮันน์ มาเลอร์ ("มาเลอร์" ในภาษาเยอรมันแปลว่า "จิตรกร") มารดาผู้ใช้นามสกุลฮึบเนอร์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1491 ต่อมาลูคัสใช้ชื่อเมืองเกิดเป็นนามสกุล เราไม่ทราบว่าลูคัสได้รับการศึกษาเบื้องต้นด้วยวิธีใดแต่อาจจะเป็นการศึกษาที่ได้รับจากปรมาจารย์ของท้องถิ่นทางตอนใต้ของเยอรมันี เช่นเดียวกับศิลปินร่วมสมัย เช่น มัททีอัส กรือเนวัลด์ นอกจากนั้นก็มีหลักฐานบางอย่างที่บ่งว่าลูคัสใช้เวลาระยะหนึ่งในเวียนนาเมื่อราวปี ค.ศ. 1500

กุนเดอแรมผู้เป็นครูของลูกของครานัคกล่าวว่าครานัคแสดงความสามารถในการเป็นจิตรกรมาตั้งแต่ก่อนจะสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 งานของครานัคเป็นที่สนใจของฟรีดริชที่ 3 ผู้คัดเลือกแห่งแซกโซนีหรือที่รู้จักกันว่า "ฟรีดริชเดอะไวส์" ผู้จ้างให้เป็นข้าราชสำนักเมื่อปี ค.ศ. 1504 เอกสารของเมืองวิทเทินแบร์กยืนยันคำกล่าวของกุนเดอแรม จากชื่อของครานัคที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นครั้งแรกในเอกสารลงวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1504 เมื่อครานัคได้รับเงิน 50 กุลเด็นเป็นค่าจ้างครึ่งปีสำหรับการเป็น "ช่างเขียนของดยุก" ("pictor ducalis") ครานัครับราชการกับดยุกและผู้สืบเชื้อสายต่อมาจนตลอดชีวิต แต่ก็สามารถรับงานนอกได้

ครานัคสมรสกับบาร์บารา เบร็นจ์เบียร์จากโกทา บาร์บาราเสียชีวิตที่วิทเทินแบร์กเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1540

อาชีพ[แก้]

"การล่ากวางของฟรีดริชเดอะไวส์"
ลายเซ็นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1508 เป็นภาพงูมีปีกและแหวนทับทิม (เช่นบนภาพเขียนที่เขียนในปี ค.ศ. 1514)
มาร์ติน ลูเทอร์ (ค.ศ. 1529, หอศิลป์อุฟฟีซี)

สิ่งที่แสดงความสามารถในการเป็นศิลปินเป็นครั้งแรกมาจากภาพเขียนที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1504 ในช่วงแรกของชีวิตการทำงานครานัคมีความสามารถหลายด้านที่รวมทั้งการเขียนภาพตกแต่ง, ส่วนใหญ่จะเขียนภาพเหมือนและฉากแท่นบูชา ภาพพิมพ์แกะไม้ งานสลักโลหะ และงานออกแบบเหรียญกษาปณ์สำหรับเจ้านครรัฐผู้คัดเลือก

ในช่วงแรกของการรับราชการครานัคก็สร้างความประทับใจให้แก่ข้าราชสำนักของเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกจากความเสมือนจริงของภาพนิ่งของกวาง และ สัตว์ปีกที่เขียนประดับผนังของวังทั้งที่โคบวร์กและที่โลคา งานเขียนกวางและหมูป่าเป็นงานที่เด่นเป็นที่ถูกพระทัย จนดยุกนำตัวครานัคติดตามไปในการล่าสัตว์ของพระองค์เพื่อที่ครานัคจะได้ทำการร่างภาพการล่าสัตว์ที่ทรงทำ

ก่อนปี ค.ศ. 1508 ครานัคเขียนฉากแท่นบูชาหลายแท่นสำหรับชาเปลของปราสาทวิทเทินแบร์กแข่งกับอัลเบรชท์ ดือเรอร์, ฮันส์ บวร์กค์แมร์และผู้อื่น ภาพของดยุกและพระอนุชาจอห์นปรากฏบนงานชิ้นเอกของครานัคหลายชิ้น

ในปี ค.ศ. 1509 ครานัคเดินทางไปยังเนเธอร์แลนด์ เพื่อวาดภาพสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนและเด็กชายผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ครานัคลงชื่อย่อบนภาพเขียนมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1508 ในปีนั้นเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกประทานงูมีปีกให้เป็นสัญลักษณ์แก่ครานัค ตั้งแต่นั้นมาครานัคก็ใช้สัญลักษณ์ที่ได้รับในการลงชื่อบนภาพเขียน

