แม่เจ้าแขกแก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แม่เจ้าแขกแก้ว

เจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน
ชายาในเจ้านครลำพูน
ประสูติ2 กรกฎาคม พ.ศ. 2435
พิราลัย18 กันยายน พ.ศ. 2513
พระราชบุตร4 องค์
พระนามเต็ม
แม่เจ้าแขกแก้ว จักรคำขจรศักดิ์
ราชวงศ์ทิพย์จักร
ราชสกุลณ ลำพูน
พระบิดาเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยพรหมเทพ ณ ลำพูน)
พระมารดาเจ้าสุนา ณ ลำพูน

แม่เจ้าแขกแก้ว จักรคำขจรศักดิ์ หรือ เจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน เป็นชายาในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 เป็นราชธิดาในเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยพรหมเทพ ณ ลำพูน) เจ้าบุรีรัตน์นครลำพูน กับเจ้าสุนา ณ ลำพูน

พระประวัติ[แก้]

เจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน มีพระนามเดิมว่า เจ้าหญิงแขกแก้วมาเมือง ณ ลำพูน เป็นราชธิดาในเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยพรหมเทพ ณ ลำพูน) เจ้าบุรีรัตน์นครลำพูน กับเจ้าสุนา ณ ลำพูน ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ปีมะโรง ณ คุ้มที่ประตูช้างสี ถนนรอบเมืองนอก นครลำพูน มีพี่น้องร่วมเจ้าบิดา เจ้ามารดา คือ

  1. เจ้าหญิงขานแก้ว ณ ลำพูน หรือ แม่เจ้าขานแก้ว จักรคำขจรศักดิ์ ชายาในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน (ถึงแก่อนิจกรรม เมื่ออายุได้ 28 ปี)
  2. เจ้าสิงห์คำ ณ ลำพูน (ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ยังเยาว์)
  3. เจ้าเมืองคำ ณ ลำพูน (ถึงแก่อนิจกรรม เมื่ออายุได้ 28 ปี)
  4. เจ้าเมืองดี ณ ลำพูน (ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ยังเยาว์)
  5. เจ้าสายแก้ว ณ ลำพูน (ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ยังเยาว์)
  6. เจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน

เมื่อเจ้าหญิงแขกแก้ว มีชันษาได้ 18 ปี ในพ.ศ. 2453 ได้เสกสมรสกับเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 ตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าบุรีรัตน์ นครลำพูน ต่อมาเจ้าหญิงแขกแก้วได้กลับมาอยู่กับเจ้าบิดาเจ้ามารดา ณ คุ้มประตูช้างสี และได้เริ่มต้นทำการค้าขายด้วยตัวเองจนมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ

เจ้าหญิงแขกแก้ว มีอุปนิสัยใจคอเด็ดเดี่ยว มั่นคง มีความมานะ พยายามเป็นเลิศ มีความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีอย่างมีใครเสมอเหมือนมิได้ ทั้งเป็นผู้มีจิตวิทยาสูง ในขณะเดียวกันเจ้าหญิงก็มีจิตใจอ่อนโยน โอบอ้อมอารี มีความเมตตากรุณา ช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ ตลอดชีวิตของท่านเต็มไปด้วยคุณงามความดี การทำบุญสุนทานและบำเพ็ญประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป

เจ้าหญิงแขกแก้ว ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2513 ตรงกับวันศุกร์ แรม 3 ค่ำ เดือน 12 เหนือ เวลา 20.50 น. ที่โรงพยาบาลลำพูน รวมสิริอายุได้ 78 ปี 2 เดือน

ราชบุตร ราชธิดา[แก้]

เจ้าหญิงแขกแก้ว มีราชบุตร ราชธิดากับเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ คือ

  1. เจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สมรสกับ "หม่อมเทวี (วัฒนะทัสสี) ณ ลำพูน" (มีธิดา 1 บุตร 1)
  • เจ้าวรเทวี (ณ ลำพูน) ชลวณิช
  • เจ้าวีรทัศน์ ณ ลำพูน
  1. เจ้ารัชเดช ณ ลำพูน (ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ยังเยาว์)[1]

