ข้ามไปเนื้อหา

เหตุโรงแรมนิวเวิลด์ถล่ม

พิกัด: 1°18′42″N 103°51′18″E / 1.311784°N 103.854879°E / 1.311784; 103.854879
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหตุโรงแรมนิวเวิลด์ถล่ม
หน้าหนึ่งของเดอะซันเดย์ไทมส์หลังเกิดเหตุ
วันที่15 มีนาคม 1986; 38 ปีก่อน (1986-03-15)
เวลา11:25 am (UTC+08:00)
ที่ตั้งโรโชร์ ประเทศสิงคโปร์
สาเหตุความผิดปกติในการก่อสร้าง
เสียชีวิต33
บาดเจ็บไม่ถึงตาย17
รายละเอียด
อาคารเลียนเอี๊ยก (Lian Yak Building)
แผนที่
ชื่อเดิมโรงแรมนิวเซอรางูน (New Serangoon Hotel)
ชื่ออื่นโรงแรมนิวเวิลด์ (Hotel New World)
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถล่ม
ที่ตั้งโรโชร์
ประเทศประเทศสิงคโปร์
พิกัด1°18′42″N 103°51′18″E / 1.311784°N 103.854879°E / 1.311784; 103.854879
เปิดใช้งาน1971; 53 ปีที่แล้ว (1971)
ถูกทำลาย15 มีนาคม 1986; 38 ปีก่อน (1986-03-15)
เจ้าของอึ๋ง คอง หลิม
ติดต่อเลียนเอี๊ยก เรียลตี (Lian Yak Realty)
ข้อมูลทางเทคนิค
จำนวนชั้น6
ข้อมูลอื่น
จำนวนห้อง67
จำนวนร้านอาหาร1

โรงแรมนิวเวิลด์ (อังกฤษ: Hotel New World) ในประเทศสิงคโปร์ ถล่มลงมาในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1986[1] โรงแรมนิวเวิลด์เป็นอาคารสูงหกชั้น ตั้งอยู่ที่จุดตัดของถนนเซอรางูน (Serangoon Road) กับถนนโอเวิน (Owen Road) ในเขตโรโชร์ ก่อนที่จะถล่มลงมาโดยฉับพลัน เป็นผลให้มีผู้ติดอยู่ในซากอาคาร 50 คน[2] ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 33 ราย และ 17 คนได้รับการช่วยเหลือ[3]

ภูมิหลัง

[แก้]

โรงแรมนิวเวิลด์ (Hotel New World) หรือชื่อทางการว่า อาคารเลียนเอี๊ยก (Lian Yak Building; จีน: 联益大厦)[4] ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1971 มีความสูงหกชั้นและลานจอดรถใต้ดินหนึ่งชั้น[2] ชื่อเดิมคือโรงแรมนิวเซอรางูน (New Serangoon Hotel) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นโรงแรมนิวเวิลด์เมื่อ ค.ศ. 1984 เป็นผู้เช่าสี่ชั้นบนของอาคาร[5] ส่วนชั้นล่างเป็นของธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (Industrial & Commercial Bank; ผนวกเข้ากับยูโอบีเมื่อ ค.ศ. 1987) ณ เวลาที่เกิดเหตุ บนชั้นสองของอาคารเป็นร้านอาหารและสถานบันเทิงยามราตรีชื่อ ยูนิเวอร์ซัลเนปชูน (Universal Neptune Nite-Club and Restaurant)[6]

อาคารเคยมีรายงานปัญหาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์รั่วไหลในบางห้องพักของโรงแรม ซึ่งออกข่าวหนังสือพิมพ์ในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1975 หนึ่งวันหลังเกิดเหตุก๊าซรั่ว[7]

เหตุถล่ม

[แก้]

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1986 อาคารถล่มลงมาอย่างฉับพลันในเวลาไม่ถึง 1 นาทีเมื่อเวลา 11:25 น. ทำให้คนในอาคารไม่มีเวลาหลบหนีออกมาได้ทัน ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่าได้ยินเสียงระเบิดหนึ่งครั้งก่อนอาคารถล่ม กระนั้นตำรวจตรวจสอบแล้วระบุว่าไม่ได้เกิดจากการโจมตีด้วยระเบิด[8] และเชื่อว่าก๊าซระเบิดน่าจะเป็นสาเหตุ[8]

เหตุถล่มสร้างความตระหนกไปทั่ว รวมถึงนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในเวลานั้น ลี กวนยู ซึ่งเคยกล่าวว่า "การถล่มของอาคารดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"[9]

ผู้เสียชีวิต

[แก้]

ณ ขณะที่เกิดเหตุ มีการคาดการณ์จำนวนคนติดในซากอาคารมากถึง 300 คน[10] และลดลงเหลือ 100 คนในวันต่อมา[11] และลงเป็น 60 คน ประกอบด้วยพนักงานโรงแรม 26 คน และพนักงานธนาคาร 16 คนที่ยังไม่ทราบชะตากรรม[9] ท้ายที่สุดยอดผู้ติดในซากอาคารออกมาอยู่ที่ 33 คน และยอดผู้เสียชีวิตประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1986 หลังการกู้ภัยเสร็จสิ้น[3] ในจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นชาวสิงคโปร์ 23 ราย ที่เหลืออีก 10 รายเป็นชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้ประกอบด้วยพลเมืองของมาเลเซียและปากีสถาน