ต่อมาเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกประทานเอกสิทธิในการขายสินค้าเภสัชกรรมในวิทเทินแบร์กให้แก่ครานัค และสิทธิบัตรสำหรับช่างพิมพ์โดยเฉพาะเอกสิทธิสำหรับลิขสิทธิ์ในการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิล มาร์ติน ลูเทอร์ใช้สำนักพิมพ์ของครานัค ร้านขายยาของครานัคดำเนินกิจการต่อมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1871 เมื่อต้องมาปิดลงเพราะไฟไหม้

ครานัคก็เช่นเดียวกับเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกผู้เป็นมิตรกับฝ่ายปฏิรูปโปรเตสแตนต์มาตั้งแต่เริ่มแรก แต่ก็ยากที่จะระบุเวลาที่ครานัคได้พบปะกับมาร์ติน ลูเทอร์เป็นครั้งแรก หลักฐานที่เก่าที่สุดที่ระบุการติดต่อระหว่างครานัคและมาร์ติน ลูเทอร์มาจากการติดต่อในปี ค.ศ. 1520 ครานัคสร้างภาพพิมพ์ของลูเทอร์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1520 เมื่อลูเทอร์ยังเป็นักบวชออกัสติน ห้าปีต่อมาลูเทอร์สละศีลบวชที่ครานัคเป็นผู้หนึ่งที่เป็นพยานในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการสมรสระหว่างลูเทอร์และคัททารินา ฟอน โบรา นอกจากนั้นแล้วครานัคก็ยังเป็นพ่ออุปถัมป์ของบุตรชายคนแรกของลูเทอร์ (โยฮันส์ "ฮันส์" ลูเทอร์) ผู้เกิดในปี ค.ศ. 1526

เมื่อเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกฟรีดริชที่ 3 ผู้คัดเลือกแห่งแซกโซนีสิ้นพระชนม์ และจอห์นเดอะสเตดฟาสต์ขึ้นเป็นเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกองค์ต่อมา ตำแหน่งหน้าที่ของครานัคก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ครานัคยังคงเป็นข้าราชสำนักคนโปรดของจอห์น ที่ในช่วงนั้นก็ได้รับตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของวิทเทินแบร์กสองครั้ง ในปี ค.ศ. 1531 และในปี ค.ศ. 1540

ในปี ค.ศ. 1547 จอห์น ฟรีดริชถูกจับเป็นนักโทษในยุทธการที่มืลแบร์กและวิทเทินแบร์กถูกล้อม เมื่อครานัคเขียนจดหมายจากบ้านเพื่อไปรายงานการจับกุมแก่ผู้คัดเลือกและอัครสังฆราชอัลเบร็ชแห่งไมนทซ์ที่เคอนิชส์แบร์กก็อดไม่ได้ที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีต่อจอห์น

ข้าพเจ้าไม่อาจจะซ่อนจากพระองค์ได้ว่าผู้คัดเลือกที่รักของเราถูกขโมยตัว ผู้ที่ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เป็นต้นมาก็ได้แสดงความเป็นผู้คัดเลือกอย่างเต็มตัวต่อเรา แต่พระเจ้าคงจะต้องช่วยปลดปล่อยพระองค์จากการจำจอง เพราะพระจักรพรรดิทรงพระปรีชาสามารถในการติดต่อกับพระสันตะปาปาที่พระเจ้าไม่อาจจะให้การอนุญาตได้

ระหว่างการล้อมสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลผู้ทรงจำครานัคได้ก็ได้เรียกตัวครานัคให้ไปเฝ้าพระองค์ที่พิสทริทซ์ ครานัคก็เดินทางไปเฝ้าและคุกเข่าต่อหน้าพระพักตร์ขอให้พระองค์พระราชทานความปราณีต่อเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกจอห์น

สามปีต่อมาเมื่อบุคคลสำคัญของจักรวรรดิทำการพบปะกันที่เอาก์สบวร์คเพื่อมารับคำสั่งจากสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ล และทิเชียนก็ได้เดินทางมาเพื่อขอวาดภาพพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน จอห์นทรงเรียกตัวครานัคให้มาเยือนเมืองเอาก์สบวร์ค และได้พำนักอยู่กับเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกจอห์นผู้ที่ยังอยู่ในการควบคุม และในปี ค.ศ. 1552 ก็ได้ร่วมเดินทางกลับ

ครานัคเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 81 ปีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1553 ที่ไวมาร์ ครานัคมีบุตรชายสองคนที่เป็นศิลปินทั้งสองคน: ฮันส์ ครานัคผู้ที่ไม่ทราบรายละเอียดกันเท่าใดนักผู้เสียชีวิตที่โบโลนยาในปี ค.ศ. 1537 และลูคัส ครานัค (ผู้ลูก) ผู้เกิดในปี ค.ศ. 1515 และเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1586 และบุตรีอีกสามคน คนหนึ่งชื่อบาร์บาราผู้สมรสกับคริสเตียน บรึคผู้เป็นบรรพบุรุษของโยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเทอ

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ครานัค

สมุดภาพ[แก้]