นกกก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Buceros bicornis)
นกกก
เกี่ยวกับเสียงนี้ เสียงร้องของนกกก
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Coraciiformes
วงศ์: Bucerotidae
สกุล: Buceros
สปีชีส์: B.  bicornis
ชื่อทวินาม
Buceros bicornis
Linnaeus, 1758
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[2]
ชื่อพ้อง
  • Buceros homrai
  • Dichoceros bicornis
  • Buceros cavatus
  • Homraius bicornis

นกกก, นกกะวะ หรือ นกกาฮัง เป็นนกขนาดใหญ่จำพวกนกเงือก นกกกสามารถพบได้ในป่าของอินเดีย, คาบสมุทรมลายู, สุมาตรา และอินโดนีเซีย ด้วยขนาดและสีทำให้นกกกเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเชิงวัฒนธรรมและพิธีกรรมในหลายชนเผ่า นกกกเป็นนกที่มีอายุยืน นกในกรงเลี้ยงสามารถมีอายุได้ถึง 50 ปี ปกติจะกินผลไม้เป็นอาหาร โดยเฉพาะลูกไทร แต่บางครั้งจะกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก, สัตว์เลื้อยคลาน และนกชนิดอื่นเป็นอาหาร

นกกกจัดเป็นนกเงือกชนิดที่ใหญ่ที่สุด มีความยาวลำตัวประมาณ 130-150 เซนติเมตร มีปีกสีดำพาดเหลือง ปลายปีกขาว ไม่มีขนปกคลุมใต้ปีก หางสีขาวพาดดำ ตัวผู้มีนัยน์ตาสีแดง ด้านหน้าโหนกที่อยู่บนปากมีสีดำ มีจะงอยปากที่ยาว ส่วนตัวเมียมีนัยน์ตาสีขาว ด้านหน้าโหนกไม่มีสีดำ

มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดเล็ก จนกว่าจะโตเต็มที่และหาคู่ได้ มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม โดยตัวผู้จะเป็นฝ่ายเกี้ยวพาราสีตัวเมีย และเสาะหาโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ที่นกหรือสัตว์อื่นทิ้งไว้ ทั้งนี้เนื่องจากนกกกไม่สามารถที่จะเจาะโพรงเองได้ เนื่องจากจะงอยปากไม่แข็งแรงพอ ตัวเมียจะใช้เวลาตัดสินใจเข้าโพรงนานอาจนานเป็นสัปดาห์ ทั้งนี้เพราะระยะเวลาที่ตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงเพื่อวางไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนกินเวลานานถึง 3 เดือน ในระยะนี้นกกกตัวผู้จะเอาใจตัวเมียเป็นพิเศษด้วยการบินออกอาหารมาป้อนตัวเมียอยู่สม่ำเสมอ ขณะที่ตัวเมียเมื่อเข้าไปในโพรงแล้วจะปิดปากโพรงเหลือเพียงช่องพอให้ปากของตัวผู้ส่งอาหารมาได้เท่านั้น ด้วยมูล, เศษอาหาร และเศษไม้ในโพรง

นกกกตัวเมียใช้เวลากกไข่นาน 1 เดือน อาจวางไข่ได้ 2 ฟอง แต่ลูกนกตัวที่อ่อนแอกว่าอาจตายไปซึ่งเป็นวิถีตามธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่ เมื่อลูกนกฟักเป็นตัว นกตัวผู้ต้องออกหาอาหารมากยิ่งขึ้นอาจมากถึงวันละ 10 เที่ยว ในระยะทางอาจไกลได้ถึง 10 กิโลเมตร ขณะที่นกตัวเมียจะเป็นฝ่ายสอนลูกนกปิดปากโพรงเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสอนที่จะตกทอดต่อไปเรื่อย ๆ จากรุ่นต่อรุ่น

เมื่อลูกนกโตพอที่จะบินเองได้แล้ว เนื้อที่ในโพรงเริ่มคับแคบ นกกกตัวเมียจะเป็นฝ่ายพังโพรงรังบินออกมาก่อน ขณะที่ลูกนกจะฝึกซ้อมบินด้วยการกระพือปีกในโพรงและปิดปากโพรงตามที่แม่นกสอน เมื่อลูกนกพร้อมที่จะบินเองแล้ว พ่อแม่นกจะรอให้ลูกนกพังโพรงและบินออกมาเองด้วยการล่อด้วยอาหาร และส่งเสียงร้อง เมื่อลูกนกหิวจะกล้าบินออกมาเอง ในระยะแรกพ่อแม่นกจะยังคอยดูแลลูก จนกว่าจะโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้[3]

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 BirdLife International (2008). Buceros bicornis. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 3 Oct 2009.
  2. Hodgson,BH (1833). "Description of the Buceros Homrai of the Himalaya". Asiat. Res. 18 (2): 169–188.
  3. แรกบิน, "พินัยกรรมธรรมชาติ". สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]