โพลีคีทา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โพลีคีท (อังกฤษ: Polychaeta) หรือ ไส้เดือนทะเล เป็นสิ่งมีชีวิตพื้นทะเลอยู่ในไฟลัมสัตว์พวกหนอนปล้อง ลักษณะที่เด่นชัด คือ การมีเดือย (setae) หรือก้าน (chaetae) ในแต่ละปล้องเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ โพลีคีท (polychaete) โดย poly หมายถึง มาก และ setae หรือ chaete หมายถึง ขนแข็ง

นอกจากนี้ ลำตัวของไส้เดือนทะเลยังมีรยางค์สองข้างของแต่ละปล้อง เรียกว่า พาราโพเดียม (parapodium) งอกออกมาจากผนังด้านข้างของปล้อง ปล้องละ 1 คู่ ลักษณะเป็น 2 พู ประกอบไปด้วยพูด้านบนหรือด้านหลัง เรียกว่า โนโทโพเดียม (notopodium) และพูด้านล่างหรือด้านท้อง เรียกว่า นิวโรโพเดียม (neuropodium) ลำตัวของไส้เดือนทะเลนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ

  1. ส่วนหัว (Head) แบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วน คือส่วน prostomium เป็นส่วนปลายสุดด้านหน้า ประกอบไปด้วยสมอง ตา หนวด และ palps อีกส่วนหนึ่งคือส่วน peristomium เป็นปล้องที่อยู่ถัดมาจากส่วนแรกและมีขนแข็งของหนวดกินอาหาร tentacle cirri ในไส้เดือนทะเลบางวงศ์มีทั้งสองส่วนเชื่อมติดกัน ตัวอย่างเช่น ไส้เดือนทะเลบางสกุลในวงศ์ Maldanidae และ Paraonidae
  2. ส่วนลำตัว (Trunk) มีลักษณะเป็นปล้อง ในแต่ละปล้องจะมีรยางศ์สำหรับช่วยในการเคลื่อนที่เรียกว่า parapodium (ภาพที่1) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 พูคือ notopodium จะอยู่ทางด้านหลังของลำตัว และ neuropodium จะอยู่ทางด้านท้องของลำตัว parapodium จะมีแกนค้ำจุนเป็นแท่งไคตินเรียกว่า aciculum ลักษณะของพาราโพเดียมนั้นสามารถใช้จำแนกชนิดของไส้เดือนทะเล ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด
  3. ส่วนท้ายลำตัว (Tail) เป็นส่วนสุดท้ายของลำตัว ประกอบไปด้วย pygidium ซึ่งเป็นปล้องที่อยู่ปลายสุดของลำตัว ส่วนต่อไปคือ รูทวาร และติ่งทวาร