ข้ามไปเนื้อหา

อันดับย่อยปลากัด ปลากระดี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Anabantoidei)
อันดับย่อยปลากัด ปลากระดี่
ปลาแรด (Osphronemus goramy) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอันดับนี้
หวอดของปลากัด (Betta splendens)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Anabantiformes
อันดับย่อย: Anabantoidei
Berg, 1940[1]
วงศ์[2]

อันดับย่อยปลากัด ปลากระดี่ (อันดับย่อย: Anabantoidei) เป็นอันดับย่อยของปลาที่อยู่ในอันดับAnabantiformes ซึ่งทั้งหมดเป็นปลาที่อยู่ในน้ำจืดทั้งหมด โดยจะพบในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย [3] โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabantoidei (/อะ-นา-เบน-ทอย-เดีย/)

ส่วนมากเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ขนาดเมื่อโตเต็มที่ไม่เกินฝ่ามือของมนุษย์ แต่จะมีบางสกุลเท่านั้นที่ใหญ่ได้ถึงเกือบหนึ่งเมตร ได้แก่ Osphronemus หรือสกุลปลาแรด

ปลาในอันดับนี้จะถูกเรียกในชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า "Labyrinth fish" หรือ "ปลาที่มีอวัยวะช่วยในการหายใจ" เพราะปลาในอันดับนี้จะมีอวัยวะช่วยในการหายใจอยู่ในเหงือก เรียกว่า "อวัยวะเขาวงกต" (Labyrinth organ) จึงทำให้สามารถฮุบอากาศจากบนผิวน้ำได้โดยตรง โดยไม่ต้องรอให้ออกซิเจนละลายในน้ำผ่านซี่กรองเหงือกเหมือนปลาทั่วไป [3] โดยอวัยวะส่วนนี้มีลักษณะเป็นแผ่นแข็ง ขดวนไปมาเหมือนเขาวงกตตามชื่อ และมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงจำนวนมาก ซึ่งพัฒนามาจากกระดูก Epibranchial bone ของกระดูก Gill arch อันแรก และยังทำให้อาศัยอยู่บนบกได้ชั่วเวลาหนึ่งด้วย ในปลาบางชนิด[4] จึงสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่แคบ ๆ หรือมีออกซิเจนละลายในน้ำต่ำได้เป็นอย่างดี เช่น ท้องร่องสวน, หนอง, บึงทั่วไป รวมถึงในนาข้าวด้วย โดยทั้งหมดเป็นปลากินเนื้อ มีบางจำพวกเท่านั้นที่กินพืชเป็นอาหารหลัก

โดยที่ยังเป็นปลาวัยอ่อน อวัยวะส่วนนี้จะยังไม่เจริญเต็มที่ ปลาจะใช้เหงือกเป็นอวัยวะหลักในการหายใจเหมือนปลาทั่วไป แต่เมื่อปลาโตขึ้น อวัยวะส่วนนี้จะใหญ่ขึ้น ขณะที่เหงือกจะหดเล็กลง แต่ก็ไม่หายไปเลยทีเดียว

ปลาในอันดับนี้ จะมีความแตกต่างระหว่างเพศผู้และเพศเมียชัดเจน โดยตัวผู้มีจะมีลำตัวขนาดใหญ่กว่าและมีสีสันที่สวยงามกว่า

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วงศ์ใหญ่ ๆ (ดูในตาราง)

ส่วนมากเป็นปลาที่มีนิสัยดุร้ายก้าวร้าว มักจะกัดกันเองเสมอ ๆ ในฝูง ในหลายวงศ์ หลายสกุล จะมีการแพร่ขยายพันธุ์คล้าย ๆ กัน กล่าวคือ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายบีบรัดตัวเมียเพื่อรีดไข่ออกมา แล้วฉีดสเปิร์มเข้าใส่ จากนั้นจะอมไข่ในปากแล้วพ่นเก็บไว้ในฟองน้ำที่สร้างจากน้ำลายของตัวผู้ผสมกับอากาศบนผิวน้ำ ที่เรียกว่า "หวอด" จากนั้นตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่จนกระทั่งฟักเป็นตัว หรือในบางชนิด ตัวผู้จะเป็นอมไข่ไว้ในปากจนกระทั่งฟักเป็นตัว หรือสร้างรังจากวัชพืชน้ำหรือเศษหญ้า ใบไม้ คล้ายรังของนก เป็นต้น

เป็นปลาที่รู้จักกันดีในแง่ของการใช้บริโภคเป็นอาหารของมนุษย์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามด้วย เพราะเป็นปลาขนาดเล็ก สวยงาม และเลี้ยงง่าย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Karel F. Liem (1963). The comparative osteology and phylogeny of the Anabantoidei (Teleostei, Pisces). Illinois biological monographs. Vol. 30. Urbana,University of Illinois Press,1963.
  2. จาก ITIS.org
  3. 3.0 3.1 Pinter, H. (1986). Labyrinth Fish. Barron's Educational Series, Inc., ISBN 0-8120-5635-3
  4. หน้า 106, The Giant Gourami "แรด" ในตำนาน คอลัมน์ Rare Collection โดย RoF, นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 29: พฤศจิกายน 2012

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]