เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (อังกฤษ: adverse event, AE) คือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ทางการแพทย์ใด ๆ ที่เกิดกับผู้ป่วยหรือผู้รับการทดลองทางคลินิกที่ได้รับการให้ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุกับการปฏิบัตินี้ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ต้องการและไม่จงใจ (รวมถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ผิดปรกติ) อาการหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาซึ่งอาจอยู่ในขั้นวิจัย ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม[1]

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิก จะต้องรายงานต่อผู้สนับสนุนการวิจัย และหากจำเป็นก็ต้องรายงานต่อคณะกรรมการจริยธรรมในท้องถิ่น เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่จัดอยู่ในประเภท "ร้ายแรง" (ส่งผลให้เสียชีวิต, เจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล, เหตุการณ์ที่ถือว่าคุกคามชีวิต, ส่งผลให้เกิดการทุพพลภาพอย่างต่อเนื่องหรือมีนัยสำคัญ, ความผิดปกติแต่กำเนิด, ความพิการแต่กำเนิด หรือภาวะที่สำคัญทางการแพทย์) จะต้องรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลทันที ในขณะที่ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่ร้ายแรงจะถูกบันทึกไว้ในข้อมูลสรุปประจำปีที่ส่งไปยังหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น

ผู้สนับสนุนการวิจัยจะรวบรวมรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากนักวิจัยในท้องถิ่น และแจ้งแหล่งที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทั้งหมดแก่หน่วยอื่น รวมทั้งผู้ตรวจสอบในท้องถิ่นและคณะกรรมการตัดสินเกี่ยวกับความร้ายแรงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของผู้สนับสนุนการวิจัย กระบวนการนี้ช่วยให้ผู้สนับสนุนและผู้ตรวจสอบในท้องถิ่นทั้งหมดสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลที่อาจชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับการวิจัยการรักษาในขณะที่ยังคงดำเนินการอยู่

ประเภทของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์[แก้]

การทดลองทางคลินิกทั้งหมดมีศักยภาพในการสร้างเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จัดประเภทเป็น ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง, คาดหมายหรือไม่คาดหมาย, และเกี่ยวกับการศึกษา อาจเกี่ยวกับการศึกษา หรือไม่เกี่ยวกับการศึกษา[2]

ตัวอย่างเช่น แม้ว่าการศึกษาที่ทดสอบประสิทธิภาพของผ้าพันแขนวัดความดันโลหิตแบบใหม่เป็นระยะเวลา 10 นาทีอาจดูไม่มีพิษภัย แต่ผิวหนังของผู้ป่วยอาจระคายเคืองจากอุปกรณ์ได้ ผู้ป่วยในการศึกษานั้นอาจเสียชีวิตในช่วงเวลา 10 นาทีนั้นด้วย ทั้งการระคายเคืองผิวหนังและการเสียชีวิตอย่างกะทันหันจะถือว่าเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ในกรณีนี้ การระคายเคืองผิวหนังจะจัดว่าไม่ร้ายแรง ไม่คาดหมาย และอาจเกี่ยวข้องกับการศึกษา การเสียชีวิตจะจัดอยู่ในประเภทร้ายแรงและไม่คาดหมาย (เว้นแต่ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะวิกฤตอยู่แล้ว) นักวิจัยท้องถิ่นจะใช้วิจารณญาณทางการแพทย์ของตนเพื่อตัดสินว่าการเสียชีวิตอาจเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ที่ทำการศึกษาหรือไม่

ทั้งการระคายเคืองผิวหนังและการเสียชีวิตเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย และควรแจ้งเตือนผู้วิจัยถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ (เช่น อาจทำงานผิดปกติและทำให้ผู้ป่วยช็อกได้) ผู้วิจัยจะรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาประจำสถาบันในท้องถิ่นและต่อผู้สนับสนุนการวิจัย และรอคำวินิจฉัยว่าจะหยุดการศึกษาหรือไม่ หากผู้วิจัยรู้สึกว่ามีอันตรายที่ใกล้จะเกิดขึ้นจากการใช้อุปกรณ์ สามารถใช้ดุลยพินิจทางการแพทย์เพื่อหยุดไม่ให้ผู้ป่วยเข้าร่วมในการศึกษา

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ยังสามารถถูกระบุได้จากการรักษาตามปกติของผู้ป่วย ซึ่งสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากการใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย

