ปลิงทะเล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Holothuroidea)
ปลิงทะเล
A Sea Cucumber
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Echinodermata
ไฟลัมย่อย: Echinozoa
ชั้น: Holothuroidea
Orders

ปลิงทะเล (อังกฤษ: sea cucumber) เป็นสัตว์ทะเลที่ไร้กระดูกสันหลังชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในตระกูลเอคไคโนเดิร์ม ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับดาวทะเลและหอยเม่น เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีรูปร่างกลมยาว คล้ายไส้กรอกขนาดใหญ่ ปลายทั้งสองข้างเป็นช่องเปิดของปากและทวาร ผิวหนังส่วนนอกคล้ายเนื้อยืดหยุ่นได้ ภายในผิวหนังมีตุ่มเม็ดหินปูนกระจายอยู่ทั่วไปตามผิวนอกมีติ่งเนื้อเล็ก ๆ คล้ายหนวดสั้น ๆ เรียงอยู่เป็นแถว ทำหน้าที่ช่วยในการหายใจและเคลื่อนไหว ปากของปลิงทะเลอยู่ตอนปลายสุดด้านที่มีหนวดลักษณะคล้ายต้นไม้ล้อมรอบ ทำหน้าที่ในการหาอาหาร โดยใช้หนวดขุดโคลนตมหน้าดินเข้าปากผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร และกากที่เหลือจะถ่ายออกทางช่องก้นซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่ง ทวารของปลิงทะเลเป็นช่องเล็ก ๆ ทำหน้าที่ในการขับถ่ายของเสีย หายใจ เป็นทางออกของเชื้ออสุจิ ปลิงมีสารพิษ โฮโลทูลิน ซึ่งปล่อยออกทางผิวหนัง ใช้ในการป้องกันอันตรายจากปลาและปู ถ้าหากนำปลิงทะเลไปใส่ในตู้เลี้ยงปลามันจะปล่อยสารพิษดังกล่าวออกมามากจนทำให้ปลาตายได้ ถิ่นอาศัย พบตามพื้นทะเลที่เป็นทรายปนโคลนใน อ่าวไทยและทะเลอันดามัน อาหาร กินอินทรีย์วัตถุตามพื้นดินโคลนและทราย ขนาด มีความยาวประมาณ 30–40 ซม. ประโยชน์ เนื้อปลิงใช้ปรุงอาหารได้

การแพร่กระจายของปลิงทะเล อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลในระดับความลึก 20-30 เมตร สามารพบได้ในบริเวณหาดทรายปนเลนหรือทรายล้วน ๆ หรือตามบริเวณที่มีกระแสน้ำ ตามเกาะบริเวณปะการัง และสภาพน้ำทั่วไป อุณหภูมิน้ำอยู่ระหว่าง 24-28 องศาเซลเซียส ความเค็มสามารถอยู่ได้ในระดับ 27-35 ppt และสามารถอยู่ได้ในระดับความเค็มต่ำกว่า 10 ppt ถึง 17 ชั่วโมง ซึ่งถ้าอยู่ในระดับความเค็มสูง จะมีความแข็งแรงกว่าความเค็มต่ำ ปลิงทะเลสามารถงอกส่วนที่ขาดได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน (chen jia xin, 1990) และปลิงทะเลจะเริ่มลงสู่พื้นในระยะ Perdactula เมื่อมีอายุประมาณ 12 วัน ปลิงทะเลปกติไม่ชอบแสงสว่าง และออกหาอาหารในเวลากลางคืน

คุณค่าทางอาหาร[แก้]

ปลิงทะเลมีสารพิษโฮโลทูลินแต่ไม่เป็นอันตรายกับคน สามารถบริโภคได้ ปลิงทะเลมีโปรตีนประมาณ 10-12% ความชื้น 70-80% ไขมัน 0.002-0.04% และเนื้อปลิงทะเลยังมีสารมิวโคโปรตีนที่มี Chondroitin sulfurie acid คาดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี

นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพบว่า ในเนื้อปลิงทะเล Stichopus japonicus มีมิวโคโปรตีน (mucoprotein) ปริมาณสูงซึ่งมิวโคโปรตีนนั้น มีคอนดรอยติน ซัลฟุริค แอซิด (Chondroitin - sulfuric acid) อยู่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และจากการศึกษาในผู้สูงอายุยังพบว่า การที่กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้นั้น เนื่องจากปริมาณของคอนดรอยติน ซัลฟุริค แอซิด ลดลง ดังนั้นจึงอาจใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลอธิบายการที่ชาวจีนนิยมรับประทานปลิงทะเลกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คอนดรอยติน ซัลฟุริค แอซิด ตามธรรมชาติมักอยู่ในสภาพมิวโคโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ เช่น กระดูกอ่อน เอ็น และของเหลวที่หล่อลื่นตามข้อต่าง ๆ ดังนั้น การรับประทานปลิงทะเลก็นับว่าให้ประโยชน์แก่ร่างกายได้เช่นกัน