แบงค็อกสกรีนนิงรูม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บรรยากาศภายในโรงภาพยนตร์

แบงค็อกสกรีนนิงรูม (อังกฤษ: Bangkok Screening Room; ชื่อย่อ: BKKSR) คือ โรงภาพยนตร์อิสระในประเทศไทย ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารครีเอทีฟสี่ชั้น บริเวณปากซอยศาลาแดง 1 กรุงเทพมหานครฯ ก่อตั้งโดยกลุ่มทรีโลจี (Threelogy) เปิดให้บริการวันที่ 22 กันยายน 2559[1] และยุติการให้บริการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ฉายภาพยนตร์ทางเลือกทั้งของไทยและต่างประเทศ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ผู้สร้างภาพยนตร์อิสระได้แสดงผลงานของตนเอง และเปิดให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้ วัฒนธรรม และความคิดผ่านการชมภาพยนตร์[2]

ประวัติ[แก้]

แบงค็อกสกรีนนิ่งรูมเกิดจากแนวคิดของกลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปะและการออกแบบในนาม "ทรีโลจี" ประกอบด้วย ศริญญา มานะมุติ, วงศรน สุทธิกุลพาณิช และนิโคลัส ฮัดสัน-เอลิส[3] ที่ต้องการสร้างโรงภาพยนตร์อิสระในประเทศไทยที่มีลักษณะถาวรและบริหารงานแบบมืออาชีพ และมีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและประกอบกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการชมภาพยนตร์นอกกระแสหลัก และสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์และการสร้างภาพยนตร์ไปพร้อม ๆ กัน[4]

การฉายภาพยนตร์[แก้]

โรงภาพยนตร์แห่งนี้ให้ความสำคัญกับการฉายภาพยนตร์ทางเลือกทั้งของไทยและต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์คลาสสิก ภาพยนตร์อิสระ ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์ขนาดสั้น รวมถึงภาพยนตร์คุณภาพดีที่ถูกถอดออกจากโปรแกรมฉายของโรงภาพยนตร์กระแสหลักเนื่องจากทำรายได้ช้า[2] โดยจะจัดสรรสัดส่วนภาพยนตร์ที่เข้าฉายต่อเดือนให้มีทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศรวมกัน 4 เรื่อง แต่ละเรื่องฉายขั้นต่ำ 15 รอบ และสอดแทรกรอบฉายของภาพยนตร์คลาสสิกอีกประมาณ 6-10 รอบต่อเดือน ส่วนรายได้ที่ได้รับจากการฉายแต่ละเรื่องจะแบ่งให้กับผู้สร้างหรือผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งหมด[5]

นอกจากนี้ ยังเปิดให้บุคคลภายนอกเช่าพื้นที่จัดฉายภาพยนตร์โปรแกรมพิเศษหรือเทศกาลภาพยนตร์นอกเหนือจากโปรแกรมที่โรงกำหนดด้วย[5] อาทิ เทศกาลภาพยนตร์แรงงานข้ามชาติสากล 2016 ที่จัดโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อวันที่ 14-18 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้น[6]

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

ปี พ.ศ. 2560 นิตยสารไบโอสโคปมอบ "รางวัลไบโอสโคป" ประจำปี พ.ศ. 2559 สาขาหน้าใหม่น่าจับตา แก่โรงภาพยนตร์แห่งนี้ เนื่องจากเป็นโรงภาพยนตร์ที่คาดว่าจะสร้างพื้นที่ใหม่สำหรับวงการภาพยนตร์ในประเทศไทย พร้อมกับเป็นแหล่งบ่มเพาะวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ที่เปิดโลกทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มาชมได้ในอนาคต[7]

ประกาศยุติกิจการ[แก้]

โรงภาพยนตร์แบงค็อกสกรีนนิงรูมประกาศยุติกิจการในปี พ.ศ. 2564 เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564[8] ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้แก่ด็อกคิวเมนทรีคลับ บริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายภาพยนตร์สารดคี ในฐานะผู้เช่ารายต่อไป[9]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Monruedee Jansuttipan. "Bangkok Screening Room โรงหนังอิสระยุคดิจิตอลในกรุงเทพฯ". Soimilk. 22 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2560.
  2. 2.0 2.1 "เกี่ยวกับ BKKSR เก็บถาวร 2017-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Bangkok Screening Room. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2560.
  3. "เกี่ยวกับเรา เก็บถาวร 2017-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Bangkok Screening Room. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2560.
  4. คุณากร วิสาลสกล. "Bangkok Screening Room พื้นที่ศิลปะสำหรับคนรักหนัง". ใน Bioscope (ฉบับที่ 176, พฤษภาคม 2559). หน้า 16.
  5. 5.0 5.1 ชลนที พิมพ์นาม. "ในวันนี้และอนาคตของ Bangkok Screening Room". ใน Bioscope (ฉบับที่ 178, กุมภาพันธ์-มีนาคม 2560). หน้า 66-67.
  6. "Global Migration Film Festival 2016". Bangkok Screening Room. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560.
  7.  "Bioscope Awards 2016". ใน Bioscope (ฉบับที่ 178, กุมภาพันธ์-มีนาคม 2560). หน้า 48.
  8. "Bangkok Screening Room". www.facebook.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. Itthipongmaetee, Chayanit (2021-03-04). "Bangkok Screening Room to live on with new cinephile tenant Documentary Club". Coconuts (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]