ส่วน ราชบุตร และราชธิดาอีก 2 องค์ ถึงแก่อนิจกรรมหลังจากคลอดได้ไม่กี่วัน จึงยังไม่ทันตั้งชื่อ

ราชกรณียกิจ[แก้]

ในด้านศาสนา[แก้]

  • เจ้าหญิงแขกแก้ว และพลตรีเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูป 40 องค์ และสร้างกุฏิ 1 หลัง ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย
  • เจ้าหญิงแขกแก้ว ได้เริ่มถือศีลกินเพล เข้ามานอนวัดรักษาอุโบสถศีลเป็นครั้งแรกเมื่อวันพระ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 เหนือ ณ วัดมหาวัน และตลอดมาจนถึงบั้นปลายแห่งชีวิต เจ้าหญิงเป็นผู้ปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระศาสนา ท่านสวดมนต์และนั่งสมาธิเป็นกิจวัตรทุกเวลาเช้ามือและทุกคืน ท่านใส่บาตรพระในตอนเช้า และได้ส่งอาหารเพล 4 ปิ่นโตที่วัดพระธาตุหริภุญชัย และวัดมหาวันทุก ๆ วัน ตลอดมาจนถึงแก่อนิจกรรม นอกจากนั้นท่านยังได้บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการทำบุญสุนทานต่างๆ มากมาย

ด้านการศึกษา[แก้]

  • เจ้าหญิงแขกแก้ว ได้ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการศึกษาเป็นอย่างดี จึงได้ส่งเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน บุตรชายเข้าศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และได้อุปการะเจ้าวรเทวี ณ ลำพูน และเจ้าวีระทัศน์ ณ ลำพูน หลังจากที่เจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน ถึงแก่อสัญกรรม ในปี พ.ศ. 2508 ท่านสนับสนุนให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศจนเจ้าวรเทวีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท (MBA) จาก Oregon State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และเจ้าวีระทัศน์จบประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านเครื่องยนต์จากสถาบัน Technikum ประเทศเยอรมัน และได้ฝึกงานระยะเวลา 1 ปี ที่ประเทศอังกฤษ

ด้านการสาธารณกุศล[แก้]

  • ในปัจฉิมวัย เจ้าหญิงแขกแก้วได้อุทิศเวลาบางส่วนให้สาธารณประโยชน์ นอกจากจะเป็นสมาชิกอนุกาชาดตลอดชีพ เจ้าหญิงยังได้ให้ความร่วมมือแก่ราชการทุก ๆ หน่วยตลอดมามิได้ขาด และยังได้ช่วยเหลือ ส่งข้าวของ เงินทองไปบรรเทาทุข์ผู้ยากจน ผู้ประสบภัยต่าง ๆ และได้ร่วมบริจาคเงินสมทบการสร้างหอประชุมอำเภอ การบูรณะกำแพงเมือง และอื่น ๆ ตลอดเวลาที่เจ้าหญิงแขกแก้วยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของญาติพี่น้องและบุคคลอื่น ๆ ที่มีความทุกข์ยากลำบาก เจ้าหญิงได้ช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ทั้งด้านการเงิน การงาน ความคิดอ่าน ที่พักอาศัย และอื่น ๆ เสมอ ด้วยความกระตือรือร้น เต็มใจ มิได้เบื่อหน่าย นอกจากนี้เจ้าหญิงยังได้อุปการะญาติพี่น้องอีกเป็นจำนวนหลายราย บุคคลเหล่านี้มีมากมายจนเกินกว่าที่จะกล่าวได้ครบถ้วน เจ้าหญิงกระทำแต่คุณงามตวามดี จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชีวประวัติเจ้าผู้ครองนครลำพูน. ประวัติเจ้าจักรคำขจรศักดิ์
  2. ศูนย์สนทนาภาคเหนือ. เจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน - ภาพอดีตในล้านนา.