โองการ กลีบชื่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โองการ กลีบชื่น มีนามเดิมว่า ทองต่อ เป็นบุตรของนายขำและนางทองอยู่ บิดาเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ประจำวัดพระพิเรนทร์และวัดอนงคาราม โองการจึงได้เรียนดนตรีไทยกับบิดาตั้งแต่เด็ก ต่อมาได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย จนกระทั่งกรมขุนเพชรบูรณ์ฯสิ้นพระชนม์ จึงไปเรียนดนตรีต่อจากหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เข้ารับราชการในกองปี่พาทย์และโขนหลวงใน พ.ศ. 2467 จนกระทั่งลาออกใน พ.ศ. 2474 ไปถวายตัวอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ที่วังบางคอแหลม เป็นนักดนตรีประจำวงวังบางคอแหลม ต่อมาได้เป็นครูสอนปี่พาทย์ในโรงเรียนนาฏดุริยางค์เมื่อ พ.ศ. 2477

ในปีนั้นเองโองการได้เป็นผู้ควบคุมวงดนตรีไทยร่วมในคณะนาฏศิลป์เป็นทูตสันตวไมตรีไปประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 เดือน เนื่องจากมีความรู้ในภาษาญี่ปุ่นจนเป็นล่ามได้ ในพ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนชื่อจากทองต่อมาเป็นโองการ ต่อมาโอนมารับราชการ ณ กองดุริยางค์ทหารอากาศเมื่อ พ.ศ. 2500 และได้รับพระราชทานยศเป็นเรืออากาศเอกจนถึง พ.ศ. 2510 ก็ลาออก แต่ยังไปสอนพิเศษให้แก่วงดนตรีไทยของทหารอากาศอยู่ โองการได้รับถ่ายทอดวิชาให้สืบทอดการทำพิธีอ่านโองการไหว้ครู และครอบดนตรีไทยให้กับนักดนตรีรุ่นต่อ ๆ ไปได้ จึงได้เป็นผู้ประกอบพิธีอ่านโองการไหว้ครูตามสถาบันต่าง ๆ จน พ.ศ. 2520 จึงได้ทำพิธีมอบหมายการอ่านโองการไหว้ครูให้แก่นายพักตร์ โตสง่าและนายสุพจน์ โตสง่า

ผลงานทางด้านการแต่เพลง ได้แก่ เพลงขอมกล่อมลูกเถา คู่มอญรำดาบเถา พญาสี่เสาเถา พระจันทร์ครึ่งซีกเถา แต่งทางร้องเพลงพม่าห้าท่อน ๖ ชั้น ธรณีกรรแสงเถา พระอาทิตย์ชิงดวงเถา ทองย่อนเถาเนื้อเต็ม โองการแต่งงานครั้งแรกมีบุตร ๒ คน ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวเพลินพิศ พลางกูร เมื่อ พ.ศ. 2490 โองการถึงแก่กรรมเมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ที่โรงพยาบาลวชิระ รวมอายุได้ 65 ปี

อ้างอิง[แก้]