การกู้ภัย

[แก้]

หลังอาคารถล่ม คนที่เดินสัญจรผ่านไปมาจำนวนมากพยายามเข้าไปช่วยกู้ภัย ไม่นานสำนักดับเพลิงสิงคโปร์ (SFS), กองพันพิเศษตำรวจสิงคโปร์ และกองทัพสิงคโปร์ (SAF) ก็มาถึงและช่วยทำการกู้ภัย ศูนย์กลางการกู้ภัยอยู่ที่บริษัทอีเกิลเปียโน (Eagle Piano Company) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน

เนื่องจากมีผู้รอดชีวิตที่ยังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง การกู้ภัยจึงเป็นปฏิบัติการที่ละเอียดอ่อน โดยเศษซากจะถูกเคลื่อนย้ายออกไปอย่างระมัดระวังด้วยเลื่อยไฟฟ้าและสว่านที่ตัดผ่านซากปรักหักพัง เครื่องตรวจจับเสียงได้นำมาใช้เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากปรักหักพังโดยตรวจจับเสียงร้องและเสียงร้องไห้ที่แผ่วเบาของผู้รอดชีวิต ในช่วง 12 ชั่วโมงแรก กองทัพสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้ 9 คน

นอกจากนี้ยังมีผู้ชำนาญการด้านการเจาะอุโมงค์จากทั้งในประเทศและจากญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เข้ามาช่วยเหลือ บุคคลกลุ่มนี้อยู่ในสิงคโปร์ในเวลานั้นเพื่อทำการขุดเจาะอุโมงค์ของรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีที่บริเวณใกล้กับที่เกิดเหตุ โดยผู้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือครั้งนี้ได้แก่ ทอมัส แกลาเกอร์ (Thomas Gallagher), แพทริก แกลาเกอร์ (Patrick Gallagher), ไมเคิล เพรนเดอร์แจสต์ (Michael Prendergast), ไมเคิล สก็อต (Michael Scott) และ ทัน จิน ทง (Tan Jin Thong)[12] พวกเขาได้แสดงความกังวลว่าการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่อาจทำให้ซากอาคารถล่มทับผู้ที่ติดอยู่ในอาคารซ้ำ พวกเขาจึงทำการอาสาสมัครขุดอุโมงค์ใต้ซากอาคาร 4 จุด ส่งผลให้สามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้อีก 8 คน ต่อมา พวกเขาได้รับการเชิดชูเกียรติโดยรัฐบาลสิงคโปร์

ผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย บุคคลวัย 30 ปี ชื่อ ชัว คิม ชู (Chua Kim Choo) ได้รับการกู้ภัยในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1986 หลังรอดชีวิตโดยการหลบอยู่ใต้โต๊ะ[13] การกู้ภัยและกอบกู้ร่างดำเนินไปหกวัน และสิ้นสุดในวันที่ 21 มีนาคม

การสอบสวน

[แก้]

การสอบสวนพบการต่อเติมอาคารหลายจุดหลังการก่อสร้าง มีการสร้างระบบเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติมบนดาดฟ้าอาคาร ส่วนธนาคารมีการต่อเติมเซฟขนาดใหญ่ และภายนอกของอาคารมีการติดตั้งกระเบื้องเซรามิกส์ ทั้งหมดนี้ล้วนเพิ่มน้ำหนักให้กับอาคารอย่างมาก กระนั้นต่อมาไม่ได้พบว่ามีผลต่อโครงสร้างอาคาร เนื่องจากวิศวกรโครงสร้างคำนวณน้ำหนักโครงสร้าง (structural load) ผิดพลาด ในขณะที่น้ำหนักตายตัว (dead load) ไม่ได้นำมาคำนวณด้วยเลย หมายความว่าอาคารสร้างขึ้นโดยไม่สามารถรองรับน้ำหนักของตัวอาคารเองได้ เสารับน้ำหนักสามเสาล้มเหลวเชิงโครงสร้างในช่วงวันก่อนการถล่ม ส่วนเสาอื่ยที่เหลือต้องรับน้ำหนักเพิ่มแทนเสาที่ล้มเหลวไป ซึ่งต่อมาไม่สามารถรับน้ำหนักได้[14]