ในออสเตรเลีย 'Adverse EVENT' หมายถึงข้อผิดพลาดทางการแพทย์ทุกประเภท ที่เกี่ยวข้องกับศัลยกรรม เวชบริบาล หรือการพยาบาล การศึกษาอย่างเป็นทางการล่าสุด (พ.ศ. 2538) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 18,000 รายต่อปีที่เป็นผลมาจากการรักษาในโรงพยาบาล[3] องค์กร Medical Error Action Group (MEAG) กำลังวิ่งเต้นให้มีการออกกฎหมายปรับปรุงการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และดำเนินการผ่านระบบการควบคุมคุณภาพ เพื่อลดเหตุการเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น

การรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์[แก้]

นักวิจัยที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกต้องรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทั้งหมดต่อหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของประเทศนั้น ๆ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ (เช่น องค์การอาหารและยาสหรัฐ) โดยต้องรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงทันที ส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่ร้ายแรงจะถูก 'รวม' โดยผู้สนับสนุนการวิจัยและนำส่งรายงานในภายหลัง

ประเภทของวิธีการที่ใช้ในการรายงานผลของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์โดยบุคคลสำหรับหลักฐานที่น่าจะเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากยา (ADRs) มีแนวโน้มจะมีอิทธิพลต่อขอบเขตและลักษณะของข้อมูล การทบทวนในปี พ.ศ. 2561 พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองยาทางคลินิกบางคนถูกถามคำถามเปิดง่าย ๆ (เช่น 'คุณรู้สึกอย่างไร') ในขณะที่การทดลองอื่น ๆ ผู้เข้าร่วมได้รับแบบสอบถามยาว ๆ เกี่ยวกับอาการทางร่างกาย (เช่น 'คุณมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อหรือ ปวดหัว?'[4] การทบทวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในปี พ.ศ. 2565 สำหรับการทดลองโดยนำเชื้อเข้าสู่มนุษย์ (Human challenge trials) พบว่าการรายงานดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ยังคงไม่ได้มาตรฐานในลักษณะที่ทำให้การเปรียบเทียบทำได้ยาก[5]

เนื่องจากขาดความเห็นพ้องต้องกันว่าควรประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างไร จึงมีข้อกังวลว่าประเภทของคำถามและการใช้ถ้อยคำของคำถามอาจนำไปสู่ข้อผิดพลาดในการวัดผลและขัดขวางการเปรียบเทียบระหว่างการศึกษาและการวิเคราะห์รวม อย่างไรก็ตาม รายงานของอัลเลนและคณะ[4] สรุปว่าผลกระทบของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ตรวจพบโดยวิธีต่าง ๆ นั้นไม่ชัดเจน

ระดับของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์[แก้]

ผลการทดลองทางคลินิกมักรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในระดับ 3 และระดับ 4 เป็นส่วนใหญ่ โดยการกำหนดระดับของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ประกอบด้วย:[6]

  • ระดับ 1 เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับไม่รุนแรง
  • ระดับ 2 เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับปานกลาง
  • ระดับ 3 เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับรุนแรง
  • ระดับ 4 เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับที่คุกคามชีวิตหรือทำให้ทุพพลภาพ
  • ระดับ 5 การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ICH Good Clinical Practice Guideline ฉบับภาษาไทย (PDF). สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. กรกฎาคม 2000. ISBN 974-8044-95-5.
  2. Amalberti R, Benhamou D, Auroy Y, Degos L (มิถุนายน 2011). "Adverse events in medicine: easy to count, complicated to understand, and complex to prevent". Journal of Biomedical Informatics. Biomedical Complexity and Error. 44 (3): 390–4. doi:10.1016/j.jbi.2009.06.004. PMID 19615466.
  3. Weingart SN, Wilson RM, Gibberd RW, Harrison B (มีนาคม 2000). "Epidemiology of medical error". BMJ. 320 (7237): 774–7. doi:10.1136/bmj.320.7237.774. PMC 1117772. PMID 10720365.
  4. 4.0 4.1 Allen EN, Chandler CI, Mandimika N, Leisegang C, Barnes K (มกราคม 2018). "Eliciting adverse effects data from participants in clinical trials". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 1 (1): MR000039. doi:10.1002/14651858.mr000039.pub2. PMC 7098080. PMID 29372930.
  5. Adams-Phipps, Jupiter; Toomey, Danny; Więcek, Witold; และคณะ (11 ตุลาคม 2022). "A Systematic Review of Human Challenge Trials, Designs, and Safety". Clinical Infectious Diseases. doi:10.1093/cid/ciac820. PMID 36219704.
  6. Common Terminology Criteria for Adverse Events v3.0 (CTCAE) (PDF). Cancer Therapy Evaluation Program. Division of Cancer Treatment and Diagnosis, NCI. 9 สิงหาคม 2006 [31 มีนาคม 2003].

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]