ลิงบาบูนชัคม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Chacma baboon)
ลิงบาบูนชัคม่า
ลิงบาบูนชัคม่าตัวผู้ชนิด Papio ursinus griseipes
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
วงศ์: Cercopithecidae
สกุล: Papio
สปีชีส์: P.  ursinus
ชื่อทวินาม
Papio ursinus
(Kerr, 1792)
ชนิดย่อย[2]
3 (ดูในเนื้อหา)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (แบ่งตามชนิดย่อย)
ชื่อพ้อง[3]

ลิงบาบูนชัคม่า หรือ ลิงบาบูนเคป (อังกฤษ: chacma baboon, Cape baboon; ชื่อวิทยาศาสตร์: Papio ursinus) เป็นลิงบาบูนชนิดหนึ่ง ในวงศ์ลิงโลกเก่า (Cercopithecidae)

ลิงบาบูนชัคม่า เป็นลิงบาบูนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และนับเป็นลิงอีกชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด[4] มีขนตามตัวสีน้ำตาล ขนค่อนข้างหยาบ หน้าดำ หูมีขนน้อย แต่ตัวผู้ขนตรงรอบคอและไหล่ยาว และมีขนปรกที่ปาก ส่งเสียงร้องได้ดัง วิ่งได้เร็วมากและทรงพลัง มีลักษณะการวิ่งเหมือนม้าควบ ว่ายน้ำเก่ง

มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งมีจำนวนเป็นร้อยอาจถึง 200-300 ตัว มีหัวหน้าเป็นตัวผู้ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมสังคมของตัวให้เป็นระเบียบ ในขณะในหมู่ลิงตัวเมียจะมีการจัดลำดับสังคมตามอาวุโส ในเวลากลางคืนจะนอนพักผ่อนในถ้ำ หรือซอกหิน หรือบนกิ่งไม้ใหญ่ เพื่อหลบหลีกศัตรู เนื่องจากลิงบาบูนชัคม่าเองก็ตกเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่กว่าด้วย เช่น สิงโต เสือดาว, เสือชีตาห์ โดยอาจจะโดนล่าได้ถึงบนต้นไม้ และลูกลิงก็ตกเป็นเหยื่อของนกล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เช่น นกเหยี่ยว, นกอินทรี เป็นต้น ส่วนในหมู่ลิงตัวผู้จะมีการสลับสับเปลี่ยนกันเรื่อย เนื่องจากการแย่งชิงกันเป็นจ่าฝูง และหากมีลิงจากที่อื่นจะขอเข้าเป็นสมาชิกฝูง ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากลิงตัวอื่นในฝูง[5]

ลิงบาบูนชัคม่าไม่ค่อยพบในป่าทึบ ชอบอยู่ตามเขาที่เป็นหินมีต้นไม้น้อย เนื่องจากว่าลิงบาบูนชัคม่าขึ้นต้นไม้ไม่เก่ง ในเวลาเช้ามักลงมาจากต้นไม้เพื่อลงมาอาบแดด และแยกย้ายกันหากิน[5] มีพฤติกรรมผสมพันธุ์เป็นคู่ ไม่ปะปนกัน มีระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 6-7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะอยู่กับแม่ตลอดเวลา บางครั้งพ่อลิงจะช่วยดูแลลูกด้วย เมื่อลูกยังเล็กจะอยู่ที่อกแม่และดูดนมแม่ เมื่อโตขึ้นมาหน่อยจะเปลี่ยนขึ้นมาเกาะหลังแม่ ลิงบาบูนชัคม่ามีอายุยืนราว 20 ปี [6]

ลิงบาบูนชัคม่า แพร่กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ กินอาหารได้ทั้งเนื้อสัตว์และพืชผักและเมล็ดพืชผลไม้ต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วยังสามารถวิ่งกระโจนจับนกฟลามิงโกกินเป็นอาหารได้ด้วย[7]

ลิงบาบูนชัคม่า แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย คือ[2]

  • Papio ursinus ursinus Kerr, 1792 – พบในแอฟริกาตอนใต้
  • Papio ursinus griseipes Pocock, 1911 – พบในแอฟริกาใต้ทางตอนเหนือและตอนใต้ของแซมเบีย
  • Papio ursinus raucana Shortridge, 1942 – พบตั้งแต่นามิเบียจนถึงตอนใต้ของแองโกลา

อ้างอิง[แก้]

  1. Hoffmann, M. & Hilton-Taylor, C. (2008). Papio ursinus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 2009-01-04.
  2. 2.0 2.1 Grubb, P.; Butynski, T. M.; Oates, J. F.; Bearder, S. K.; Disotell, T. R.; Groves, C. P.; Struhsaker, T. T. (2003). "Assessment of the diversity of African primates". International Journal of Primatology. 24 (6): 1301–1357. doi:10.1023/B:IJOP.0000005994.86792.b9.
  3. Mammal Species of the World, A Taxonomic and Geographic Reference, 3rd edition, 2005 ISBN 0801882214
  4. Botswana ตอนที่ 3, "สุดหล้าฟ้าเขียว". สารคดีทางช่อง 3 โดย ปองพล อดิเรกสาร: เสาร์ที่ 7 กันยายน 2556
  5. 5.0 5.1 Botswana ตอนที่ 5, "สุดหล้าฟ้าเขียว". สารคดีทางช่อง 3 โดย ปองพล อดิเรกสาร: เสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2556
  6. ลิงบาบูน
  7. แอฟริกา, "มองโลกอัศจรรย์ผ่านนภากาศ". สารคดีทางช่องไทยพีบีเอส: พฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2556

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Papio ursinus ที่วิกิสปีชีส์