ในรายงานของแชนเนลนิวส์เอเชีย (CNA) อาคารนี้ออกแบบโดยคนร่างแบบที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แทนที่จะใช้วิศวกรโครงสร้าง การสอบสวนยังพบว่าในการคำนวณน้ำหนักตายตัวนั้นเขาคาดการณ์ความสามารถรับน้ำหนักของเสากับผนังมากเกินกว่าที่จะรับได้จริง คนร่างแบบคนดังกล่าวอ้างว่าเจ้าของอาคาร อึ๋ง คอง หลิม (Ng Khong Lim (จีน: 黃康霖; เป่อ่วยยี: n̂g khong lîm); ต่อมาเสียชีวิตในอาคารถล่มครั้งนี้) มอบหมายให้เขาออกแบบอาคาร แต่ตัวอึ๋งเองเป็นผู้กำกับการก่อสร้าง การสอบสวนยังพบอีกว่าอึ๋งได้ขอให้ใช้วัสดุคุณภาพต่ำในการก่อสร้างอาคารเพื่อลดต้นทุน ซึ่งท้ายที่สุดเป็นราคาที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตของตน[15][16]

ผลสืบเนื่อง

[แก้]

อาคารทั้งหมดในประเทศที่สร้างขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1970 ถูกสั่งตรวจสอบโครงสร้างโดยละเอียด และมีอาคารจำนวนหนึ่งที่ถูกพบว่าไม่ปลอดภัยเชิงโครงสร้าง นำไปสู่การสั่งอพยพและรื้อถอนอาคาร อาคารเหล่านี้ เช่น ตึกหลักของ วิทยาลัยเยาวชนฮวา ชง และ อาคารของโรงเรียนมัธยมคาทอลิก ที่ถนนควีน (Queen Street)[17]

ห้าปีหลังเกิดเหตุ พื้นที่จุดที่เคยเป็นโรงแรมนิวเวิลด์กลายเป็นโครงการก่อสร้างใหม่ อาคารที่สร้างใหม่ขึ้นทดแทนเป็นอาคารโรงแรมสูงเจ็ดชั้นในชื่อ โรงแรมฟอร์ชูนา (Fortuna Hotel) มีขนาด 85 ห้อง เปิดให้บริการเมื่อ ค.ศ. 1994[18]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Allen Yu-Hung LAI; Seck L. TAN (August 2013). Impact of Disasters and Disaster Risk Management in Singapore: A Case Study of Singapore's Experience in Fighting the SARS Epidemic (PDF) (Technical report). ERIA Discussion Paper Series. Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA). Table 1. ERIA-DP-2013-14. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2014. สืบค้นเมื่อ 24 June 2014.
  2. 2.0 2.1 Report of the Inquiry into the Collapse of Hotel New World, Singapore: Printed for the Government of Singapore by Singapore National Printers, 1987, OCLC 24545169, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-11, สืบค้นเมื่อ 2024-11-27 (Book launch website for: Tommy Koh, บ.ก. (2006). Singapore, the encyclopedia. Editions Didier Millet. ISBN 978-981-4155-63-2.)
  3. 3.0 3.1 "Singapore Toll Put at 33". The New York Times. 22 March 1986. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 July 2018. สืบค้นเมื่อ 4 May 2010.
  4. RESILIENCE THROUGH HERITAGE I : HOTEL NEW WORLD (PDF). National Heritage Board. p. 4.
  5. Seventh report of the committee: for the two years ending July 1987 (PDF) (Technical report). Standing Committee on Structural Safety. September 1987. p. 13.
  6. 《劫后"新"生》第4集- 新世界酒店倒塌, 新傳媒私人有限公司, 2015
  7. "Gas Ieak made news 10 years ago (Title adjusted due to improper transcription by OCR)". 16 มีนาคม 1986. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2018.
  8. 8.0 8.1 Philip Lee (16 March 1986). "100 still trapped". The Sunday Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 August 2007.
  9. 9.0 9.1 Crossette, Barbara (17 March 1986). "After 36 Hours, 2 Are Rescued From The Ruins in Singapore". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 4 May 2010.
  10. "300 Trapped as Hotel in Singapore Topples". The New York Times. 15 March 1986. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 July 2018. สืบค้นเมื่อ 4 May 2010.
  11. Ap (16 March 1986). "6-STORY HOTEL COLLAPSES IN SINGAPORE; 100 TRAPPED". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 27 October 2022.
  12. "Singapore Honors Rescuers". The New York Times. 27 April 1986. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 August 2016. สืบค้นเมื่อ 6 February 2017.
  13. "AROUND THE WORLD; Singapore Woman Saved After 3 Days in Rubble". The New York Times. 19 March 1986. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 4 May 2010.
  14. "Hotel Collapse Singapore". Seconds from disaster. ฤดูกาล 2. ตอน 9 (ภาษาอังกฤษ). 27 September 2005. National Geographic Channel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2014. สืบค้นเมื่อ 24 June 2014.
  15. "Hotel New World Collapse". Days of Disaster. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2022. สืบค้นเมื่อ 24 July 2022.
  16. Zaobao, Lianhe (19 September 1986). "为节省成本 黄康霖修改混凝土成分比例" (ภาษาChinese). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 January 2016. สืบค้นเมื่อ 17 October 2015.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  17. "星期二特写 – 《钟声响起时》第6 集 – 双轨火车". video.toggle.sg. 21 August 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 August 2017. สืบค้นเมื่อ 25 August 2017.
  18. Goh, Chin Lian (15 March 2004). "A new world now after hotel collapse". The Straits Times. p. H4.